xs
xsm
sm
md
lg

มนุษย์หุ้น 2.0 : Lie to Me

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ มนุษย์หุ้น 2.0
โดยชัยภัทร เนื่องคำมา
www.cway-investment.com

เพื่อนผมคนหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า การโกหกเป็นทักษะสำคัญในสังคมไปแล้ว โกหกเพื่อเอาตัวรอด, โกหกเพื่อทำให้คนรอบข้างสบายใจ, การโกหกเพื่อหาผลประโยชน์ส่วนตน หรือแม้กระทั่งการโกหกตัวเองเพื่อแลกกับความสบายใจเล็กๆ สิ่งเหล่านี้ก็มีให้เห็นมากมาย ผมลองมานั่งคิดดูก็เป็นจริง เพราะทุกวันนี้ถ้าเราต้องทำงานหรือเข้าสังคม ผมเชื่อเลยว่าไม่มากก็น้อยย่อมมีสถานการณ์ที่ให้เราต้องโกหกหรือเป็นฝ่ายถูกโกหกจากคนอื่น

พูดถึงเรื่องการโกหก เลยนำหนังซีรีส์ฝรั่งเรื่อง Lie to Me ซึ่งเกี่ยวกับการจับโกหก ในการสืบสวนสอบสวนคนร้ายหรือใช้ในทางธุรกิจ โดยมี Dr. Cal Lightman เป็นผู้เชื่ยวชาญด้านการจับโกหกแบบเป็นวิทยาศาสตร์ โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์หน้าตา ท่าทาง แบบที่เรียกว่า “microexpressions” เพื่อวิเคราะห์ไปถึงจิตใจ และความคิดของคนคนนั้น ประมาณว่าแค่ดูการตอบสนองจากหน้าและท่าทางที่มีต่อคำถามก็รู้แล้วโดยที่ไม่ต้องพูดออกมา

Dr. Cal Lightman นั้นไม่ได้ทำงานคนเดียว แต่เขามีเพื่อนร่วมงานและทีมงานที่สนับสนุนการวิเคราะห์ ทั้งจิตแพทย์ นักวิเคราะห์เสียง และนักวิเคราะห์ท่าทาง โดยเฉพาะการไขคดียากๆ ที่ตำรวจ CIA, FBI หรือแม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ในภาคธุรกิจที่ยังต้องมาขอคำปรึกษา (ผมชอบตอนที่เศรษฐีคนหนึ่งต้องการให้ Lightman Group พิสูจน์ว่าแฟนที่จะแต่งงานด้วยรักเขาจริงหรือเปล่า?)

Dr. Cal Lightman ก็สามารถขุดคุ้ยและวิเคราะห์ปมที่ปกปิดขึ้นมาได้ผ่านทางการสัมภาษณ์ การดูจากภาพถ่าย หรือกล้องวิดีโอ โดยนำการวิเคราะห์นั้นมาไขคดีความ ต่างๆ ได้อย่างมากมายจนเป็นที่ยอมรับ ส่วนตัวผมชอบสุดก็ตอนที่ Dr. Cal Lightman หาลำไพ่พิเศษด้วยการเล่น Poker เรียกว่าหลายกาสิโนในเวกัสต่างห้ามไม่ให้แกเข้าไปเล่นเพราะด้วยความสามารถพิเศษ นอกจากการจับโกหกแล้ว แกยังเป็นนักโกหกชั้นเซียน ซึ่งทำให้เขาสามารถโกยเงินล้านจากโต๊ะพนันกลับบ้านไปอย่างง่ายดาย

ดูเรื่องนี้จบ ตอนแรกผมนึกว่าเป็นเรื่องแต่ง แต่พอ Google ค้นดูพบว่าหลายอย่างนั้นอ้างอิงจากหลักวิทยาศาสตรจริงๆ ที่มีงานวิจัยยอมรับ แม้ว่าปัจจุบันยังไม่สามารถใช้ผลการทดสอบมาเป็นหลักฐานในศาลได้ แต่การจับโกหก หรือจับพิรุจทั้งจำเลยและพยานก็ช่วยนำไปสู่การสืบสวนที่ถูกทิศถูกทางได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น หลายหน่วยงานจึงได้มีการวิจัยและพัฒนาเทคนิคนี้กันอย่างกว้างขวาง และกูรูคนหนึ่งที่ได้รับการยอมรับ ก็คือ Dr. Paul Ekman จบปริญญาเอกด้าน clinical psychology และได้ทำวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาท่าทาง การอ่านการแสดงออกทางสีหน้า จนเป็นที่สนใจและนำไปใช้อย่างกว้างขวาง เรียกว่าน่าจะเป็น Dr. Cal Lightman ในโลกความเป็นจริงก็ว่าได้
Dr. Paul Ekman ปรมาจารย์ด้านการวิเคราะห์ อารมณ์จากสีหน้าท่าทาง
การโกหกล้วนเกิดหลังจากปฏิกิริยาตอบสนองอารมณ์ ตกอยู่ในสถานการณ์จำเป็น สมองสั่งการให้เอาตัวรอด ส่วนใหญ่มีเป้าหมายเหมือนๆ กันคือ เพื่อสร้างผลประโยชน์หรือข้อได้เปรียบเชิงบวกให้ปห่ตนเอง ในโลกการลงทุนเราก็จะพบกับการโกหก หรือการนำเสนอข้อเท็จจริงที่บิดเบือนหรือไม่ครบถ้วน ในรูปแบบการหาผลประโยชน์ต่างๆ โดยตรงและทางอ้อม ซึ่งใช้หลักการโกหกที่แนบเนียน คือการโกหกบนพื้นฐานความจริง เรียกว่าพูดความจริงครึ่งหนึ่งและพูดโกหกปนเข้าไปอีกครึ่งหนึ่ง ทำแบบนี้ยากที่จะจับโกหก โดยเฉพาะการที่มองไม่เห็นสีหน้าและท่าทาง

ยกตัวอย่างการเชียร์หุ้น ที่พบกันบ่อยๆ ในโลกออนไลน์ตามเว็บบอร์ดหรือเฟซบุ๊ห เช่น กรณีราคาหุ้น CVAA ตกลงรุนแรงต่อเนื่อง 30% มีทีท่าจะไปต่อไม่หยุด แต่ถ้ามีคนต้องการนำเสนอข้อมูลให้นักลงทุนเชื่อว่าหุ้นนี้ไม่มีปัญหา ให้มวลชนเข้ามาร่วมซื้อรับหุ้น เขาก็จะใช้การพูดแบบเนียนๆ ประมาณว่า

“หุ้น CVAA ผลประกอบการไตรมาสนี้ลดลง แต่ยังไม่น่ากังวลเพราะอีก 1 ไตรมาสที่เหลือเราเชื่อว่าจะดี ความต้องการใช้พลังงานปัจจุบันยังสูง บวกกับอนาคตบริษัทน่าจะมีนโยบายขยายกิจการไปยังประเทศเพื่อนบ้าน สัญญาณกราฟเทคนิคัลระยะสั้น 30 นาทีเกิด Divergence MACD ยกตัวตัดกัน ค่า RSI ต่ำกว่า 30 เข้าเขตขายมาก (Oversold) ประกอบกับ NDVR ยังบวก ผู้บริหารเข้าเก็บหุ้นต่อเนื่อง ” ถ้าลองแยกประโยคที่ดูน่าเชื่อถือออกมา จะพบว่า

- “หุ้น AAA ผลประกอบการไตรมาสนี้ลดลง” >> จริง เห็นกันชัดๆ

- “แต่ยังไม่น่ากังวลเพราะอีกไตรมาสที่เหลือเราเชื่อว่าจะดี” >> เท็จ เป็นข้อคิดเห็นเพราะเอาแน่นอนไม่ได้ รู้ได้ยังไงว่ามันจะดี

- “ความต้องการใช้พลังงาน ปัจจุบันยังสูง” >> จริง แต่คลุมเครือโลกเรายังไงก็ยังต้องการพลังงาน แต่พลังงานประเภทไหนอีกเรื่องหนึ่ง หรือความต้องการสูงในช่วงไหน เวลาไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง

- “อนาคตบริษัทน่าจะมีนโยบายขยายกิจการ” >> เท็จ เป็นข้อคิดเห็น ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะนโยบายเปลี่ยนแปลงได้เสมอและยังไม่เกิดไม่ปฏิบัติ

- “สัญญาณกราฟเทคนิคัลระยะสั้น (30 นาที) เกิด Divergence MACD ยกตัว" >> จริง แต่อธิบายไม่หมด เพราะกราฟ timeframe สั้น หุ้นเวลามันลงมันก็เด้งสลับอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าภาพใหญ่มันจะหยุดลง หรือกลับตัวขึ้น มาถึงตรงนี้นักลงทุนทั่วไปไม่รู้เทคนิคัล ไม่รู้ศัพท์ภาษาอังกฤษ แบบนี้เริ่มรู้สึกว่ามันยาก มันน่าเชื่อถือแล้ว

- “ค่า RSI ต่ำกว่า 30 เข้าเขตขายมาก” >> จริง แต่ไม่ได้แปลว่าราคามันจะไม่ลงต่อไปอีกไม่ได้

- “NDVR ยังบวก ผู้บริหารเข้าเก็บหุ้นต่อเนื่อง” >> จริง แต่เก็บไม่มากวันละ 1,000-2,000 หุ้น ไม่ได้มีนัยอะไรต่อทิศทางราคา

จะพบว่าประโยคข้างต้น เวลาที่สื่อออกมาประมาณว่าหุ้นไม่มีปัญหา ทุกอย่างยังดูดี แต่ราคามันก็ไหลตกลงต่อได้อีกมาก ถ้าเรามีอคติเลือกที่จะเชื่อว่าหุ้นนี้จะต้องขึ้นเป็นรากฐานแล้ว หรือเรามีหุ้นนี้อยู่ ติดดอยอยู่ สุดท้ายแล้วเราก็มักอยากจะเชื่อ จะคล้อยตาม และต้องการจะซื้อเพิ่ม อยากเก็บเพิ่ม

ประโยคเหล่านี้แม้จะไม่ได้สะท้อนความจริงโดยสมบูรณ์ ไม่บอกแสดงได้เลยว่าหุ้นนั้นจะขึ้น หรือหยุดลง แต่ข้อความประเภทนี้ก็ไม่ได้พูดเท็จหรือโกหกทั้งหมด ปะปนไปด้วยข้อเท็จจริง (Fact) ที่ไม่สมบูรณ์ และข้อคิดเห็น (Opinion) ของผู้สื่อสาร โดยมันทำหน้าที่เพียงการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ไปสู่มวลชน สร้างผลทางจิตวิทยาเพื่อให้เดินเกมไปตามรูปแบบที่อยากให้เป็น ซึ่งแน่นอนว่าต้องเกิดประโยชน์ต่อผู้ที่ใช้ผู้ที่พูด มากกว่าคนที่รับได้เสพข้อความนั้น ยิ่งเมื่อคนส่วนใหญ่จะเลือกเชื่อเพราะข้อความเหล่านี้มันก็มาเติมเต็ม สนับสนุนจิตใจและอารมณ์ของเราให้คล้อยตามในช่วงเวลานั้น

เพื่อให้เราอยู่รอดในตลาดหุ้นแบบปลอดภัยจากสิ่งเหล่านี้คงไม่ใช่ไปเรียนรู้การจับโกหก หรือนั่งกังวลในทุกสิ่ง แต่เราควรจะเรียนรู้ที่จะคิดอย่างมีสติก่อนเชื่อ แยกระหว่างข้อเท็จจริง และข้อคิดเห็นออกจากข้อมูลที่ได้มา ทำความเข้าใจในข้อมูล ควรตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับก่อนเสมอว่ามีข้อเท็จจริงมากน้อยเพียงไหน ที่สำคัญอย่าเสพข้อมูลข่าวสารจากแหล่งเดียวหรือก๊กเดียวกัน ควรเสพข้อมูลหลายแหล่งเพื่อเป็นการตรวจทานกันและกัน

ชีวิตจริง การระวังตัวหรือพยายามจับโกหกแบบเค้นหาความจริงจากทุกสิ่งตลอดเวลาก็อาจจะไม่ใช่เรื่องดีมากนัก ในซีรีส์ Lie to Me ชีวิตของ Dr. Cal Lightman คนที่จับโกหกเก่งก็ไม่ได้มีความสุขอะไร แถมทำให้คนรอบข้าง ครอบครัวพลอยเครียดไปด้วย เพราะบางครั้งการโกหกที่ไม่ร้ายแรง การไม่พูดความจริงทั้งหมด ก็อาจจะทำให้โลกนี้สวยงามขึ้น (ในช่วงเวลาสั้นๆ) ทำให้ความสัมพันธ์ยั่งยืนขึ้น แต่แน่นอนว่าการโกหกเพื่อเอาเปรียบผู้อื่น ที่สร้างความเสียหายให้ผู้อื่นเป็นสิ่งที่เราไม่ควรยอมรับ และไม่ควรกระทำ

สิ่งที่สามารถทำได้ดีที่สุด แม้เราจะจับโกหกไม่เก่ง คือ การเลือกที่จะเชื่ออย่างมีสติ ตามหลักพุทธศาสนาแบบกาลามสูตรกังขานิยฐาน 10 (อย่าเชื่อ 10 ประการ) อย่าเชื่อหรือไว้ใจ เพียงเพราะภาพลักษณ์ดูน่าเชื่อถือ เพียงเพราะเป็นคนเด่นคนดัง เพียงเพราะมีอำนาจ มีเงินทองมากมาย ภาพลักษณ์ภาพนอกมักปกปิดความคิด ความอ่าน จิตใจได้เสมอ

ดังนั้นเมื่อรับข้อมูลเข้ามา อย่าปล่อยให้มันเกิดเป็นอารมณ์ ต้องใช้สติกลั่นกรอง พิจารณาก่อนเสมอ ก่อนที่จะเชื่อ ก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรต่อไป ส่วนเรื่องการจับโกหกจากท่าทาง จากเสียงและการแสดงออกต่างๆ ถ้าใครสนใจลองเข้าไปศึกษางานของ Dr. Paul Ekman ดูได้ที่ลิงก์ด้านล่าง หรือซื้อหนังสือมาอ่านเพิ่มเติมได้ ของแบบนี้รู้ไว้ก็มีประโยชน์เช่นกันครับ

http://www.paulekman.com/

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


กำลังโหลดความคิดเห็น