xs
xsm
sm
md
lg

แนะลงทุนระยะสั้นรับดบ. ขาขึ้น แอสเซทพลัสคาดกนง.ปรับอีก0.25%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.แอสเซทพลัส แนะลงทุนตรสารหนี้ระยะสั้นรับดอกเบี้ยขาขึ้น ล่าสุดเตรียมเปิดขายรอบใหม่ 2 กองโรลโอเวอร์อายุ 3 เดือน 6เดือน วันที่ 22 และ 24 สิงหาคมนี้ ชูยิลด์สูงสุด 3.55% ต่อปี พร้อมคาดกนง.ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% เหตุนโยบายประชานิยมเพื่อไทยหนุนเงินเฟ้อจ่อแตะ 5%

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการขายและการตลาด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) แอสเซทพลัส จำกัด เปิดเผยว่า ในสภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และมีความผันผวนจากปัจจัยภายนอกสูง ทั้งจากการที่สหรัฐฯ ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ และปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป การลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศระยะสั้นๆ น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เสียโอกาสผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะถัดไป

ทั้งนี้ ล่าสุดบริษัทเตรียมที่จะทำการเปิดขายกองทุนตราสารหนี้รอบใหม่ 2 กองทุนได้แก่ กองทุนเปิดแอสเซทพลัสแอ็คทีฟตราสารหนี้ 8 (ASP-ACFIXED8) ซึ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้ในประเทศที่เปิดเสนอขายเป็นรอบระยะเวลา จะทำการเปิดขายในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ ส่วนกองทุน กองทุนเปิดแอสเซทพลัสทวีเงินออม 2 (ASP-MMF2) ซึ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้ในประเทศ อายุ 6 เดือน จะทำการเปิดขายในวันที่ 24 สิงหาคมนี้

สำหรับกองทุน เปิดแอสเซทพลัสแอ็คทีฟตราสารหนี้ 8จะลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย และตราสารหนี้ในประเทศ เช่น ตั๋วแลกเงินของ บมจ.ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารธนชาต (TBANK) บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ (QH) ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮาส์ (LHB) และบจ. เอเซียเสริมกิจ ลีสซิ่ง (ASK) อายุประมาณ 3 เดือน โดยคาดว่าสามารถให้ผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายได้อยู่ที่ 3.25% ต่อปี*

ส่วนกองทุนเปิดแอสเซทพลัสทวีเงินออม 2จะพิจารณาลงทุนในตราสารหนี้ของบริษัทเอกชนต่างๆ เช่น ตั๋วแลกเงินของ ธนาคารเกียรตินาคิน (KK) บมจ.เอเชี่ยน พร็อพเพอร?ตี้ (AP) บมจ. บัตรกรุงไทย (KTC) ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮาส์ (LHB) และบจ. เอเซียเสริมกิจ ลีสซิ่ง (ASK) โดยคาดว่าสามารถให้ผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายได้อยู่ที่ 3.55% ต่อปี

“ทั้ง 2 กองทุน เหมาะกับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นๆ และคาดหวังผลตอบแทนที่ดี ในระดับความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ เนื่องจาก กองทุนลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ในประเทศ และมีรอบการลงทุนสั้นๆ ประมาณ 3-6 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาการลงทุนที่เหมาะสม ตามช่วงการปรับตัวของดอกเบี้ยขาขึ้น”นางสาวจารุลักษณ์ กล่าว

นางสาวจารุลักษณ์ กล่าวอีกว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 24 ส.ค.น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยคาดว่า กนง. น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% อยู่ที่ระดับ 3.50%

นอกจากนี้ จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของรัฐบาลชุดใหม่ เช่น การเพิ่มค่าจ้างรายวันเป็น 300 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท การลดหนี้เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ต่ำกว่า 5 แสนบาท เป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี มาตรการลดภาษีบ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรก และเบี้ยยังชีพรายเดือนแบบขั้นบันไดสำหรับผู้สูงอายุตั้งแต่ 600-1,000 บาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนโยบายการเพิ่มรายได้เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศนั้น ซึ่งหากรัฐบาลดำเนินนโยบายครบทุกมาตรการน่าจะช่วยในการกระตุ้นการบริโภค และผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวขึ้นได้ และอาจกระตุ้นให้เงินเฟ้อในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ 4.08% อยู่ที่ระดับ 5%
กำลังโหลดความคิดเห็น