xs
xsm
sm
md
lg

ศึกชิงธุรกิจกองทุนรวม บลจ.กลาง-เล็กต้องปรับตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ต้องยอมรับว่าโปรโมชั่นดึงเงินของออกจากกระเป๋า ของเหล่าบรรดาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ไม่ว่าจะเป็น ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ประกันชีวิต บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทบัตรเคดิต ช่างล่อตาล่อใจยิ่งนัก ไม่ว่าจะเป็นบรรดาของแถม cash back คะแนนสะสมแต้ม หรือการซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง ต่างเรียกเม็ดเงินได้เป็นอย่างดี ซึ่งบริษัทที่เกี่ยวกับไฟแนลเชียลต่างแข่งขันกันอย่างดุเดือดและหลายบริษัทต้องปรับตัวกันครั้งใหญ่ และการควบรวมเพื่อความอยู่รอด รวมถึงการล้มหายตายจากกันไป

การที่ ธนาคารระดมเงินฝาก ดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น ประกันชีวิตปรับตัวออกแพคเก็จใหม่ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ การออกพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ของบริษัทชั้นนำที่เปิดโอกาสให้รายย่อยสามารถเลือกลงทุนได้ เหล่านี้ถือว่าเป็นคู่แข่งสำคัญของบลจ. นอกเหนือจากการแข่งกันเองในอุตสหกรรม

ต้องยอมรับว่าบลจ.ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ หรือ AUM ที่ติดอันดับต้นๆของอุตสหกรรม มักจะเป็นบริษัทลูกของธนาคารทั้งสิ้น เรียกได้ว่านอกจากพนักงานของแต่ละสาขา จะต้องเสนอเงินฝากดอกเบี้ยจูงใจ เสนอเงินกู้ดอกเบี้ยไม่สูงแล้ว ยังต้องขายกองทุนรวม รวมถึงประกันชีวิต อีกด้วย เรียกได้ว่าทำยอดกันหน้าดำหน้าแดงกันเลยทีเดียว

ในส่วนของอุตสหกรรมกองทุนรวม ก็ต่างต้องปรับตัวครั้งใหญ่ด้วยเช่นกัน จากรายงานของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคมบลจ.) พบว่า เงินลงทุนของบริษัทจัดการในอุตสาหกรรม ณ วันที่ 26 สิงหาคม 2554 บลจ.กสิกรไทย ยังคงมีสินทรัพย์สูงสุดเป็นอันดับ 1 ด้วยเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 470,193.94 ล้านบาท ตามมาด้วย บลจ.ไทยพาณิชย์ ด้วยเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 453,776.11ล้านบาท ในขณะที่ บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ตามมาเป็นอันดับ 3 ด้วยสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 255,798.23 ล้านบาท อันดับ 4 บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ด้วยเงินลงทุนรวมกว่า 158,605.05 ล้านบาท และอันดับ 5 บลจ.บัวหลวง อยู่ที่ 142,128.04 ล้านบาท

ทั้งนี้พบว่าบางบลจ.ก็มี AUM เพิ่มขึ้นบ้างและลดลงบ้าง โดยสาเหตุส่วนใหญ่อาจจะมาจากกองทุนเทอมฟันด์ต่างทยอยครบอายุ ซึ่งเม็ดเงินจำนวนนั้นอาจจะไหลไปยังเงินฝาก สลากออมเสิน หรือการออมเงินอย่างอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

อย่างไรก็ตามในส่วนของบลจ.ใหญ่ๆ นอกจากจะมีกองทุนรวม ที่เปิดขายอยู่แล้ว ยังมีกองทุนส่วนบุคคล กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่บริหารอยู่อีกด้วย ซึ่งบลจ.ขนาดกลางและขนาดเล็กอาจจะไม่ได้แตะในส่วนของสองกองทุนหลัง ทำให้บลจ.เหล่านี้หากลยุทธ์หรือกองทุนทางเลือก รวมถึงช่องทางใหม่ๆเข้าหาทาร์เก็ตกรุ๊ปโดยตรง

เฟ้นวัตกรรมการลงทุนใหม่

เริ่มต้นที่ บลจ.วรรณ ถือว่าเป็นบลจ.ขนาดกลาง มีสินทรัพย์ประมาณ 44,669.89 ล้านบาท โดยมี มนรัฐ ผดุงสิทธิ์ เป็นกรรมการผู้จัดการ โดยก่อนหน้านี้เขาบอกว่า บลจ.วรรณ ไม่ได้ตั้งเป้า AUM ในปี 2554ว่า จะต้องเติบโตเท่าไร เนื่องจากเราอยากจะปรับปรุงระบบภายในบลจ.ก่อน เรามองว่าหากเราวางเป้าหมายว่าจะเพิ่ม AUM แต่ระบบการทำงานข้างในยังเป็นปัญหาอยู่ ก็จะทำให้การทำงาน หรือการใช้ข้อมูลมีปัญหาได้ในอนาคต

นอกจากนี้บลจ.วรรณ ยังหาพันธมิตรใหม่ๆเข้ามาเพื่อเพิ่มทางเลือกการลงทุนให้กับนักลงทุนที่แสวงหานวัตกรรมการลงทุนในรูปแบบใหม่ๆ ที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่า เช่น กองทุนเปิดไทยเด็กซ์เซ็ท50อีทีเอฟ (TDEX ) กองทุนเปิดวรรณพร็อพเพอร์ตี้พลัสฟันด์ (ONE-PROP) หรือ กองทุนเปิดไทยเด็กซ์SETHighDividendETF (1DIV) เป็นต้น

ปรับกลยุทธ์ใหม่สู้

มาที่ บลจ.ซิมิโก้ กันบ้างหลังจากการลาออกของอดีตเอ็มดีอย่าง กิตติโชค จิตสดศรี บลจ.ดังกล่าวก็ไม่ค่อยจะมีข่าวคราวตามสื่อต่างๆมากนัก ซึ่งเมื่อไม่นานที่ผ่านมาทางบลจ.ซิมิโก้ ได้เปิดตัวผู้บริหารคนใหม่อย่าง ไววุฒิ อุทัยเฉลิม ที่ย้ายมากจากบลจ. ซีไอเอ็มบี ซึ่งก่อนหน้านี้ มาริษ ท่าราบ อดีต กรรมการผู้จัดการบลจ.ไอเอ็นจี เคยดึงตัวให้เข้ามาดูแลงานในบลจ.ไอเอ็นจี มาก่อน

ปัจจุบัน AUM ของ บลจ.ซีมีโก้ อยู่ที่ 2,630.56 ล้านบาท โดย"ไววุฒิ" บอกว่า หลักการทำการตลาดของบริษัท ยังคงเน้นขายกองทุนผ่านตัวแทนจำหน่าย และสร้างเซลล์ขึ้นมาเอง ในการเสนอขายกองทุนต่าง ๆ นอกจากนี้แล้วแผนการตลาดในปีหน้าบริษัทเตรียมรุกด้านมีเดียมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้ารายใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยในส่วนของธุรกิจกองทุนรวมจะจะออกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2 - 3 กองทุน โดยกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่จะเปิดเป็นประเภทโรงแรมที่สมุย มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท ส่วนอีกกองทุนหนึ่งเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงแรม เช่นเดียวกัน อยู่ที่จังหวัด ชลบุรี มูลค่ากองทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท และอีกกองทุนเป็นประเภทออฟฟิตบิวดิ้งรวมพลาซ่า และรวมเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ อยู่ในสถานที่เดียวกัน แถวย่านพหลโยธิน มูลค่าโครงการประมาณ 3,000 ล้านบาท พร้อมทั้งออกกองทุน FIF ทองคำเพิ่มอีกด้วย

ส่วนแผนการดำเนินงานของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมส่วนบุคคล ในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ณ ปัจจุบันมีเอ็นเอวีอยู่ทั้งสิ้น 47 ล้านบาท และสิ้นปีนี้ตั้งเป้าโตเพิ่มขึ้นอีก 100% หรือคิดเป็นประมาณ 50 ล้านบาท ส่วนกองทุนรวมส่วนบุคคลสิ้นปีตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ปะมาณ 300 ล้านบาท ปัจุบันมีลูกค้าสถาบันที่ให้บริษัทบริหารพอร์ตการลงทุนให้อยู่ที่ 500 ล้านบาท

""ต้องยอมรับว่า บลจ. ซีมิโก้ เป็น บลจ. เล็ก ๆ มีขนาดไซด์ของกองทุนที่ไม่ใหญ่มาก ดังนั้นการทำงานของบริษัทถือว่าการตั้งเป้าโต 100% ของทั้ง 2 กองทุนถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา และเราต้องทำให้ได้ เพราะตอนนี้บริษัทเองมีการเข้าไปร่วมพูดคุยให้ความรู้ความเข้าใจกับบริษัทต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นแล้ว และคาดว่าจะสามารถโตขึ้นได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งนี้กองทุนของเรายังคงเป็นแค่ลักษณะของพลูฟันด์ ที่เป็นรูปแบบเอ็มเพอร์ยีชอยท์"

ในส่วนของกองทุนรวมส่วนบุคคล บริษัทเตรียมออกกองทุนที่เป็นรูปแบบของแมสชิ่งฟันด์ที่จะเข้าไปลงทุนในฮ่องกง เป็นลักษณะเวนเจอร์แคป ไว้รองรับกลุ่มนักลงทุนเอสเอ็มอีที่เป็นกลุ่มลูกค้าธนาคารที่สามารถกู้ได้ และไม่สามารถกู้ธนาคารได้ แต่อยากที่จะทำธุรกิจของตนเองให้มีการเติบโตมากยิ่งขึ้น ซึ่งกองทุนดังกล่าวจะมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 30 - 100 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจา ซึ่งคาดว่าจะไม่เกิน 3 เดือนที่จะสามารถเปิดตัวกองทุนได้

ค่อยๆโตแต่มั่นคง

ทิ้งท้ายกันที่ "บลจ. ฟิลลิป" โดย วรรธนะ วงศ์สีนีล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาผลการดำเนินงานของบลจ.เรามีการเติบโตและเป็นที่หน้าพอใจ ทั้งนี้สินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ของบลจ.อยู่ที่ 600 ล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้นกว่า 50% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2553 โดยในปี 2555 บลจ.ตั้งเป้าว่าจะมี AUM เติบโตที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท

ทั้งนี้เราจะเน้นขายกองทุนผ่านเซลลิ่งเอเจนท์ เป็นหลัก โดยจะเราชูผลการดำเนินงานของกองทุนเป็นจุดขาย พร้อมกับออกโปรโมชั่นเพิ่มจุดขายอีกด้วย โดยบลจ.จะเปิดขายกองทุนพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มเติมอีก 1 กองทุน โดยกองทุนดังกล่าวจะเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันเต็มจำนวนจากรัฐบาล ส่วนกองทุนประเภทเทอมฟันด์ที่ลงทุนในตราสารหนี้นั้น ทางบลจ.มองว่าผลตอบแทนที่ได้นั้นเทียบเท่ากับการฝากเงินทำให้ความน่าสนใจในแง่ผลตอบแทนไม่ค่อยจูงใจนักลงทุน

อย่างไรก็ตามนอกจากบลจ.ที่ยกตัวอย่างแล้วยังมีบลจ.ใหม่ๆที่เข้ามาอุตสหกรรม เช่น บลจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และ บลจ.กิมเอ็ง ก็คงต้องติดตามดูว่าจะมีไม้เด็ด หรือ กลยุทธ์ แบบไหนมาแข่งขัน
กำลังโหลดความคิดเห็น