xs
xsm
sm
md
lg

บลจ.ยูโอบีเปิดขายบอนด์6เดือน ชี้การช่วยเหลือกรีซจะผ่านไปได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - บลจ. ยูโอบี เปิดกองบอนด์ 6 เดือนต่อเนื่อง ชูผลตอบแทน 3.11% เปิดขาย 28 มิ.ย. - 4 ก.ค. 2554 ระบุ การช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศกรีซที่จะมีการประชุมในเดือน ก.ค. นี้ น่าจะประสบผลสำเร็จและผ่านไปได้ด้วยดี

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี จำกัด เปิดขายกองทุนตราสารหนี้ กองทุนเปิด ยูโอบี เอฟไอเอฟพลัส 6/9(UOBFIPP 6/9) เปิดขายครั้งแรก (IPO) และครั้งเดียว ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน - 4 กรกฎาคม 2554 กองทุนมีอายุโครงการประมาณ 6 เดือนมูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท กองทุนมีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (Investment Grade) ตัวอย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วแลกเงินของธนาคารพาณิชย์ เงินฝากในธนาคารพาณิชย์ และตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทเอกชนทั่วไป ประมาณการผลตอบแทนที่จะได้รับหลังหักค่าใช้จ่ายของกองทุนอยู่ที่ประมาณ 3.11%

ทั้งนี้ บลจ. ยูโอบี รายงานว่า อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกช่วงอายุ อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรอายุต่ำกว่า 1 ปี ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.01 - 0.12 อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 2 - 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.13 - 0.18 ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรอายุมากกว่า 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.01 - 0.12 ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 - 10 ปี ปรับลดลงจากร้อยละ 0.37 ในสัปดาห์ก่อน เป็นร้อยละ 0.33 ในสัปดาห์นี้
โดยอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากมีแรงขายจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนลดการลงทุนในพันธบัตรน่าจะมาจากการที่ธนาคารพาณิชย์ฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั๋วแลกเงินระยะสั้น จนอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรระยะยาว ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงจากปัญหาหนี้ของกรีซซึ่งยังคงต้องรอความชัดเจนในการช่วยเหลืออีกครั้งหนึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้ามารับซื้อพันธบัตรอายุ 4 - 10 ปี ในช่วงปลายสัปดาห์เป็นจำนวนประมาณ 10,000 ล้านบาท ทำให้อัตราดอกเบี้ยปรับลดลงเล็กน้อยและซื้อขายในกรอบแคบลง แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในสัปดาห์นี้คาดว่าจะผันผวนในกรอบแคบมากขึ้นและแรงขายชะลอตัวลง หลังจากอัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นมามากในสัปดาห์ก่อน

ด้านเศรษฐกิจยุโรป ผู้นำเยอรมนีและฝรั่งเศสประสานเสียงหนุนมาตรการช่วยเหลือกรีซครั้งใหม่ โดยเห็นพ้องกับข้อเสนอเกี่ยวกับแผนช่วยเหลือครั้งใหม่แก่กรีซ ซึ่งจะรวมถึงการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยมีชื่อเรียกว่า "แผนริเริ่มเวียนนา" โดยธนาคารต่างๆ จะรักษาสัดส่วนหนี้ในยุโรปกลาง โดยจะดำเนินนโยบายตาม 4 หลักการ ได้แก่ 1.ความสมัครใจของธนาคาร 2.ไม่ต้องการให้เกิดการผิดชำระหนี้ 3.ทำข้อตกลงเกี่ยวกับแผนการกับธนาคารกลางยุโรป 4.ดำเนินการอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้จากคำกล่าวดังกล่าวของทั้งสองนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดี ทำให้ บลจ. ยูโอบี เชื่อว่า การช่วยเหลือทางการเงินของกรีซทั้งในส่วนของ Confident Vote และเงินช่วยเหลือที่จะมีการประชุมในเดือน ก.ค. นี้ น่าจะประสบผลสำเร็จและผ่านไปได้ด้วยดี

ขณะที่ ธนาคารกลางสหรัฐฯ แสดงความเห็นต่อปัญหาหนี้สินของกรีซ โดยนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด ระบุว่า การผิดชำระหนี้ของกรีซอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก แม้ว่าการลงทุนโดยตรงของบริษัทสหรัฐฯ จะอยู่ในระดับต่ำก็ตาม และเตือนว่าผลกระทบที่จะเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง หากเจ้าหน้าที่ยุโรปไม่สามารถหาข้อสรุปในการคลี่คลายสถานการณ์ได้

โดยที่ เฟดยังมีเครื่องมืออีกหลายอย่างเพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ว่าไม่มีวิธีใดที่ปราศจากความเสี่ยงหรือผลกระทบก็ตาม เฟดอาจจะซื้อหลักทรัพย์มากขึ้น ลดดอกเบี้ยสำหรับทุนสำรองส่วนเกินที่จ่าย หรือจัดการงบดุลบัญชี นอกจากนี้ นายเบนยังกล่าวอีกว่า เฟดยังต้องใช้เวลาอีกเล็กน้อยในการประเมินถึงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อพิจารณาในการตัดสินใจในด้านนโยบาย

นายเบนยังกล่าวว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) จะประชุมกันอย่างน้อยอีก 2 หรือ 3 ครั้ง ก่อนที่จะปรับอัตราดอกเบี้ย โดยจะต้องพิจารณาถึงเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และการว่างงานจะอยู่ในสภาวะเช่นไร โดยอาจจะต้องใช้เวลามากในการพิจารณาและไม่ต้องการยึดติดกับกรอบเวลาที่ตายตัว นอกจากนี้ เขายังกล่าวอีกว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ แม้ว่าปัจจัยที่ส่งผลกระทบจะเป็นปัจจัยชั่วคราวก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อของผู้บริโภคที่ถูกยับยั้งด้วยราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น แต่นายเบนได้กล่าวว่าราคาพลังงานนั้นจะปรับตัวลดลง และผลกระทบของภัยพิบัติจะเบาบางลง

นอกจากนี้ยังระบุว่า เฟดได้ดำเนินการอย่างมากแล้วเพื่อพยายามปรับปรุงตลาดที่อยู่อาศัย แม้ว่าภาคที่อยู่อาศัยโดยรวมยังคงอ่อนแอก็ตาม แม้ว่าการซื้อสินทรัพย์รอบ 2 ของเฟดจะประสบความสำเร็จในการทำให้อัตราดอกเบี้ยจำนองโดยรวมลดลง แต่มาตรฐานสินเชื่อมีความเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งทำให้บุคคลรายย่อยที่มีระดับความน่าเชื่อถือต่ำไม่สามารถได้รับเงินกู้ โดยนายเบนยังกล่าวอีกว่า เขาต้องการให้ธนาคารต่างๆ พยายามปรับหนี้ด้อยคุณภาพตามที่เหมาะสม ซึ่งถ้าเป็นไปไม่ได้ ธนาคารก็ควรเร่งดำเนินกระบวนการยึดทรัพย์สินเพื่อสะสางหนี้ในตลาด
กำลังโหลดความคิดเห็น