คปภ.เดินหน้าพัฒนาธุรกิจประกัน ตั้งเป้าปี 57 เกาะกลุ่มประเทศพัฒนาทั้ง ญี่ปุ่น อินเดีย พร้อมเล็งปรับสินค้าเพิ่มความรู้ใหม่หลังประชุมนานชาติเอเชียแปซิฟิก หวังใช้เป็นแนวทางตั้งกองทุนมหันตภัย ระบุมติที่ประชุมเตรียมทำ"ปฏิญญากรุงเทพ"เพิ่มการแลกเปลี่ยนข้อมูลการกำกับดูแลธุรกิจประกันมากขึ้น
นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)เปิดเผยว่า ในการประชุมนายทะเบียนประกันภัยเอเชียครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 28-29 กรกฎาคมนี้ เป็นการประชุมระดับนานาชาติประจำปีของนายทะเบียนจาก 20 ประเทศของเอเชียแปซิก
ทั้งนี้ ภายในการประชุมจะมีการจัดทำ"ปฏิญญากรุงเทพ" ซึ่งว่าด้วยความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการกำกับการธุรกิจประกันภัย และประกันชีวิต ทั้งด้าน การบริหารความเสี่ยงมหันตภัย การบริหารความเสี่ยงด้านการรายงานทางการเงิน และการกำกับดูแลช่องทางการจำหน่าย ร่วมถึงการพัฒนาการส่งเสริมการประกันภัยรายย่อย(Microinsurance)
นอกจากนี้ ในการประชุมจะมีการพิจารณาการกำหนดมาตรฐานใหม่เอาไว้ในข้อปฏิบัติขององค์ระหว่างประเทศอย่าง International Association of Insurance Supervisors(IASI) เพื่อนำไปเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการตรวจสอบระดับสากลต่อไป
"ปฏิญญากรุงเทพก็จะมีเรื่องหลักๆ เหล่านี้ ซึ่งในส่วนของการรายงานทางการเงินที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมือด้านข้อมูลอย่างกรณีของเอไอจี ที่มีการแลกข้อมูลของหน่วยงานการกำกับดูแล และนับเป็นประโยชน์อย่างมากในเวลาต่อมา ส่วนการกำหนดมาตรฐานสากลตอนนี้ยังไม่ชัดเจน ซึ่งในที่ประชุมจะมีการเสนอกันว่าจะวางระเบียบอย่างไร และใครจะเสนออะไรก็ได้ แล้วแต่ว่าจะได้รับการลงมติเป็นระเบียบออกมาหรือเปล่าเท่านั้น"นางจันทรากล่าว
นางจันทรา กล่าวอีกว่า ธุรกิจประกันภัยในปัจจุบันมีการแบ่งการเติบโตอยู่ 3 ระดับคือ กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว กลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา และกลุ่มประเทศที่พัฒนาระดับล่าง ซึ่งกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ประกอบด้วย ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และนิวซีแลนด์
ส่วนกลุ่มที่กำลังพัฒนาประกอบด้วย ไทย มาเลเซีย สิงค์โปร์ ขณะที่กลุ่มพัฒนาระดับล่างได้แก่ บรูไน ลาว เวียดนาม ฟิลิปปินส์
ทั้งนี้ ธุรกิจประกันภัยในช่วงที่ผ่านมาถือว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนการถือกรมธรรม์ต่อจีดีพีได้เติบโตเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากประมาณ 3% ขึ้นมาอยู่ที่ 4% และคาดว่าหากเป็นไปตามแผนพัฒนาที่กำหนดไว้ สัดส่วนดังกล่าวน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปที่ 6% ได้ในปี 2556
"ธุรกิจประกันภัยของเราโตขึ้นต่อเนื่องตามแผนที่วางไว้ ซึ่งเชื่อว่าเมื่อเข้าสู่แผนพัฒนาฉบับที่ 2 ในปี 2557 การเติบโตของธุรกิจประกันภัยของประเทศเราน่าจะเข้าไปอยู่ในกลุ่มที่ 1 ได้"นางจันทรากล่าว
นอกจากนี้ นางจันทรา ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนการตั้งกองทุนมหันตภัยของไทยตามแผนพัฒนาตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะทำในรูปแบบใด ซึ่งประเทศไทยจะมีข้อแตกต่างจากประเทศที่ประสบเหตุบ่อยครั้งอย่างญี่ปุ่น โดยอย่างน้อยหลังการประชุมครั้งนี้น่าจะได้ประสบการณ์และความรู์เพื่อนำไปปรับใช้ต่อไป
ทั้งนี้ สำหรับสิ่งที่น่าจะมีการปรับปรุงเบื้องต้นเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงด้านภัยพิบัติน่าจะเป็นในส่วนของการพัฒนาด้านความรู้ และผลิตภัณฑ์เพื่อให้มีความคุ้มครองที่ครอบคลุมมากขึ้นก่อน