บลจ.เอ็มเอฟซี ต่อยอดกองทุนทาร์เก็ตฟันด์ หลังผลงานกองทุนในพอร์ตเข้าเป้า ล่าสุด โยกลุยหุ้นแดนมะกัน เปิดขาย "เอ็มเอฟซี อินเตอร์เนชั่นแนล ยู เอส 7 ซีรี่ส์ 1" หวังผลตอบแทน 7% ใน 10 เดือน มั่นใจไปตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐ ด้านบลจ.ไทยพาณิชย์ โชว์ผลงานทาร์เก็ตฟันด์ถึงเป้าหมาย 10%
นางสาวประภา ปูรณโชติ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เอ็มเอฟซีอยู่ระหว่างการเสนอขายกองทุนเปิดเอ็มเอฟซี อินเตอร์เนชั่นแนล ยู เอส 7 ซีรี่ส์ 1 หรือกองทุนเปิด I-US7S1 ที่ลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยหวังสร้างโอกาสผลตอบแทนไม่น้อยกว่าร้อยละ 7 ภายใน 10 เดือน จากจังหวะเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยกองทุนดังกล่าว มีการบริหารกองทุนแบบ Active เน้นลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง เช่น ETF ซึ่งผู้จัดการกองทุนสามารถปรับพอร์ตการลงทุนตามสภาวการณ์ตลาดได้ทันท่วงทีทั้งตราสารทุนและตราสารหนี้ และมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศตามสภาวการณ์ และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารพอร์ตการลงทุนโดยลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการต่อยอดการลงทุนของผู้สนใจลงทุนในทาร์เก็ตฟันด์อย่างต่อเนื่อง จากที่เดือนกุมภาพันธ์นี้ ทาร์เก็ตฟันด์ของเอ็มเอฟซีได้ผลตอบแทนตามเป้าหมายถึง 2 กองทุนรวด คือ กองทุนเปิด I-US10 ที่มีผลตอบแทนร้อยละ 10 และกองทุนเปิดสปอท 7 ที่มีผลตอบแทนร้อยละ 7
นางสาวประภากล่าวว่า ถือเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุนในสหรัฐอเมริกา จากการที่เศรษฐกิจสหรัฐรักษาระดับการฟื้นตัวได้ดี จากปัจจัยสนับสนุนคือการจ้างงานที่ต่อเนื่องจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ธนาคารกลางสหรัฐดำเนินนโยบายรักษาระดับดอกเบี้ยต่ำและสภาพคล่องในระบบการเงินในระดับสูง ซึ่งเป็นการกระตุ้นการลงทุนตลาดทุน ในขณะที่การประเมินมูลค่าหุ้นของสหรัฐยังอยู่ในระดับน่าสนใจเมื่อเปรียบเทียบกับอดีต นอกจากนี้ผลประกอบการของบริษัทในสหรัฐมีผลกำไรที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่สัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนยังอยู่ในระดับต่ำและมีแนวโน้มว่านักลงทุนจะเข้ามาลงทุนในตราสารทุนมากขึ้นในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำและนักลงทุนมีความมั่นใจดีขึ้น จากปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวได้ต่อเนื่องดังกล่าว จึงเป็นจังหวะที่ดีในการลงทุนเพื่อโอกาสการสร้างผลตอบแทนของกองทุนเปิด I-US7S1
สำหรับกองทุนเปิด I-US7S1 จะสามารถเลิกโครงการได้เมื่อมูลค่าหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10.85 บาทเป็นเวลา 5 วันทำการติดต่อกัน หรือ เมื่อมูลค่าหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10.85 บาท และทรัพย์สินของกองทุนเป็นเงินสดหรือเทียบเท่าเงินสดทั้งหมดในสกุลเงินบาท ณ วันทำการใด และตั้งเป้าหมายผลตอบแทนคืนให้ผู้ถือหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10.70 บาทต่อหน่วยลงทุน โดยบริษัทจะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติและสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนไปยังกองทุนเปิดเอ็มเอฟซี พันธบัตรตลาดเงิน (MM-GOV) เพื่อสนับสนุนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง แต่หากเกิน 10 เดือน กองทุนจะเปิดให้ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถซื้อหน่วยลงทุนได้ทุกวันทำการ และขายคืนได้ในวันทำการสุดท้ายของสัปดาห์ และกองทุนยังคงตั้งเป้าหมายผลตอบแทนร้อยละ 7 ต่อไป
กองทุนเปิด I-US7S1 เป็นกองทุนรวมผสมแบบไม่กำหนดสัดส่วนในตราสารทุน เหมาะสำหรับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับสูง เสนอขายหน่วยลงทุนวันที่ 23 กุมภาพันธ์-6 มีนาคม 2555โดยสามารถลงทุนขั้นต่ำได้ตั้งแต่ 10,000 บาท
**SCBAMโชว์ผลงานกองทุนเข้าเป้า10%**
นางโชติกา สวนานนท์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการบริหารพอร์ตกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ทริกเกอร์ 10% ฟันด์ 1 (SCBTG10-1) ซึ่งสามารถบริหารจัดการลงทุนและได้รับผลตอบแทนตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10% ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 มูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนประมาณ 11.1178 บาท/หน่วย เป็นไปตามเงื่อนไขเลิกกองทุนก่อนครบกำหนดอายุโครงการดังกล่าว โดยกองทุนจะทำการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2555 และได้รับเงินภายในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555
ทั้งนี้กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ทริกเกอร์ 10% ฟันด์ 1 มีกลยุทธ์การบริหารกองทุนที่เน้นเชิงรุกโดยจัดสรรน้ำหนักการลงทุนและการคัดสรรหุ้น (Active and focus) เพื่อลงทุนในหุ้นพื้นฐานดีมีการเติบโตสูง ราคาไม่แพงเกินไป และได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการบริโภคในประเทศ อาทิ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ และพลังงาน เป็นต้น โดยผู้จัดการกองทุนจะคอยจับจังหวะการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามเป้าหมาย นอกจากนี้ยังมีปรับน้ำหนักการลงทุนและเงินสดให้สอดคล้องกับสภาวะการลงทุนในแต่ละขณะ และอาจใช้ SET50 Index futures เพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะตลาดขาลง
สำหรับภาพรวมของตลาดหุ้นไทยปีนี้ นางโชติกากล่าวว่า ทิศทางตลาดยังคงเป็นขาขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักจากการบริโภคและการลงทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน เมื่อประกอบกับการได้รับประโยชน์จากลดอัตราภาษีนิติบุคคลที่ลดลง ทำให้หลายบริษัทยังคงมีอัตราการเติบโตในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการแก้ไขปัญหาหนี้สินในประเทศยุโรปเริ่มคลี่คลาย และตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่ปรับตัวดีขึ้น