xs
xsm
sm
md
lg

7 เรื่องที่ไม่ควรพูด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
เป็นที่ทราบดีว่าการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ ความสำเร็จและความล้มเหลวหลายอย่างเกิดมาจาก“การสื่อสาร”

เมื่อคราวน้ำท่วมที่ผ่านมา ความสับสนทั้งหลายส่วนหนึ่งมาจากการสื่อสาร วลีเด็ดอย่าง “เอาอยู่”ก็เป็นตัวอย่างของการสื่อสาร ข้าวของแพงนายกฯ บอกว่า “ประชาชนคิดไปเอง” แล้วออกมาแก้ข่าวว่าไม่ได้หมายความอย่างนั้น ก็เป็นปัญหาของการสื่อสาร ล่าสุดกรรมการผู้จัดการใหญ่ขององค์รแห่งหนึ่งถูกกรรมการบริษัทปลดออกจนเป็นข่าวเกลียวกลาว ปัจจัยหนึ่งที่นำมากล่าวอ้างเป็นเหตุผลก็คือการสื่อสาร(ระหว่างผู้จัดการใหญ่กับบอร์ด)

ดังนั้นการสื่อสารให้ดี ... ไม่ง่าย!

การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วยปัจจัยด้านปริมาณและด้านคุณภาพ

ในแง่ปริมาณ เราจะพบว่าคนบางคนพูดมาก คนบางคนพูดน้อย คนบางคนโชคดีหน่อยพูดพอดีๆแต่คนพูดมากไม่ได้แปลว่าพูดดีมีคุณภาพ ในขณะที่คนพูดน้อยก็ไม่จำเป็นต้องพูดอย่างไม่มีคุณภาพเสมอไป คนพูดมากอาจพูดแต่เรื่องที่ไม่ควรพูด ในขณะที่คนพูดน้อยอาจพูดแต่เนื้อๆ ก็เป็นได้

ดังนั้นวันนี้มามองต่างมุม แทนที่จะบอกว่าเรื่องใดควรพูด เรามาคุยกันว่าเรื่องใด “ไม่ควรพูด” น่าจะดีกว่า เพราะเรื่องที่ควรพูดมีคนบอกไว้เยอะแล้ว

1) เรื่องที่เป็นความลับคนที่เล่าตั้งใจจะบอกคุณคนเดียวเท่านั้น - ปัญหาที่มักเกิดขึ้นคือคนทุกคนมีเพื่อนสนิทสักคนสองคน หากใครสักคนเล่าอะไรให้ใครฟังแล้วบอกว่า “ลับที่สุด” คนที่รับฟังก็อดไม่ได้ที่จะเล่าต่อให้คนที่สนิทที่สุดฟังอีกคนแล้วกำชับว่า “ลับสุดยอด” คนที่รับฟังก็ไปเล่าต่อให้คนที่สนิทที่สุดอีกคนแบบนี้เรื่อยไป

2) เรื่องที่ผู้ฟังอาจเข้าใจได้ยาก เช่นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ ความคิด ทฤษฎีและปรัชญาต่างๆ โดยเฉพาะหากผู้ฟังมีความไม่เชื่อเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

3) เรื่องที่ไม่มีเวลามากพอจะอธิบาย โดยเฉพาะประเด็นที่ละเอียดอ่อนและอาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดหรือความขัดแย้ง เช่นเรื่องที่เกี่ยวข้องพฤติกรรมหรือทัศนคติบางอย่างที่ต้องอาศัยเวลาในการทำความเข้าใจ เก็บเอาไว้เมื่อมีเวลามากพอจึงค่อยหาทางพูดกันน่าจะดีกว่า

4) เรื่องที่เป็นข่าวลือหรือการซุบซิบนินทา - จงอย่าเป็นคนเริ่มเรื่องหรือขยายความต่อ เพราะนอกจากจะไม่มีประโยชน์อันใดแล้ว ยังอาจเป็นโทษให้ถูกเพ่งเล็งจากองค์กรและผู้คนรอบข้างได้อีกด้วย

5) เรื่องนโยบายหรือกฎเกณฑ์บางอย่างที่ไม่เห็นด้วย - ในการทำงานต้องเข้าใจว่าบางอย่างก็อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา นโยบาย กฎกติกาบางอย่างที่องค์กรหรือหัวหน้ากำหนด ก็อาจเป็นสิ่งที่เราไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด การงดไม่พูดถึงสิ่งที่ไม่เห็นด้วยในที่นี้หมายถึงการไม่นำความไม่เห็นด้วยไปโพนทนาทั่วไป ภาษาอังกฤษเรียกว่า Bad Mouth แปลว่า “ปากเสีย”...แบบนี้ไม่ดี

6) เรื่องที่เกี่ยวข้องกับความไม่ดีของคนอื่น ฝรั่งมีคำพูดว่า ‘If you can’t say anything goodabout someone, don’t say anything.’ แปลความหมายได้ว่า “ถ้าไม่มีอะไรดี ๆ ที่จะพูดเกี่ยวกับใครคนหนึ่ง อย่าพูดเสียเลยจะดีกว่า” เพราะคนทุกคนมีข้อดีและข้อไม่ดี มองหาสิ่งที่ดีๆ มาพูดกัน สังคมและองค์กรจะน่าอยู่มากขึ้น

7) เรื่องส่วนตัวของคนอื่น - ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเรื่อง “ส่วนตัว” ดังนั้นเจ้าตัวคงไม่ต้องการให้ใครมาวุ่นวายเช่นกัน เช่นเรื่องเงินเดือน สถานภาพทางครอบครัว ฐานะทางการเงิน หรือปัญหาสุขภาพ เป็นต้น คนบางคนไม่ชอบให้ใครนำเรื่องส่วนตัวของเขาไปพูด แม้เราจะคิดว่าหวังดีก็ตาม หากเขาอยากพูดให้เขาพูดเอง

 หากเราทุกคนช่วยกัน “ลด ละ เลิก” ประเด็น 7 อย่างที่ไม่ควรนำมาพูดได้ ทีมงาน องค์กร สังคมและประเทศชาติ ก็คงจะน่าอยู่กว่านี้ขึ้นอีกเยอะ ความขัดแย้งที่ทำท่าจะก่อตัวขึ้น ก็คงค่อยๆ “ฝ่อ” ไปฝากไว้ให้ช่วยกันครับ

โดยอภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
กรรมการบริหาร
บริษัท ออคิด สลิงชอท จำกัด
apiwut@riverorchid.ocm
www.orchidslingshot.com
ติดตามเกร็ดการบริหารเพิ่มเติมได้ที่ twitter@apiwutp
www.facebook.com/OrchidSlingshot
กำลังโหลดความคิดเห็น