เป็นเรื่องที่ขับเขี่ยวกันพอสมควร ระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล กับคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง. ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่มีความเห็นเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่างกัน ซึ่งที่ผ่านมาทางรัฐบาลมองว่า กนง.มีการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ถือว่าเป็นการเหยียบเบรกเศรษฐกิจเร็วไป ทั้งที่ควรจะมองการคาดการณ์อนาคต ภาพรวมจากภายนอกประเทศ และควรเชื่อมโยงการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการทำงานแบบใช้เหตุและผล มีซิกเซนส์ในการทำงานมากกว่านี้ เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงมากขึ้น
ขณะที่ พรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งใน กนง. โต้กลับว่า การพิจารณาปรับดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ยืนยันว่าได้พิจารณาจากข้อมูลที่มีอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องแรงกดดันของเงินเฟ้อ แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ ภาคการผลิต การบริโภค การลงทุน การใช้จ่ายของภาครัฐ รวมไปถึงภาวะเศรษฐกิจโลก จึงยืนยันว่าแต่ละครั้งได้ใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบ ทั้งนี้ช่วงหลังความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกมีสูงขึ้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของกนง.อาจเป็นการแตะเบรกทางเศรษฐกิจเร็วเกินไป ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงกว่าที่คาดกันไว้ค่อนข้างมาก แต่ทั้งนี้ยืนยันว่าการพิจารณาของ กนง.ได้ใช้ข้อมูลตามแต่ละสถานการณ์ในการประกอบการพิจารณาอย่างรอบคอบ
โดยการให้สัมภาษ์ของทั้งสองฝ่ายนั้น แม้ว่าจะเป็นความเห็นที่แตกต่างกันแต่ก็ถือว่าต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลกันพอสมควร ทั้งนี้ในอดีตที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าแนวทางการบริหารงานของรัฐบาลไม่ว่าจะสมัยไหน อาจจะมีการล้วงลูก หรือมีความเห็น รวมถึงนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย มาเป็นระยะ
อย่างไรก็ตามบทวิเคราะห์จากสถาบันต่างๆเริ่มมีความคิดเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า จะยังไม่เห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของกนง.ในวันที่ 19 ตุลาคม เริ่มกันที่....
ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด ให้มุมมองว่า ปัญหาอุทกภัยที่รุนแรงขึ้นและกระจายไปในหลายพื้นที่ ประกอบกับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงในช่วงที่ผ่านมา อาจทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นนี้ไม่สดใสนัก นอกจากนี้หลายนโยบายของรัฐบาลที่มีความชัดเจนขึ้น เช่น รถคันแรก บ้านหลังแรก น่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นได้น้อยกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ ขณะที่การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำหากไม่สามารถทำได้ทั้งประเทศก็อาจทำให้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อน้อยลง
อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายการจำนำข้าว ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อในอนาคตได้ แต่เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยและปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปอาจทำให้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ตัดสินใจหยุดการขึ้นดอกเบี้ยไว้ที่ 3.2% ในการประชุมวันที่ 19 ตุลาคม นี้ก็เป็นได้
ส่วนบลจ.เอเชียพลัส มองว่า การประชุมของธนาคารกลางยุโรปที่ผ่านมามีข้อสรุปให้ยืนดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ที่เดิมเมื่อ 6 ตุลาคม แม้จะไม่เป็นตามที่ตลาดคาดหวังว่าจะเห็นการลดดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมรอบนี้ก็ตาม เนื่องจากธนาคารกลางยุโรปยังคงให้ความสำคัญกับอัตราเงินเฟ้อที่ปัจจุบันเฉลี่ยยังยืนใกล้เคียง 3% ซึ่งสูงกว่ากรอบเป้าหมายที่ระดับ 2% แต่อย่างไรก็ตามธนาคารกลางยุโรปก็มิได้ปฏิเสธต่อแนวคิดที่ว่าจะปรับลดดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นในอนาคต หากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอ่อนลงในปี 2555
ทั้งนี้แนวทางการยืนดอกเบี้ยนโยบายที่เดิมสอดคล้องกับประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่ง โดยเฉพาะอังกฤษ และออสเตรเลีย ล่าสุดได้ยืนดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำ 0.5% และ 4.75%เช่นเดิม และส่งสัญญาณว่าจะลดดอกเบี้ยในปี 2555 ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับมุมมองของ เรา เชื่อว่า กนง. น่าจะมีมติยืนดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม 3.5% ในการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือของปีคือ 19 ต.ค. 2554 และ 30 พ.ย. 2554 และน่าจะส่งสัญญาณการลดดอกเบี้ยในปี 2555 เช่นกัน
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ข้อเสนอที่จะปรับเป้าหมายมาเป็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยรายปีที่ร้อยละ 3.0 (+/- ร้อยละ 1.5) ในปี 2555 จากปัจจุบันที่ใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ร้อยละ 0.5-3.0 เป็นเป้าหมาย น่าจะทำให้ กนง.มีความยืดหยุ่นและสามารถใช้วิจารณญาณในการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย นโยบายได้มากขึ้น เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าจากปัจจัยด้านอุปทานที่มักอยู่ เหนือความควบคุม อาทิ ราคาน้ำมัน สินค้าเกษตร และสินค้าโภคภัณฑ์
อย่างไรก็ดีแม้ในระยะสั้น ประเด็นด้านเสถียรภาพจะยังไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล อันทำให้การพิจารณาปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในปี 2555 ดูเสมือนว่าน่าที่จะสามารถดำเนินการได้โดยไม่สร้างความเสี่ยงด้านเสถียรภาพ ต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนเพิ่มมาก ขึ้น แต่มองไปในระยะกลางถึงยาว หากรัฐบาลยังคงเน้นการดำเนินนโยบายเชิงกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อันจะสนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนของปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้น กลไกการกำกับดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่สมดุล คงจะยังเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น ซึ่งภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่ที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ความท้าทายของการดำเนินนโยบายของทางการคงจะอยู่ที่การให้ความสำคัญกับการ รักษากรอบวินัยทางการคลัง การดูแลการก่อหนี้ และการควบคุมภาวะฟองสบู่ในระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีสมดุลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
สำหรับนัยต่อการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไปนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ด้วยน้ำหนักความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ขณะเดียวกัน ความเป็นไปได้ที่ลดลงที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะเกินกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อใน ช่วงที่เหลือของปี 2554 ผนวกกับการปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 2555 คงจะทำให้ความจำเป็นที่ กนง.จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกในช่วงที่เหลือของปี 2554 และต่อเนื่องถึงปี 2555 มีลดลง หลังจากที่ กนง.ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องมาที่ระดับที่เป็นปกติมาก ขึ้นที่ร้อยละ 3.50 ในปัจจุบัน ทั้งนี้ คงจะต้องติดตามข้อสรุปสุดท้ายสำหรับการปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 2555 ที่กระบวนการถัดจากนี้ จะมีการนำข้อตกลงร่วมระหว่าง กนง.และรัฐมนตรีคลังเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป