โดย วรวรรณ ธาราภูมิ
และทีมจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง
• IMF ลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีหน้าลงจาก 4.1% เหลือ 3.9% หลังคาดว่าวิกฤตหนี้ยุโรปจะกดดันให้หลายประเทศในยูโรโซนเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ เช่น จีน และอินเดียจะชะลอลง ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจเชื่องช้าหรือไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นการขยายตัวได้ ขณะที่คาดว่าปีนี้เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวในอัตรา 3.5% หลังจากเยอรมนีและญี่ปุ่นขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้
• IMF แนะนำให้สหภาพยุโรปซื้อพันธบัตรของประเทศสมาชิกที่ย่ำแย่อย่างสเปนและอิตาลี หรือให้ความช่วยเหลือในรูปแบบอื่นๆ เพื่อลดต้นทุนการกู้ยืมให้อยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ เช่น การเริ่มโครงการซื้อพันธบัตรรอบใหม่ การใช้กองทุนช่วยเหลือของภูมิภาคเพื่อซื้อพันธบัตรหรือรับประกันการซื้อพันธบัตร
• มูดี้ส์ลดอันดับความน่าเชื่อถือธนาคารขนาดใหญ่ของอิตาลี (อินเทซา ซานเปาโล และยูนิเครดิต) ลงสู่ Baa2 จาก A3 โดยมีแนวโน้มเชิงลบ เนื่องจากมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่รัฐบาลจะผิดนัดชำระหนี้พันธบัตร และอาจไม่สนับสนุนทางการเงินแก่ธนาคารที่กำลังประสบปัญหา
• อัตราผลตอบแทนตั๋วเงินคลังของสเปนลดลงและความต้องการซื้อมีสูงขึ้น โดยผลประมูลตั๋วเงินคลังอายุ 12 เดือน วงเงิน 3.6 พันล้านยูโร (4.4 พันล้านดอลลาร์) มีอัตราดอกเบี้ยลดลงมาอยู่ที่ 3.9% จากเดิม 5.07% และตั๋วเงินคลังอายุ 18 เดือน วงเงิน 961 ล้านยูโร อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 4.24% จากเดิม 5.10% ขณะที่ความต้องการซื้อพันธบัตรอายุ 12 เดือนยังสูงกว่าที่จำหน่ายกว่า 2 เท่า และเกือบ 4 เท่าสำหรับพันธบัตรอายุ 18 เดือน
• ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในเยอรมนีเดือน ก.ค.ลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ติดลบ 19.6 จุด จากเดิมที่ติดลบ 16.9 จุดในเดือน มิ.ย. โดยเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 สะท้อนถึงความกังวลของนักลงทุนจากวิกฤตหนี้ยุโรป
• อัตราเงินเฟ้อของอังกฤษเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้น 2.4% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราต่ำสุดในรอบ 2 ปีครึ่ง หลังผลกระทบจากวิกฤตหนี้ยุโรปกดดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้คาดว่าธนาคารกลางอาจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการขยายวงเงินซื้อหลักทรัพย์อีก 50 พันล้านปอนด์ (78 พันล้านดอลลาร์) หลังแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อปรับลดลง
• FED แถลงต่อรัฐสภาว่า พร้อมจะผ่อนปรนทางด้านการเงินมากกว่านี้หากจำเป็น พร้อมชี้ว่า ความเสี่ยงที่มีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีมากขึ้น แม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังอ่อนตัวลงในช่วงครึ่งแรกของปีนี้
• การผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือน มิ.ย. หลังจากลดลง 0.2% ในเดือน พ.ค. โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของกลุ่มผู้ผลิตเครื่องจักรและรถยนต์
• สหรัฐฯ จะสอบสวน HSBC หลังพบว่าทำธุรกิจกับบริษัทที่เชื่อมโยงกลุ่มก่อการร้าย-ฝ่าฝืนมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน และประสบความล้มเหลวในการป้องกันการฟอกเงิน
• PIMCO (บริษัทจัดการกองทุนรวมที่มีพอร์ตลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก) เตือนว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเข้าใกล้ภาวะถดถอย หลังตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดบ่งชี้ถึงภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือน มิ.ย.ลดลง 0.5% โดยลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และยอดค้าปลีกที่ไม่รวมรถยนต์ลดลง 0.4%
• จีนจะเพิ่มงบลงทุนในอุตสาหกรรมรถไฟกว่า 448.3 พันล้านหยวน (70.3 พันล้านดอลลาร์) ในครึ่งปีหลังของปีนี้ เพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะเกิดสัญญาณบวกมากขึ้นในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า เป็นการยืนยันว่าจีนเริ่มใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริงแล้ว
• การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศของจีน (FDI) ในเดือน มิ.ย.ลดลง 6.9% เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกกดดันความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในจีน ทั้งนี้ มูลค่า FDI ที่ลดลงมาอยู่ที่ 12 พันล้านดอลลาร์ เป็นการลดลงมากที่สุดตั้งแต่เดือน ธ.ค.ปีที่ผ่านมา ขณะที่ในเดือนก่อนหน้าเพิ่มขึ้น 0.1% หลังจากที่ลดลงมาโดยตลอดใน 6 เดือนก่อนหน้า
• ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยกเลิกอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำที่ 0.1% สำหรับการซื้อพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 10 ปีที่มีอายุคงเหลือก่อนครบกำหนดน้อยกว่า 1 ปี เพื่อเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคนิค เนื่องจากทางเลือกของ BOJ ในการอัดฉีดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจนั้นเป็นไปอย่างจำกัด (ก่อนหน้านี้ BOJ ได้ยกเลิกอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำ 0.1% สำหรับการซื้อหลักทรัพย์ระยะสั้นไปแล้ว)
• เกาหลีใต้จะยังไม่ใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงขาลง การกระตุ้นเศรษฐกิจจึงอาจไม่ได้ผลมากนัก ทั้งนี้ GDP เกาหลีใต้ไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัว 2.8% ขณะที่ล่าสุดธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้ลดอัตราดอกเบี้ยจาก 3.25% ลงมาอยู่ที่ 3.00% ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบกว่า 3 ปี
• BOI รายงานว่า นักลงทุนต่างชาติยังให้ความสนใจลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น โดยใน 6 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่าเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ 2.78 แสนล้านบาท ขยายตัว 66.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจสูงสุดคือกลุ่มโลหะ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยมากสุดยังเป็น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย
• สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยรายงานว่า สินเชื่อเช่าซื้อขยายตัวสูงขึ้นตามธรรมชาติของอุตสาหกรรมยานยนต์ในขณะนี้ ซึ่งขัดแย้งกับที่ ธปท.กังวลต่อการเติบโตของสินเชื่อเช่าซื้อว่ามีการเร่งตัวขึ้นมากจนทำให้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
• ม.หอการค้าไทยลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงเหลือ 5.6% จากเดิม 5.9% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ การบริโภคในประเทศลดลง มีความไม่มั่นใจในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลกับการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งการเมืองยังไม่นิ่ง
Equity Market
• SET Index ปิดที่ระดับ 1,224.21 จุด เพิ่มขึ้น 9.96 จุด หรือ 0.82% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 29,126 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 640 ล้านบาท ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแรงคาดหวังของนักลงทุนส่วนใหญ่ที่รอฟังแถลงการของ FED ในช่วง 1-2 วันนี้ว่าจะส่งสัญญาณใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม (OE3) หรือไม่
Fixed Income Market
• รมว.คลังญี่ปุ่นเตือนนักเก็งกำไรค่าเงินว่า การปรับตัวขึ้นของเงินเยนไม่ได้สะท้อนปัจจัยพื้นฐานของญี่ปุ่น และรัฐบาลเตรียมแทรกแซงเพื่อยับยั้งการแข็งตัวของเงินเยนที่มากเกินไป หลังจากนักลงทุนคาดว่าเงินเยนจะแข็งขึ้นจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐฯ ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจชะลอการขยายตัว ราคาสินค้าส่งออกแพงขึ้น และส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของภาคธุรกิจได้
• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวลดลงในช่วงระหว่าง -0.07% ถึง 0.00% สำหรับวันนี้มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาล รุ่นอายุ 5.6 ปี วงเงินรวม 18,000 ล้านบาท