xs
xsm
sm
md
lg

ข้อควรคิดของการบริหารพอร์ตตราสารหนี้แบบ Passive Investment

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์Money Guru
โดยจริยา พิมลไพบูลย์
ผู้จัดการกองทุน ฝ่ายตราสารหนี้
Chariya_p@mfcfund.com

ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกแช่ตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเป็นประวัติการณ์ การหาสินทรัพย์ปลอดความเสี่ยงหรือสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำมาลงทุนเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง ในขณะเดียวกันสินทรัพย์ที่บรรดานักลงทุนเข้าใจมาตลอดว่าความเสี่ยงต่ำอย่างตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลประเทศต่างๆ (Sovereign Bond) ก็กำลังกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขั้นต้นอาจเป็นผลให้เกิดจุดบกพร่องกับนโยบายบริหารพอร์ตลงทุนตราสารหนี้แบบเชิงรับ (Passive Investment)

ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา การบริหารพอร์ตตราสารหนี้อย่างง่ายและสะดวกที่สุดคือ การบริหารพอร์ตลงทุนตราสารหนี้แบบเชิงรับ (Passive Investment) เป็นการวางแผนการลงทุนให้มีสัดส่วนที่สอดคล้องกับองค์ประกอบของดัชนีอ้างอิง (Benchmark) ซึ่งดัชนีอ้างอิงที่กองทุนตราสารหนี้ที่เน้นกระจายลงทุนตราสารหนี้ทั่วโลกนิยมใช้ก็คือ Barclays Capital Global Aggregate Index อย่างไรก็ตาม หลังจากวิกฤตหนี้สาธารณะยุโรปเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2552 จึงมีประเด็นที่น่าขบคิดว่าการบริหารพอร์ตตราสารหนี้ในรูปแบบดั้งเดิม (Traditional Style) ที่เน้นการลงทุนแบบเชิงรับอาจมีจุดบอดบางประการ

จุดบกพร่องของการบริหารพอร์ตลงทุนตราสารหนี้แบบเชิงรับ (Passive Investment) เกิดจาก ดัชนีอ้างอิง (Benchmark) ที่เลือกใช้ส่วนใหญ่มักถูกสร้างหรือคำนวณโดยวิธีสัดส่วนมูลค่าตลาด (Market-Cap Weighted) ด้วยวิธีดังกล่าวอาจถูกตีความได้ว่าประเทศใดหรือบริษัทใดก็ตามที่ออกตราสารหนี้หรือหุ้นกู้มากที่สุด ก็มักจะมีสัดส่วนในดัชนีอ้างอิงมากที่สุดด้วยเช่นกัน ในทางกลับกันหากประเทศใดหรือบริษัทใดๆที่มีการออกตราสารหนี้น้อยหรือกู้น้อยก็จะมีสัดส่วนในดัชนีอ้างอิงดังกล่าวน้อยลงมาด้วย ดังนั้นกองทุนที่เน้นการบริหารรูปแบบเชิงรับก็จะมีสัดส่วนการถือครองตราสารหนี้ไม่แตกต่างกับดัชนีอ้างอิงเท่าไรมากนัก

ประเทศญี่ปุ่น ถือว่าเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ เพราะตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลประเทศดังกล่าว กินสัดส่วนใน Barclays Capital Global Aggregate Index กว่าร้อยละ 20 หรือมากกว่า 1 ใน 5 ของดัชนีอ้างอิง สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะหลังจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและเงินฝืดเกิดขึ้นในญี่ปุ่นต่อเนื่องและยาวนานตั้งแต่ต้นยุคปี 90 ประเทศนี้ถือเป็นประเทศหนึ่งที่จำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษคือ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับใกล้ร้อยละ 0 และนโยบายการคลังแบบขาดดุลการคลังมาอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเรื่องปกติที่ญี่ปุ่นจำเป็นต้องกู้เงินผ่านตลาดพันธบัตรเป็นจำนวนมาก หากนักลงทุนใดยอมรับที่จะลงทุนตามดัชนีอ้างอิงนั่นแปลว่ายอมรับการติดลบของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Negative Real Interest rate) จากการลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีดอกเบี้ยหน้าตั๋วหรืออัตราคูปองในระดับที่ต่ำมากตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบายประเทศญี่ปุ่นเอง หรือภายใต้แนวคิดนี้ก็อาจตีความได้ว่านักลงทุนเลือกที่จะยอมรับการลงทุนในบรรดาประเทศในสหภาพยุโรปที่ต่างมีปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะ เช่น สเปน อิตาลี โปรตุเกส ไอร์แลนด์ และกรีซ ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีสัดส่วนค่อนข้างมากในดัชนีอ้างอิงตราสารหนี้ด้วยเช่นกัน

สาเหตุของข้อบกพร่องประการถัดมาที่เกิดจากดัชนีอ้างอิง (Benchmark) คือ Index Drift กล่าวคือ นักลงทุนเลือกดัชนีชี้วัดเพราะ ณ ขณะนั้นดัชนีชี้วัดมีคุณสมบัติ (Characteristics) ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การลงทุนของนักลงทุน แต่ในความเป็นจริงนั้นคุณสมบัติของดัชนีอ้างอิงสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

ในขณะที่วัตถุประสงค์การลงทุนมักไม่ค่อยมีการปรับเปลี่ยนบ่อย ฉะนั้นดัชนีชี้วัดหนึ่งที่เคยสอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุนในช่วงเวลาหนึ่ง ก็อาจเป็นตัวชี้วัดไม่ดีได้ในอนาคตเมื่อคุณสมบัติของตัวชี้วัดเปลี่ยนแปลงไป ยกตัวอย่างเช่น นักลงทุนเลือกใช้ Index A เป็น Benchmark ซึ่งมี Duration อยู่ประมาณ 3.0 ปี ซึ่งสอดคล้องกับ Investment Horizon ของนักลงทุน แต่เวลาผ่านไป 3 เดือน Benchmark อาจมี Duration เพิ่มเป็น 5.0 ปีได้ หากระหว่างนั้นมีการเพิ่มตราสารใหม่ๆเข้าสู่ดัชนีชี้วัด ฉะนั้น Index A ที่เคยเป็น Benchmark ที่เหมาะสม ก็อาจจะไม่เหมาะสมอีกต่อไป เมื่อ Benchmark Duration ไม่สอดคล้องกับ Investment Horizon ที่มีของนักลงทุน เป็นต้น

จากจุดบกพร่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น นักลงทุนสามารถลดโอกาสการเกิดปัญหาดังกล่าวด้วย การถอยห่างจากวิธีบริหารพอร์ตตราสารหนี้แบบดั้งเดิมที่เน้นลงทุนตามสัดส่วนตัวชี้วัด แล้วเปลี่ยนเป็นวิธีเลือกลงทุนในตราสารหนี้ด้วยกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมายการลงทุนของนักลงทุนอย่างแท้จริง 

ความคิดเห็นและข้อความต่างๆ ในบทความนี้เป็นทัศนะของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น