ทีคิวเอ็ม อินชัวร์รันส์โบรคเกอร์ ปรับกลยุทธ์ตั้งรีอินชัวรันส์เสริมทัพรับงานประกันภัยต่อ พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น ตั้งเป้าประเดิมปีแรกกวาดเบี้ย 10 ล้านบาท ส่วนปีนี้ทั้งปีมั่นใจเบี้ยรับรวมของบริษัทเข้าเป้า 6 พันล้านบาท พร้อมเดินหน้าออกสินค้าใหม่คุ้มครองน้ำท่วม-ภัยพิบัติ
นายอัญชลิน พรรณนิภา ประธานบริษัท ทีคิวเอ็ม อินชัวร์รันส์ โบรคเกอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทได้ทำการตั้งบริษัท ทีคิวอาร์ รีอินชัวร์รันส์ โบรคเกอร์ ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ในการเสริมทัพให้ทีคิวเอ็ม และให้การดำเนินงานของบริษัทเกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ให้บริการด้านประกันภัยต่อแก่บริษัทพันธมิตรประกันภัย และทำหน้าที่ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทีคิวเอ็ม เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าผู้บริโภคได้อย่างครบวงจร
สำหรับบริษัททีคิวอาร์มีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 5 ล้านบาท ชำระเต็ม มีทีคิวเอ็มถือหุ้น 70% ที่เหลืออีก 30% ทีมงานของทีคิวอาร์เป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งทีมงานของทีคิวอาร์ล้วนแล้วมีประสบการณ์จากการทำงานด้านประกันภัยต่อ หรือรีอินชัวรันส์มาแล้วทั้งนั้น จึงไม่มีปัญหา
“สถานการณ์ในยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก ความเสี่ยงในชีวิตมีมากกว่าเดิม ความเสี่ยงในการทำธุรกิจก็มากด้วยเช่นกัน ผมมองว่าโอกาสในการทำธุรกิจก็มีมากเช่นกัน จึงได้เป็นที่มาของการพัฒนาธุรกิจด้านการประกันภัยอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การตอบสนองความต้องการของลูกค้า ถือเป็นการทำธุรกิจที่ครบวงจร อีกทั้งยังเป็นการบริหารความเสี่ยงให้กับลูกค้าและพันธมิตรด้วย”
นางยุพเรศ พิริยะพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีคิวอาร์ รีอินชัวร์รันส์ โบรคเกอร์ จำกัด กล่าวว่า นโยบายหลักของทีคิวอาร์ คือคิดค้นผลิตภัณฑ์ให้ทีคิวเอ็ม และเป็นตัวกลางในการหาบริษัทรับประกันภัยต่อ หรือรีอินชัวเรอร์ให้บริษัทประกันภัย โดยอาศัยจุดแข็งที่ทีมงานมีประสบการณ์จากการทำงานด้านประกันภัยต่อ และรู้จักบริษัทรีอินชัวเรอร์เป็นอย่างดีไม่น้อยกว่า 10 ปี ณ ขณะนี้ได้มีการพูดคุยหารือกับรีอินชัวเรอร์แล้ว 10 ราย ซึ่งแต่ละบริษัทก็มีความถนัดและเชี่ยวชาญที่ต่างกัน สำหรับเป้าหมายในปีนี้ตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยต่อเอาไว้ที่ 10 ล้านบาท
“ทีคิวอาร์ไม่ได้รับรี ทีคิวอาร์เป็นตัวกลางส่งงานต่อระหว่างประกันภัยกับประกันภัยต่อ เพราะตามกฎหมายห้ามรับรีเอาไว้เอง สถานะของทีคิวอาร์เป็นเพียงรีอินชัวรันส์โบรกเกอร์ ไม่ใช่ผู้ที่รับรีโดยเฉพาะ ทีคิวอาร์ได้รับค่าบริหารจัดการหรือค่าธรรมเนียมในการเป็นตัวกลางประสานงานเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ต้องดำรงเงินกองทุนใดๆ ทั้งสิ้น ย้ำว่าหน้าที่หลักคือเป็นผู้หาประกันภัยต่อที่มีความมั่นคงสูงให้กับบริษัทประกันภัย”
ออกสินค้าใหม่ตอบโจทย์น้ำท่วม
นายอัญชลิน กล่าวอีกว่า จากความเสี่ยงภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่มากกว่าเดิม บวกกับเหตุการณ์น้ำท่วมในปลายปีที่ผ่านมา สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้หลายฝ่ายได้เร่งหามาตรการรับมือภัยพิบัติ รวมทั้งเหตุการณ์ทางการเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการความคุ้มครองในชีวิตและทรัพย์สินเพิ่ม ทีคิวเอ็มจึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค
ผลิตภัณฑ์แรกคือ “ประกันปลอบใจภัยพิบัติ” ร่วมกับไทยพาณิชย์สามัคคีประกันภัย ทิพยประกันภัย และวิริยะประกันภัย เป็นประกันอัคคีภัยบ้านอยู่อาศัยที่มีความแตกต่างคือ ขยายความคุ้มครองภัยด้านภัยพิบัติ โดยเฉพาะด้านน้ำเพิ่ม เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว ลมพายุ ไม่ว่ารัฐบาลจะประกาศเป็นภัยพิบัติหรือไม่ก็ตาม โดยให้ความคุ้มครองที่ช่วยแบ่งเบาภาระความเสียหายของผู้เอาประกันได้อย่างแน่นอน
เมื่อประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ รับทันทีค่าใช้จ่ายในการป้องกันชั่วคราวสูงสุด 10,000 บาท พร้อมความคุ้มครองไม่เข้าเกณฑ์กองทุนภัยพิบัติแต่กรมธรรม์จ่ายส่วนขาดให้เต็มจำนวนสูงสุด 500,000 บาท มีการจ่ายชดเชยค่าที่พักชั่วคราวให้อีกวันละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 30 วัน และยังแถมคุ้มครองภัยโจรกรรมให้อีก 100,000 บาท แม้ว่าไม่มีการประกาศเป็นเขตภัยพิบัติก็มีการปลอบใจภัยพิบัติให้ความคุ้มครองภัยน้ำท่วมสูงสุด 500,000 บาท อัคคีภัยสูงสุด 5 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ “ประกันภัยรถยนต์ประเภท1+คุ้มครองภัยก่อการร้าย” ให้ความคุ้มครองเต็มทุนประกันภัยสูงสุด 5,000,000 บาท จึงเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ใหม่ดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เบี้ยรับรวมปีนี้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 6,000 ล้านบาท ในครึ่งปีแรกบริษัทมียอดขายอยู่ที่ 3,200 ล้านบาท เกินเป้าหมายที่วางไว้ แบ่งเป็นประกันภัยรถยนต์ 78% วินาศภัยอื่นประมาณ 17% และประกันชีวิตประมาณ 5% มีจำนวนลูกค้าประมาณ 320,000 ราย