xs
xsm
sm
md
lg

Oil Futures ตอนจบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดยดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ

ขั้นตอนง่ายๆ ในการซื้อขาย Oil Futures

1. เปิดบัญชีซื อขายอนุพันธ์กับโบรกเกอร์ โดยโบรกเกอร์ที่ให้บริการซื้อขาย Oil Futures นั้น จะเป็นโบรกเกอร์ประเภทที่สามารถให้บริการซื้อขายสินค้าทุกประเภทในตลาด TFEX อยู่แล้ว

2. วางเงินประกันก่อนการซื้อขาย ซึ่งเงินประกัน (Initial Margin) จะมีมูลค่าประมาณ 10-15% ของมูลค่าของสัญญา

3. ส่งคำสั่ง “ซื้อ” หรือ “ขาย” โดยสามารถทำได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ผ่านทางเจ้าหน้าที่การตลาดของโบรกเกอร์อนุพันธ์ หรือส่งค้าสั่งซื้อขายด้วยตนเองทางอินเทอร์เน็ตได้ทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือ

4. การตรวจสอบสถานะ เพราะการซื้อขาย Oil Futures จะต้องมีการคิดเงินกำไรขาดทุนทุกวัน (Daily Marked to Market) โดยผู้ลงทุนสามารถติดตามราคาที่ใช้ชำระราคาประจำวันได้จากทางเว็บไซต์ www.tfex.co.th หรือ ผ่านทางโบรกเกอร์อนุพันธ์ต่างๆ

5. การปิดสถานะ (Cash Settlement) เพื่อรับรู้ผลกำไรขาดทุนที่เกิดขึ้นนั้น สามารถทำได้ทันที หรืออาจเลือกถือไว้จนสัญญาครบกำหนดอายุตามความต้องการก็ได้

วางเงินประกันก่อนซื้อขาย รับรู้กำไรขาดทุนทุกสิ้นวัน

ก่อนที่จะมีการส่งคำสั่งซื้อขาย ผู้ลงทุนจะต้องวางเงินหลักประกันที่เรียกว่า “หลักประกันขั้นต้น (Initial Margin)” ไว้กับโบรกเกอร์อนุพันธ์ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 10-15% ของมูลค่าตามสัญญา โดยเมื่อผู้ลงทุนซื้อหรือขาย Oil Futures ไปแล้ว ในทุกๆ สิ้นวันทำการจะมีการคิดกำไรขาดทุนจากการซื้อขาย Oil Futures ในแต่ละวัน

 โดยโบรกเกอร์จะเทียบราคาที่ใช้ชำระราคา (Daily Settlement Price) ของวันนี้เทียบกับราคาที่ใช้ช้าระราคาของวันก่อนหน้า ซึงหากผู้ลงทุนได้กำไรในวันนี้เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า โบรกเกอร์จะโอนเงินส่วนกำไรของวันนี้เข้าไปในบัญชีเงินหลักประกันของผู้ลงทุน แต่หากผู้ลงทุนขาดทุนในวันนี้เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้าโบรกเกอร์จะโอนเงินส่วนขาดทุนออกจากบัญชีเงินหลักประกันเช่นกัน การคำนวณกำไรขาดทุนทุกสิ้นวันนี้เรียกว่า Mark to Market ซึ่งจะทำให้มีเงินเข้าออกจากบัญชีหลักประกันทุกวัน ในกรณีที่ผู้ลงทุนขาดทุนจนเงินในบัญชีหลักประกันลดต่ำกว่าระดับที่เรียกว่า “เงินหลักประกันรักษาสภาพ (Maintenance Margin)” โบรกเกอร์จะเรียกให้ผู้ลงทุนนำเงินหลักประกันมาวางเพิ่ม

โดยหากผู้ลงทุนไม่สามารถนำเงินประกันมาวางเพิ่มภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ โบรกเกอร์ก็จะปิดสถานะของ Oil Futures ที่ผู้ลงทุนถืออยู่ลงเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ลงทุนขาดทุนมากจนเกินไป กระบวนการ Mark to market นี้จะเริ่มตั้งแต่วันแรกที่ผู้ลงทุนเปิดสถานะซื้อ หรือ ขาย Oil Futures จนกระทั่งผู้ลงทุนปิดสถานะดังกล่าวลง ดังนั้น เมื่อซื้อขาย Oil Futures ไปแล้ว ผู้ลงทุนจึงต้องหมั่นติดตามการเคลื่อนไหวของราคาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การซื้อขายให้ทันท่วงทีตามการเคลื่อนไหวของตลาด

ปิดสัญญาได้ทันที ไม่ต้องรอวันสุดท้าย

เมื่อผู้ลงทุนมีการถือครอง Oil Futures ไม่ว่าจะเป็นด้านซื้อหรือด้านขาย หากผู้ลงทุนเห็นว่า ราคาOil Futures เปลี่ยนแปลงไปจนทำให้ได้กำไรในระดับที่พอใจแล้ว หรือทำให้ขาดทุนจนเกินกว่าระดับที่ยอมรับได้ ผู้ลงทุนสามารถปิดสัญญาเพื่อรับรู้กำไรหรือตัดขาดทุนได้ตลอดเวลาทำการซื้อขายของตลาดอนุพันธ์ โดยไม่ต้องรอจนถึงวันที่สัญญาครบกำหนดอายุ ผู้ลงทุนสามารถปิดสถานะของสัญญาด้วยการส่งคำสั่งซื้อหรือขายที่ตรงข้ามกับตอนแรกที่เข้ามาซื้อขายไว้ เช่น หากตอนแรกเคยซื้อ Oil Futures ไว้ ก็สามารถปิดสัญญาได้ด้วยการขาย Oil Futures ที่ครบกำหนดอายุในเดือนเดียวกับที่เคยซื้อไว้ หรือ ถ้าตอนแรกเคยขาย Oil Futures ไว้ ก็ปิดสัญญาด้วยการซื้อ Oil Futures ที่ครบกำหนดอายุเดือนเดียวกับที่เคยขายไว้ทั้งนี้ ข้อควรระวังในการปิดสถานะก่อนกำหนดคือ หากผู้ลงทุนปิดสัญญาโดยระบุเดือนที่สัญญาครบกำหนดไม่ตรงกับที่เคยเปิดสัญญาไว้หรือ จำนวนสัญญาไม่เท่ากับการซื้อขายครั้งแรก ก็อาจจะกลายเป็นการเพิ่มสัญญาใหม่แทนได้

ปัจจัยกำหนดราคา Oil Futures

ราคา Oil Futures ปรับเปลี่ยนขึ้นลงทุกวัน ตามการเปลี่ยนแปลงของความต้องการใช้น้ำมันดิบและปริมาณน้ำมันดิบที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนี้

1. ความต้องการใช้น้ำมันดิบ (Demand) อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงจาก

1.1 การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ เมื่อเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขยายตัว ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจะเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ความต้องการน้ำมันดิบและราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มตาม ในทางตรงกันข้าม ในภาวะเศรษฐกิจหดตัวหรือภาวะถดถอย กิจกรรมที่ต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจะลดลง ความต้องการน้ำมันดิบก็จะลดลง และทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงตามไปด้วย

1.2 สภาพภูมิอากาศ ความต้องการน้ำมันดิบอาจเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล เช่น ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งเป็นผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่ จะมีความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละประเภทแตกต่างกันไปตามฤดูกาล โดยในฤดูหนาว ความต้องการน้ำมันเพื่อสร้างความอบอุ่นจะสูงขึ้น โดยเฉพาะในปีที่อากาศหนาวเย็นรุนแรงกว่าปกติ ในขณะที่ช่วงฤดูร้อน ความต้องการน้ำมันกลับไม่ได้ลดลง แต่เปลี่ยนเป็นความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการท่องเที่ยวสัญจรไปในภูมิภาคต่างๆ แทน

2. อุปสงค์น้ำมันดิบ (Supply) ขึ้นกับปัจจัยดังนี้

2.1 ปริมาณการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก หรือ โอเปก (Organization of Petroleum Exporting Countries: OPEC) ซึ่งมีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง ทำให้สามารถควบคุมการผลิตของกลุ่มให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้ได้ ปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลกจึงมักจะปรับตามนโยบายที่กลุ่มโอเปกได้วางไว้

2.2 ปริมาณน้ำมันสำรองของประเทศผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา และประเทศในทวีปยุโรป โดยประเทศเหล่านี้จะท้าการเก็บสำรองน้ำมันไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางพลังงานภายในประเทศ โดยหากตัวเลขน้ำมันสำรองมีสูง ผู้ใช้น้ำมันและผู้ลงทุนก็จะไม่กังวลว่าปริมาณน้ำมันอาจจะตึงตัว ส่งผลให้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลงได้ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่มีผลต่อราคาน้ำมันดิบอีก ได้แก่ การสร้างแหล่งพลังงานทดแทนเพื่อลดความต้องการใช้งานน้ำมันดิบ ภาวะสงครามหรือความไม่สงบในประเทศผู้ผลิตน้ำมันซึ่งส่งผลต่อความต่อเนื่องในการผลิตน้ำมันดิบของประเทศนั้นๆ และระดับอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบ เช่น ประเทศไทยที่นำเข้าน้ำมันดิบในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ หากค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ก็จะทำให้ราคาน้ำมันดิบในรูปเงินบาทสูงขึ้น เป็นต้น

ที่มา เอกสารของตลาดอนุพันธ์ www.tfex.co.th


กำลังโหลดความคิดเห็น