xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนทั่วโลกจ่อลดน้ำหนักหุ้น HSBCเผยผลสำรวจ"ญี่ปุ่น"เริ่มเตะตา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - HSBC เผยตลาดหุ้นทั่วโลกยังผันผวน ผู้จัดการกองทุนกว่าครึ่ง ยังมองตลาดหุ้นเกิดใหม่น่าลงทุนในไตรมาส 2 แต่การลงทุนไม่หวือหวา จ่อลดน้ำหนักมาเป็นระดับปานกลาง จากให้น้ำหนักเต็ม ขณะที่กระแสเงินลงทุนทั่วโลก พบไตรมาสแรก เพิ่มขึ้นกว่า 134 พันล้านเหรียญสหรัฐ

นายบรูโน ลี ผู้อำนวยการบริหาร แผนกบริหารความมั่งคั่ง ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ธนาคารเอชเอสบีซี เปิดเผยถึงผลสำรวจความคิดเห็นบริษัทจัดการกองทุนรวมครั้งล่าสุด พบว่า ผู้จัดการกองทุนเกิน 4 ใน 10 ราย หรือร้อยละ 44 ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นในไตรมาส 2/54 ขณะที่อีกร้อยละ 44 ปรับมุมมองความน่าสนใจของหุ้นมาเป็นปานกลาง เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกที่ผู้จัดการกองทุนทั้งหมดให้น้ำหนักลงทุนในหุ้น

ทั้งนี้ ในทางกลับกัน ผู้จัดการกองทุนร้อยละ 13 มองตลาดพันธบัตรน่าลงทุน และสนใจการถือครองเงินสดในไตรมาส 2/54 เทียบกับไตรมาสก่อนที่ไม่มีรายใดเลยที่ให้น้ำหนักลงทุนในตลาดพันธบัตร และถือเงินสด

“ในขณะที่ผู้จัดการกองทุนส่วนหนึ่งมีแผนที่จะกระจายเงินลงทุนไปยังตลาดพันธบัตรและถือเงินสด แต่อีกร้อยละ 44 มองว่าหุ้นยังน่าลงทุน ซึ่งสะท้อนถึงศักยภาพของการลงทุนในหุ้นที่ยังคงให้ผลตอบแทนค่อนข้างดีและมีสภาพคล่องสูง ในช่วงหลายเดือนมานี้ ปัญหาเงินเฟ้อซึ่งเสมือนเป็นเมฆทะมึนที่แผ่ปกคลุมไปทั่วกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเติบโตเร็ว และเป็นข้อกังวลใหม่ของตลาดที่พัฒนาแล้วอย่างภูมิภาคยุโรป ทำให้เกิดความผันผวนระยะสั้นในตลาดหุ้น และกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน”

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการกองทุนเกินกว่าครึ่งหนึ่ง เห็นว่า หุ้นญี่ปุ่น ร้อยละ 56 และหุ้นในตลาดเกิดใหม่ ร้อยละ 56 มีโอกาสทำกำไรได้ดี เทียบกับร้อยละ 38 และร้อยละ 75 ของไตรมาส 1/54 ตามลำดับ และพบว่า ผู้จัดการกองทุนกว่าครึ่งหนึ่งเลือกที่จะคงน้ำหนักการลงทุน ร้อยละ 44 หรือลดน้ำหนักการลงทุน ร้อยละ 11 ในตลาดหุ้นอเมริกาเหนือในไตรมาส 2/54 เทียบกับไตรมาสก่อนที่ทุกรายให้น้ำหนักการลงทุน

"ผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่ มองว่า หุ้นในตลาด Greater China ร้อยละ 75 เทียบกับร้อยละ 43 ในไตรมาส 1/54 พันธบัตรเอเชีย ร้อยละ 71 เทียบกับ ร้อยละ 0 และพันธบัตรในตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกที่ให้ผลตอบแทนสูง ร้อยละ 75 เทียบกับร้อยละ 33 ในไตรมาส 2/54 มีความน่าสนใจลงทุนในระดับปานกลาง"

ทั้งนี้ หุ้นในตลาดเกิดใหม่น่าจะมีศักยภาพการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น และมูลค่าหลักทรัพย์จะยังคงน่าสนใจในอีก 5 ปีข้างหน้าในภาวะการเติบโตเศรษฐกิจโดยรวมเช่นนี้ ในขณะที่ปัญหาเงินเฟ้อกำลังบั่นทอนความเชื่อมั่นในการลงทุนประเภทต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก นักลงทุนจำเป็นต้องคว้าโอกาสจากการฟื้นตัวของญี่ปุ่น ทั้งนี้ในระยะสั้น มาตรการที่เข้มงวดของรัฐบาลจีน และความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ จะเป็นเหตุให้เกิดความผันผวนของตลาด แต่นักลงทุนก็สามารถกระจายการลงทุนไปในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค เทคโนโลยี และเครื่องจักร ซึ่งมีแนวโน้มได้รับผลกระทบที่น้อยกว่าจากนโยบายของทางการจีน

ณ สิ้นไตรมาส 1/2554 ปริมาณเงินลงทุนภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทจัดการกองทุนทั้ง 13 แห่งที่ร่วมในการสำรวจครั้งล่าสุดอยู่ที่ 4.35 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 17.1 ของประมาณการปริมาณเงินลงทุนที่มีอยู่ทั่วโลก

สำหรับกระแสเงินลงทุนทั่วโลกในไตรมาส 1/54 ผลการสำรวจพบว่า ปริมาณเงินลงทุนภายใต้การบริหารจัดการเพิ่มขึ้น 134 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.18 จากไตรมาส 4/53 โดยกองทุนเกือบทั้งหมดมีปริมาณเงินเพิ่มขึ้น ยกเว้นกองทุนที่ลงทุนในตลาดเงิน ทั้งนี้ กองทุนที่ลงทุนในตลาดเงินมีปริมาณเงินลดลง 3.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนกองทุนพันธบัตรมีสัดส่วนเกินกว่า 1 ใน 3 หรือคิดเป็นร้อยละ 37 ของการเติบโตของปริมาณเงินภายใต้การบริหารจัดการทั้งหมดในไตรมาส 1/54 โดยมียอดเงินสูงขึ้น 49.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่กองทุนหุ้นมีปริมาณเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 41.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 31 ของการเติบโตของปริมาณเงินภายใต้การบริหารจัดการในไตรมาส 1/54

นายลี กล่าวต่อไปว่า ไตรมาสแรกของปีนี้ มีปริมาณเงินทุนไหลเข้ากองทุนพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เงินทุนที่ไหลเข้าสู่ตลาดพันธบัตรเกิดใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูง เนื่องจากนักลงทุนมองหาผลตอบแทนจากตลาดพันธบัตรในภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำ

ส่วนกองทุนหุ้น พบว่า มีปริมาณเงินทุนไหลออกเนื่องจากนักลงทุนเริ่มระมัดระวัง ซึ่งเป็นผลจากความกังวลว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอาจไม่แน่นอนและมีความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ

“ความผันผวนของตลาดยังคงฉายให้เห็นภาพของการลงทุนในขณะนี้ เนื่องจากสถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นักลงทุนจึงจำเป็นต้องตื่นตัวเพื่อรับความเสี่ยงและโอกาสในการลงทุน โดยหมั่นตรวจสอบพอร์ตลงทุนของตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าตนเองได้กระจายการลงทุนอย่างสมดุล ตามระดับการยอมรับความเสี่ยงและเป้าหมายการลงทุนของแต่ละราย”
กำลังโหลดความคิดเห็น