ทีมงานจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง
โดย เศรณี นาคธน
วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประเทศพัฒนาแล้วในฝั่งตะวันตก ได้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาในฝั่งตะวันออกหรือ Emerging Asia เช่น จีน อินเดีย ไทย ฯลฯ จากเดิมที่เน้นการเป็นผู้ผลิตและส่งออกเป็นหลัก มาเป็นพึ่งพาตัวเองมากขึ้น โดยการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงจากความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของคู่ค้าหลัก
การที่ผู้คนเชื่อว่า การได้ซื้อ ได้กิน ได้เลือก ได้มี และ ได้ใช้ ทำให้มีความสุขและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่งผลให้การบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงเฉพาะสินค้าที่เป็นปัจจัย 4 เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสินค้าไม่จำเป็นและสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ จนกระทั่งกลายเป็นกระแสที่เรียกว่า บริโภคนิยม หรือ Consumerism โดยมีปัจจัยที่ทำให้เกิดกระแสบริโภคนิยม ดังต่อไปนี้
•การเพิ่มขึ้นของรายได้และความมั่งคั่ง ส่งผลให้อำนาจซื้อของผู้บริโภคสูงขึ้น ทำให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค โดยให้ความสำคัญกับสินค้าฟุ่มเฟือยมากขึ้น เพื่อยกระดับมาตรฐานการดำรงชีวิต (standard of living)
•การขยายตัวทางเศรษฐกิจทำให้จำนวนประชากรชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น ซึ่งประชากรกลุ่มนี้มีความต้องการซื้อสินค้าและใช้บริการที่มีคุณภาพดี เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล อาหาร เครื่องดื่ม และการบันเทิง เป็นต้น
•การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต (lifestyle) และการกลายเป็นสังคมเมือง (Urbanization) เนื่องจากการซึมซับทางด้านวัฒนธรรมจากทางตะวันตกของผู้บริโภคในฝั่งตะวันออก การออกไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูง การเดินทางท่องเที่ยว หรือการใช้สินค้า Brand Name จึงเป็นสิ่งปกติที่พบเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน
•การพัฒนาทางด้านการเงิน โดยเฉพาะในเรื่องของสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต ทำให้การจับจ่ายใช้สอยเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น
•การพัฒนาของเทคโนโลยีทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายและเร็ว ดังนั้น ผู้บริโภคจึงเกิดพฤติกรรม “ช่างเลือก” คือ มีการเลือกสรรสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตนเองในระดับที่สามารถซื้อหาได้
ผลกระทบด้านบวกของ Consumerism ต่อเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่ การนำไปสู่การพัฒนาในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยี การผลิต ระบบสาธารณูปโภค การจ้างงาน รวมถึงช่วยส่งเสริมการแข่งขันในตลาด ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคในเรื่องคุณภาพสินค้าและรูปแบบของนวัตกรรม (Innovation) อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรระวังในสังคมรูปแบบ Consumerism ก็คือ การบริโภคแบบเกินตัว การใช้จ่ายที่มาจากการกู้ยืมเกินตัว รวมถึงการบริโภคเกินตัวจะส่งผลให้ระดับเงินออมในระบบเศรษฐกิจลดลงอันนำไปสู่ปัญหาช่องว่างระหว่างการออมและการลงทุน ทำให้เกิดความไม่สมดุลในระบบ และบั่นทอนความสามารถทางการผลิตได้ ทั้งนี้ ในการวางกลยุทธ์ระดับประเทศนั้น แต่ละประเทศต้องมีการวางแผนและการจัดการทรัพยากรที่ดีเพียงพอที่จะรองรับการเจริญเติบโตของการบริโภค
การบริโภคของกลุ่มประเทศ Emerging Asia นั้นเป็นที่จับตาของโลก เพราะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยทางด้านจำนวนประชากรที่มากกว่า 60% ของประชากรโลกและอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูง ทำให้เกิดชนชั้นกลางใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดการณ์ไว้ว่า 55% ของประชากรชั้นกลางใหม่ของโลกในอนาคตจะมาจาก Emerging Asia และภายใน 2 ปี ตลาดค้าปลีกของจีนจะมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ในขณะที่ผู้บริโภคทางฝั่งประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาและยุโรป ได้ลดการจับจ่ายใช้สอยลงจากปัญหาทางเศรษฐกิจและอัตราการเจริญเติบโตที่ต่ำ ส่งผลให้ผู้บริโภคในกลุ่มประเทศ Emerging Asia ก้าวขึ้นมาเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจโลก และเป็นที่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั่วโลกแทนที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วทางฝั่งตะวันตก
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการบริโภคของประชากรใน Emerging Market ได้แก่ เงินเฟ้อ ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและผลกระทบจากการดำเนินนโยบายในเชิงปริมาณ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากอเมริกาและยุโรป อันทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามายังตลาดกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในปีนี้แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อน่าจะผ่อนคลายลงจากราคาน้ำมันโลกที่ลดลง และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนกับอินเดีย
กระแส Consumerism ในกลุ่มประเทศ Emerging Asia คือโอกาสดีของนักลงทุนที่รู้จักเลือกลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบในเชิงบวกทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น กลุ่ม Modern Trade ค้าปลีก Branded Consumer Products การเดินทางและการท่องเที่ยว วัสดุก่อสร้าง ธนาคาร รวมถึงเลือกลงทุนในประเทศที่มีการเจริญเติบโตของประชากรและการบริโภคในระดับสูง
บลจ.บัวหลวง จึงมีมุมมองในเชิงบวกกับกระแสการลงทุนดังกล่าวมาโดยต่อเนื่อง และเชื่อว่า Consumerism ในกลุ่มประเทศ Emerging Asia ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น จึงทำให้เป็นแนวโน้มการลงทุนที่น่าสนใจที่นักลงทุนจะสามารถแสวงหาผลตอบแทนได้ต่อเนื่องอีกยาวนาน