xs
xsm
sm
md
lg

คาดวิกฤตกรีซยืดเยื้อ แนะชะลอลงทุนน้ำมัน-หุ้นต่างประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากwww.c-span.org
บลจ.กสิกรไทยคาดวิกฤตหนี้กรีซยังยืดเยื้อ กระทบตลาดลงทุนผันผวนเป็นระยะ แนะนักลงทุนระมัดระวังมากขึ้น เน้นลงทุนหุ้นกลุ่มพึ่งพาการบริโภคในประเทศเป็นหลัก แต่ชะลอลงทุนหุ้นต่างประเทศ-น้ำมันไว้ก่อน ระบุการลงทุนในตราสารหนี้กำหนดอายุโครงการเป็นอีกทางเลือกทีดี ล่าสุดส่ง 3 กองทุนใหม่ชูผลตอบแทนสูงสุด 3.45% ไว้พักเงินหนีความผันผวนของตลาด

นายประเสริฐ ขนบธรรมชัย รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)กสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า สถานการณ์การลงทุนโลกยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แม้สถานการณ์การเลือกตั้งในกรีซจะมีความคืบหน้าในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาจากการที่พรรคประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy) ซึ่งสนับสนุนนโยบายรัดเข็มขัด สามารถชนะการเลือกตั้งและคาดว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคที่ได้คะแนนอันดับ 3 ได้ในอีกไม่ช้า ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ว่ากรีซจะยังคงอยู่ในยูโรโซนต่อไป

บริษัทมองว่าปัญหาหนี้ยุโรปจะยังยืดเยื้อต่อไป และจะยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงต่อไปอีกเพราะกรีซยังต้องเร่งจัดตั้งรัฐบาลผสมและเข้าเจรจากับกลุ่มอียูเพื่อต่อรองในเงื่อนไขต่างๆ ของมาตรการรัดเข็มขัด นอกจากนั้นยุโรปยังมีปัญหาเงินกองทุนที่เกิดกับธนาคารในสเปน และปัญหาหนี้ในอิตาลีที่ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของทั้ง 2 ประเทศปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

ทั้งนี้ เครื่องมือช่วยเหลือทางการเงินที่ยุโรปจัดตั้งขึ้นทั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF) และกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (ESM) ซึ่งมีเม็ดเงินรวมกันกว่า 5.5 แสนล้านยูโรนั้น ปัจจุบันลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 2.6 แสนล้านยูโรหลังจากใช้อัดฉีดช่วยเหลือไอร์แลนด์ โปรตุเกส และกรีซ ซึ่งไม่เพียงพอที่จะรับมือกับปัญหาและต้องเร่งระดมเงินทุนเพิ่มเติมโดยจัดตั้งโครงการช่วยเหลืออย่างถาวรต่อไป จึงเชื่อได้ว่าวิกฤตหนี้ยุโรปจะต้องใช้เวลาอีกมากพอสมควรสำหรับการเยียวยา และจะยังคงส่งผลให้ตลาดผันผวนเป็นระยะๆ จากความกังวลสลับกับความคาดหวังของนักลงทุนที่จะมีต่อกลุ่มอียูเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

นายประเสริฐกล่าวอีกว่า จากสถานการณ์ข้างต้น บริษัทยังดำเนินนโยบายการลงทุนแบบระมัดระวังแม้จะมีมุมมองที่เป็นบวกต่อตลาดหุ้นไทย โดยยังคงประมาณการดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นปีอยู่ที่ 1,250-1,300 จุด แต่เพราะปัจจัยความเสี่ยงจากภายนอกประเทศที่มีอยู่ในระดับสูง เราจึงยังเน้นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นกลุ่ม Defensive และกลุ่มที่พึ่งพาการเติบโตในประเทศ เช่น กลุ่มธนาคาร และโทรคมนาคม เป็นต้น

สำหรับคำแนะนำต่อผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้สูงอาจทยอยเข้าลงทุนในหุ้นไทยเมื่อตลาดปรับตัวลง แต่ควรชะลอการลงทุนในหุ้นต่างประเทศหรือกองทุนรวมน้ำมันในระยะสั้นออกไปก่อน โดยควรรอให้วิกฤตในยุโรปมีการแก้ไขปัญหาที่คืบหน้าอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ประเภทกำหนดอายุโครงการ ยังคงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในสภาวะตลาดที่ยังคงผันผวนสูงสำหรับผู้ลงทุนทุกประเภท ซึ่งในสัปดาห์นี้ บลจ.กสิกรไทยจะเสนอขายกองทุนตราสารหนี้ประเภทกำหนดอายุโครงการจำนวน 4 กองทุน โดยในวันที่ 18-25 มิถุนายน 2555 จะเปิดขายกองทุนเปิดเค คุ้มครองเงินต้น ตราสารหนี้ไทย 3 เดือน เอพี (KPPTF3MAP) เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย ประมาณการอัตราผลตอบแทน 2.70% ต่อปี

ในวันที่ 20-25 มิถุนายน 2555 จะเปิดขายกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศอีก 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ 3 เดือน บีบี (KFI3MBB) กองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ต่างประเทศ 6 เดือน ที (KFF6MT) และกองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ต่างประเทศ 9 เดือน เอ (KFF9MA) โอกาสรับผลตอบแทน 3.00% ต่อปี, 3.25% ต่อปี และ 3.45% ต่อปีตามลำดับ โดยทั้ง 3 กองทุนมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน

สำหรับกองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ 3 เดือน บีบี (KFI3MBB) เน้นลงทุนในตั๋วแลกเงิน บริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) ตราสารหนี้ Banco BTG Pactual S.A. ประเทศบราซิล เงินฝาก Standard Chartered, สาขาฮ่องกง และเงินฝาก Commercial Bank of Qatar, ประเทศกาตาร์ และพันธบัตรรัฐบาลไทย

ด้านกองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ต่างประเทศ 6 เดือน ที (KFF6MT) ลงทุนในตั๋วแลกเงิน บริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) ตราสารหนี้ Banco Bradesco และตราสารหนี้ Banco BTG Pactual S.A. ประเทศบราซิล เงินฝาก Standard Chartered, สาขาฮ่องกง และเงินฝาก Commercial Bank of Qatar, ประเทศกาตาร์

ส่วนกองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ต่างประเทศ 9 เดือน เอ (KFF9MA) จะลงทุนในตราสารหนี้ Banco Bradesco, ตราสารหนี้ Banco Itau BBA S.A. ,และตราสารหนี้ Banco BTG Pactual S.A. ประเทศบราซิล ร่วมด้วยเงินฝาก Standard Chartered, สาขาฮ่องกง และเงินฝาก Commercial Bank of Qatar, ประเทศกาตาร์
กำลังโหลดความคิดเห็น