นักวิเคราะห์กองทุนรวมประเมินตลาดหุ้นยังมีความเสี่ยงและความผันผวนจากปัจจัยลบ หนี้ยุโรป การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แม้ QE3 จะทำให้ดันสินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมแนะนักลงทุนติดตามสถานการณ์คงสัดส่วนการลงทุนไว้ตามเดิม
นายสานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล Fund SuperMart Analyst บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการลงทุนในตราสารหนี้ว่า ระยะสั้นจะยังคงเห็นราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวขึ้น แต่เรามองว่าการปรับขึ้นยังคงมีจำกัดและมีโอกาสผันผวนได้ทุกเมื่อ ดังนั้น มองในระยะยาวแล้วโอกาสที่จะได้เก็บสะสมกองทุนที่ลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงในราคาที่เหมาะสมยังมี ดังนั้น เรายังคงน้ำหนักการลงทุนในกองทุนตลาดเงินต่อไปอีกเดือน โดยเน้นถึงความปลอดภัยของเงินต้นเป็นหลัก สำหรับนักลงทุนที่ยังไม่ได้สับเปลี่ยนออกจากกองทุน SCBTMF ที่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายกองทุน เราแนะนำให้สับเปลี่ยนออกจาก SCBTMF ไปยังกองทุนตลาดเงินอื่นๆ ที่เราแนะนำ ได้แก่ PCASH, FAM VF และ SCBTMFPLUS (Class I)
ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นนั้นต้องยอมรับว่าการออกมาตรการ QE3 สร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดี ในระยะสั้นราคาสินทรัพย์เสี่ยงคาดว่าจะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เรายังคงต้องระมัดระวังปัจจัยเสี่ยงที่จะเข้ามากระทบ เช่น ปัญหาหนี้ยุโรป เศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนแอ และ Fiscal Cliff ที่ยิ่งเข้าใกล้ปลายปีเท่าไหร่ ยิ่งส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นหากปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดังนั้น ภาพความผันผวนของราคาสินทรัพย์เสี่ยงยังคงมีความเป็นไปได้ทุกเมื่อ แต่เรามองว่าเป็นโอกาสที่ดีในจังหวะนั้นที่เราจะได้สะสมกองทุนหุ้นตลาดเกิดใหม่ เพียงแต่ตอนนี้คงต้องรอจังหวะเหมาะสมอย่างอดทนต่อไป
ขณะเดียวกัน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ QE เพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคต และค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง ส่งผลโดยตรงต่อความต้องการทองคำ ทำให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา เรายังคงน้ำหนักสัดส่วนการลงทุนในกองทุนทองคำไว้ตามเดิม โดยมีกองทุนแนะนำเป็น TGoldBullion-H ของ บลจ.ธนชาต ที่มีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่ราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมาผันผวนหลังขึ้นทดสอบ $100 US/bbl (Nymex) ก่อนปรับตัวลดลง แนวโน้มระยะสั้นยังคงปรับตัวลดลง แต่เราคาดว่าในเดือนนี้น่าจะมีโอกาสเก็งกำไรสั้นๆ จากราคาที่ดิ่งลงมา
นายสานุพงศ์ กล่าวต่อว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางต่างๆ ถูกปล่อยออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง QE3 ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ดูท่าจะดำดิ่งลงต่อ จากตัวเลขเศรษฐกิจส่วนใหญ่ที่ยังชะลอตัวในยุโรป และจีน และแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะไม่ได้มีสัญญาณชะลอตัวชัดเจน แต่การจ้างงานของสหรัฐฯ ยังคงฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า ทั้งนี้ การที่มีมาตรการ QE3 ออกมาทำให้บรรยากาศการลงทุนตอนนี้ดูดีขึ้น และพร้อมจะปรับตัวขึ้นต่อหากมีปัจจัยบวกใหม่ๆ เข้ามา ทำให้ระยะสั้นเรามองว่า โอกาสที่จะได้เห็นราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวขึ้นต่อมีสูงขึ้น แต่อย่าเพิ่งคิดว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นผิดหูผิดตาตามไปด้วย เราได้เห็นแล้วว่ามาตรการแบบนี้ถูกส่งออกมา แต่เศรษฐกิจไม่ได้ดีขึ้นถึงระดับที่เรียกได้ว่ายั่งยืนแม้แต่น้อย ดังนั้น ความผันผวนที่เกิดจากปัจจัยเสี่ยงที่รออยู่ข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้ยุโรป หรือความกังวลต่อมาตรการลดภาษีที่กำลังจะหมดอายุลง และต้องเริ่มปรับลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ (Fiscal Cliff) จะเริ่มส่งผลมากขึ้นเรื่อยๆ