xs
xsm
sm
md
lg

ความผันผวนของราคา (Price Volatility)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ความผันผวนของราคาที่จะกล่าวในที่นี้หมายถึง ความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ที่กองทุนลงทุน โดยความผันผวนดังกล่าวเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากที่นักลงทุนควรจะพิจารณาให้เข้าใจก่อนที่จะตัดสินใจเข้าลงทุนในกองทุนรวมนั้นๆ โดยปกติแล้วเราจะมีความเข้าใจว่า ถ้ากองทุนไหนมีการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความผันผวนของราคาสูง จะเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น กองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หรือกองทุนที่ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนต่างประเทศที่ลงทุนในทองคำ (Gold ETF) แต่ในทางกลับกัน นักลงทุนเคยพิจารณาถึงเหตุผลบ้างหรือไม่ว่า เหตุผลใดที่ทำให้หลักทรัพย์เหล่านั้นมีความผันผวนของราคาที่สูง และความเสี่ยงที่เข้าใจว่าสูงนั้น คือความเสี่ยงด้านใด และสำคัญขนาดไหนต่อเงินที่นักลงทุนได้ลงทุนไป

การที่หลักทรัพย์ใดจะมีความผันผวนของราคาสูง ย่อมแสดงว่า หลักทรัพย์นั้นมีคุณภาพดี เช่น พันธบัตรรัฐบาล ซึ่งตามทฤษฎีถือว่าเป็นหลักทรัพย์ที่ไม่มีความเสี่ยง ซึ่งในที่นี้คือ เป็นหลักทรัพย์ที่ไม่มีความเสี่ยงทางด้านเครดิต ไม่มีความเสี่ยงทางด้านการผิดนัดชำระหนี้ จึงเป็นที่นิยมของนักลงทุนทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยทั่วไป ดังนั้นกองทุนต่างๆจึงสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีคุณภาพดีดังกล่าวได้โดยไม่มีข้อจำกัด หรือในกรณีของตราสารทุนหรือหุ้น หุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี จะเป็นหุ้นที่มีปริมาณการซื้อขายสูง เช่น หุ้นในกลุ่มพลังงาน หรือกลุ่มธนาคารพาณิชย์ หรือแม้แต่ทองคำ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก แม้แต่ธนาคารกลางของทุกประเทศก็สามารถลงทุนได้ โดยสามารถนับทองคำหรือพันธบัตรของประเทศบางประเทศ เช่น พันธบัตรของสหรํฐฯเป็นส่วนหนึ่งของทุนสำรองระหว่างประเทศได้จึงนับได้ว่า มีความเสี่ยงด้านเครดิตและการผิดนัดชำระหนี้ต่ำ (Credit Risk and Default Risk)

การที่หลักทรัพย์ใดจะมีความผันผวนของราคาสูง ย่อมแสดงว่า หลักทรัพย์นั้นมีสภาพคล่องสูง มีการซื้อขายตลอดเวลา ราคาที่ซื้อขายจึงสามารถสะท้อนได้ถึงความต้องการซื้อหรือขายได้ตลอดเวลา นักลงทุนสามารถทำการซื้อ หรือขายในกรณีที่ต้องการเงินได้ตลอดเวลา เวลาจะทำการซื้อขายก็ไม่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดอื่นๆ เช่น สัดส่วนในการถือครองของกองทุน

นอกจากนั้น การกำหนดมูลค่ายุติธรรม (Mark to Market) ก็สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะซื้อขายได้ในราคาที่มีความเหมาะสม เช่นสามารถทำการซื้อขายได้ในราคาที่สะท้อนถึงความต้องการซื้อหรือขายจริงตลอดเวลา จึงนับได้ว่า มีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องต่ำ (Liquidity Risk)

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า หลักทรัพย์ที่มีความผันผวนของราคาสูงจะมีความเสี่ยงสูงจริงหรือไม่ และการที่จะลดความเสี่ยงเหล่านี้ลงสามารถกระทำได้จริงหรือไม่ ความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดที่นักลงทุนควรจะคำนึงมากที่สุด คือ ความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ และความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ซึ่งในที่นี้จะเห็นได้ว่า กองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรจะไม่มีความเสี่ยงเหล่านี้อยู่เลย กองทุนที่ลงทุนในทองคำก็เป็นกองทุนที่ไม่มีความเสี่ยงเหล่านี้เช่นกันตราบใดที่ทองคำยังเป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนทั่วโลกต้องการ หรือกองทุนที่ลงทุนในตราสารทุนที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีภาพคล่องสูง โอกาสที่จะขาดทุนจึงมีความเป็นไปได้น้อย แต่กลับมีความเข้าใจที่อาจจะคลาดเคลื่อนไปว่าถ้าการลงทุนในหลักทรัพย์ใดที่มีความผันผวนของราคาที่สูง จะมีความเสี่ยงสูง แต่หารู้หรือไม่ว่าความเสี่ยงที่ว่านี้เป็นเพียงความเสี่ยงด้านราคา (Price Risk) เท่านั้น ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าวเป็นความเสี่ยงที่น่าจะมีความสำคัญน้อยกว่าความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงด้านผิดนัดชำระหนี้ และความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง

โดยถึงแม้ว่าความเสี่ยงนี้จะเป็นความเสี่ยงที่เรียกว่า Systematic Risk แต่ความเสี่ยงด้านราคาก็สามารถจำกัด หรือทำให้ลดลงได้ด้วยวิธีการหลายรูปแบบ เช่น การลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง (Diversification) การบริหารความเสี่ยงโดยการทำ Stress Test หรือ Back Testing การควบคุม Beta ของกองทุนหุ้นหรือแม้แต่การใช้ Market Timing ของผู้จัดการกองทุนในการลดความเสี่ยงด้านราคา นอกจากนี้ นักลงทุนยังสามารถลดความเสี่ยงด้านราคาได้ด้วยตนเอง โดยการเลือกเวลาที่จะลงทุนให้เหมาะสมกับความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ที่ลงทุนอยู่ในกองทุนนั้นๆ หรือเลือกพิจารณาระยะเวลาที่จะลงทุน (Investment Horizon) ของนักลงทุนเองให้เหมาะสมกับการลงทุนในกองทุนได้อีกทางหนึ่งด้วย

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ฟิลลิป จำกัด
http://www.phillipasset.co.th
โทรศัพท์ : 0-2635-3033


กำลังโหลดความคิดเห็น