xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯบลจ.ชี้เหตุ...ทำไม QE ถึงไม่ได้ผล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (สมาคม บลจ.) และประธานเจ้าหน้าบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง จำกัด ให้ความเห็นเกี่ยวกับปัญหาของสหรัฐที่เกิดขึ้นในขณะนี้ว่า...สิ่งที่สหรัฐอเมริกาควรทำเพื่อกอบกู้วิกฤติหนี้สินของอเมริกาคือ ทำทุกสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว

ทั้งนี้ การพิมพ์แบงค์ดอลลาร์โดยไม่มีอะไรอื่นมารองรับนอกจากความเชื่อมั่นในรัฐบาลสหรัฐ แล้วอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเรียกเป็น QE1, QE2 ต่างไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจเติบโต ยั่งยืน ตามทฤษฎีของ Keynesians ได้เลย เพราะมันกลายไปเป็นเงินสดนอนนิ่งในภาคธุรกิจซึ่งไม่ขยาย ไม่กู้ คนที่ยังพอมีเงินก็ออมเงินเพิ่มมากขึ้น ไม่ยอมใช้จ่ายเพราะกลัวอนาคต เงินจึงไปนอนนิ่งในธนาคารทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรืออยู่ในรูปการลงทุนทางการเงินอื่นๆ ไม่ได้นำไปลงทุนในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ดังนั้นเมื่อเป็นอย่างนี้ การขยายตัวหลายเท่าของเม็ดเงินที่อัดฉีดตามหลักคิดของ Keynesians จึงไม่เกิด เพราะผลักดันเศรษฐกิจไม่สำเร็จ

ขณะเดียวกันภาวะเศรษฐกิจเติบโตและแข็งแรง ยอดขายจะเพิ่มขึ้น แต่กำไรของธุรกิจมักจะลดลง เป็นเพราะต้นทุนมักจะพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ เนื่องจากค่าจ้างแรงงาน ค่าวัตถุดิบ และค่าใช้จ่ายในการแข่งขันที่ดุเดือด มันจะทำให้กำไรลดลง แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มปรับฐานลง ยอดขายจะลดลง แต่กำไรจะเพิ่มขึ้น เพราะภาคธุรกิจเมื่อยอดขายลด ก็จำเป็นต้องลดต้นทุนให้อยู่รอด และที่เขาทำได้อย่างแรกเลยก็คือลดการจ้างงาน จึงมีกำไรมากขึ้น ธุรกิจจะไม่ทำการขยายการผลิต เพราะมองว่าอนาคตไม่ดี เมื่อมีเงินสดก็เก็บไว้ก่อน

อย่างไรก็ตามมูลค่าหุ้นของธุรกิจต่างๆ มักจะถูกวิเคราะห์ด้วยผลกำไรตามที่รายงานในงบการเงิน ผู้ลงทุนจึงยังหลงเชื่อว่ามันยังดีอยู่ ทั้งๆ ที่จริงแล้วมันไม่ใช่ เพราะในช่วงเศรษฐกิจปรับฐานไปสู่ความจริงตามที่ควรจะเป็น สินทรัพย์ต่างๆ จะมีมูลค่าที่ลดลง ในภาวะที่เศรษฐกิจแข็งแรง อัตราดอกเบี้ยต่ำๆ และการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล จะผลักดันให้เกิดอัตราเร่งให้เศรษฐกิจเติบโตได้รวดเร็ว เพราะภาคธุรกิจที่เห็นว่าเศรษฐกิจและกำลังซื้อจะดูดี ก็จะกู้มาขยายการผลิต เกิดการจ้างงาน เกิดการบริโภค ประชาชนหรือผู้บริโภคก็จะกู้เงินไปจับจ่ายใช้สอย

ขณะที่ในช่วงเศรษฐกิจปรับฐานลง การกระตุ้นจะไม่ได้ผล หรือซ้ำร้ายก็คือให้ผลตรงกันข้ามกับที่คาดหวัง เพราะภาคธุรกิจจะกู้เงินที่คิดดอกเบี้ยต่ำติดดิน แล้วเอาไปฝากกับธนาคาร เอาไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล ในประเทศหรือต่างประเทศก็แล้วแต่ คือเอาไปลงทุนทางการเงิน ไม่ใช่ลงทุนในการขยายธุรกิจ เรียกว่าสะสมเงินสดไม่ยอมเอาไปขยายการผลิต ผู้บริโภคหากยังกู้ได้ ก็จะกู้หนี้ใหม่เพื่อไปจ่ายหนี้เก่าที่มีอยู่ ซึ่งปัญหาใน ช่วงเศรษฐกิจปรับฐานลงที่จริงแล้วก็คือหนี้ ดังนั้น การอัดฉีดเงินในสภาพแวดล้อมแบบนี้ จึงเป็นการทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง ไม่ใช่ดีขึ้น

เมื่อเศรษฐกิจเติบโตแข็งแรง รัฐบาลจะเก็บภาษีได้มากขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายสวัสดิการสังคมจะลดลง เพราะว่ามีคนว่างงานน้อยลง เลยไม่ได้ไปขอรับเงินสวัสดิการว่างงาน และอาจไปหาหมอเองโดยไม่ได้ใช้สิทธิตามประกันสังคม ฯลฯ แต่ในทางกลับกัน เมื่อเศรษฐกิจปรับฐานลง รายได้รัฐบาลจากภาษีก็ลดลงไปด้วย ในขณะที่มีคนขอรับสวัสดิการเพิ่มมากขึ้นซึ่งทำให้รายจ่ายของรัฐสูงขึ้นและเมื่อสถานการณ์เลวร้ายลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากรัฐบาลไปกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการยอมขาดดุลเพิ่มขึ้นอีกโดยหวังว่าจะช่วยทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ผลที่ได้ก็จะยิ่งแย่ลงไปทุกที

ทั้งนี้ รัฐบาลต้องกู้มากขึ้นให้ครอบคลุมภาระที่เพิ่มขึ้น ยอดหนี้ของภาครัฐจึงสูงขึ้น ทำให้เจ้าหนี้ไม่อยากปล่อยกู้ให้รัฐบาลในอัตราดอกเบี้ยต่ำๆ แบบเดิมอีก เพราะเขาเห็นความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับเงินคืนเพิ่มมากขึ้น หากเขาจะให้รัฐบาลกู้ รัฐบาลก็ต้องให้ดอกเบี้ยที่ดีกว่าเดิมด้วย นอกจากนี้ เมื่อยอดหนี้ภาครัฐโดยรวมสูงขึ้น จำนวนหนี้ก็จะกดดันเศรษฐกิจจนทำให้ขยายไม่ไหว หรือขยายได้ช้า เนื่องจากเมื่อยอดหนี้สูงขึ้น ดอกเบี้ยจ่ายคิดเป็นสัดส่วนของรายได้รัฐ ก็จะมากขึ้นไปด้วย ทำให้รัฐบาลเหลือเงินหลังจ่ายดอกเบี้ยแล้วน้อยลง ใช้จ่ายประจำอาจจะยังไม่พอ ไม่ต้องไปพูดเรื่องเอาเงินที่เหลือไปกระตุ้นเศรษฐกิจ
กำลังโหลดความคิดเห็น