xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหากรีซกดตลาดเอเชียช่วงสั้น บลจ.จับตาปัจจัยลบรุมเร้าตลาดเงินโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชัยเกษม วัฒนศิริพงษ์
อเบอร์ดีน ระบุ ปัญหาหนี้กรีซ อาจกระทบตลาดหุ้นเอเชียผันผวนในช่วงสั้น ขณะที่ จีน อินเดีย ยังเจอปัญหาเงินเฟ้อสูง ชี้ อาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้งในปีนี้

นายชัยเกษม วัฒนศิริพงษ์ หัวหน้าฝ่ายจัดจำหน่ายกองทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อเบอร์ดีน จำกัด กล่าวว่า ปัญหาหนี้ของประเทศในยูโรโซนที่กำลังรุนแรงอยู่ในขณะนี้โดยเฉพาะในประเทศกรีซนั้น อาจส่งผลกระทบต่อตลาดในภูมิภาคเอเชียได้หาก ปัญหาในยูโรโซนยังไม่จบลงง่าย โดยในระยะสั้นอาจทำให้ตลาดผันผวนและส่งผลต่อความไม่มั่นในของนักลงทุน อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียยังคงเป็นตลาดที่น่าสนใจ เงินลงทุนยังคงอยู่ในตลาดเอเชีย ดังนั้นหากมีความชัดเจนในการแก้ปัญหาหนี้ของยูโรโซนแล้วจะส่งผลดีต่อภูมิภาคเอเชีย

ทั้งนี้ สำหรับประเทศจีน และอินเดียนั้น ขณะนี้กำลังเจอปัญหาในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ตลาดหุ้นมีความผันผวนบ้างในช่วงนี้ ซึ่งรัฐบาลทั้งสองประเทศอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้งในปีนี้ แม้ว่าทางภาครัฐบาลอาจจะไม่อยากปรับขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวลงไป

"จากปัจจัยในเรื่องวิกฤติหนี้ของกรีซนั้นหากลบลงหรือมีการแก้ปัญหาได้ ก็จะเห็นตลาดหุ้นในเอเชียปรับตัวขึ้นได้ ขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ก็ยังไม่มีความชัดเจน ดังนั้นหากมองในข้างหน้าจากนี้ ตลาดอาจมีการผันผวน และวิ่งไปในลักษณะ ไซด์เวย์" นายชัยเกษม กล่าว

สำหรับกองทุน ของอเบอร์ดีนที่ลงทุนในจีนและอินเดียตั้งแต่ต้นปียังให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนี แม้ตลาดจะมีความผันผวน โดยกองทุนเปิด อเบอร์ดีน ไชน่า เกทเวย์ ฟันด์ ล่าสุดมีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ 3.95% เทียบกับดัชนี MSCI Zhong Hua Index อยู่ที่ -0.11% ส่วนกองทุนเปิด อเบอร์ดีน อินเดีย โกรท ฟันด์ มีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ 5.00% เทียบกับดัชนี อยู่ที่ -0.44%

เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทย ที่ยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างประเทศด้วยเช่นกันรวมถึงปัญหาการเมืองในประเทศในช่วงการเลือกตั้งด้วย แต่ในส่วนของกองทุนที่ลงทุนในหุ้นไทยทั้ง กองทุนเปิด อเบอร์ดีน โกรท กองทุนเปิด อเบอร์ดีน สยาม ลีดเดอร์ส และ กองทุนเปิด อเบอร์ดีน สมอลแค็พ ยังให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนี โดยยังเน้ลงทุนในกลุ่ม อุปโภคบริโภค กลุ่มการเงิน และกลุ่มประกัน

ด้านรายงานข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง จำกัด เปิดเผยว่า จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้สาธารณะของกลุ่มสหภาพยุโรป ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นสำคัญที่เข้ามามีผลกระทบต่อตลาดการเงิน ที่ส่งผลให้ค่าเงินยูโร/ดอลลาร์ปรับตัวผันผวนค่อนข้างมาก โดยยูโรอ่อนค่าปรับลดลงต่ำกว่าระดับ 1.40 ยูโร/ดอลลาร์ และได้ปรับแข็งค่าขึ้นมาทะลุ 1.46 ยูโร/ดอลลาร์ โดยเฉพาะประเทศกรีซ ที่โดนสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงอย่างต่อเนื่อง จากความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ที่มีมูลค่าค่อนข้างสูง ประมาณ 3.40 แสนล้านยูโร หรือ 150% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ส่งผลให้อันดับความน่าเชื่อถือปัจจุบันของกรีซอยู่ในระดับขยะ (Junk)

โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2554 S&P ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซลง 3 ขั้น สู่ CCC จาก B ซึ่งกรีซเป็นชาติแรกที่ถูก S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือไปถึงระดับนี้ โดยตารางด้านล่างนี้แสดงให้เห็นถึงการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างต่อเนื่องจาก 3 สถาบันชั้นนำของโลกตั้งแต่เดือนเมษายน 53 จนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ช่วงที่ผ่านมานั้น ตลาดเกิดความคลุมเครือและวิตกกังวลว่า กรีซจะเกิดการผิดนัดชำระหนี้ที่จะครบกำหนดในเร็วๆ นี้ หรือต้องเกิดการปรับโครงสร้างทางการเงินหากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากอียูและไอเอ็มเอฟ ส่งผลให้ตลาดการเงินค่อนข้างผันผวนจากปัญหาค้างคาดังกล่าว แต่ความชัดเจนก็เริ่มปรากฏขึ้นให้ตลาดคลายความวิตกกังวลลงบ้าง

อย่างไรก็ตาม อียูและไอเอ็มเอฟระบุว่า กรีซจะได้รับการช่วยเหลือทางการเงินครั้งใหม่ก็ต่อเมื่อรัฐบาลกรีซรักษาสัญญาเรื่องการออกมาตรการรัดเข็มขัดเพิ่มเติม และการเร่งรัดการแปรรูปวิสาหกิจเป็นเอกชน โดยมาตรการให้ความช่วยเหลือครั้งใหม่นี้จะนำมาใช้แทนที่มาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินรอบแรกที่มีวงเงิน 1.10 แสนล้านยูโรที่บรรลุข้อตกลงในปีก่อน

ทั้งนี้ รัฐบาลกรีซคาดว่า รัฐสภาจะลงมติต่อร่างกฎหมายปรับลดงบประมาณรายจ่ายระยะกลางภายในปลายเดือนมิถุนายนนี้ แต่จากการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือล่าสุดโดย S&P นั้น ส่งผลกระทบต่อรัฐบาลของกรีซ ที่กำลังพยายามผลักดันมาตรการรัดเข็มขัดให้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาเช่นกัน และต้องเผชิญกับการคัดค้านของประชาชนอย่างหนัก ซึ่งจะมีการจัดประท้วงใหญ่ในวันที่ 25 มิถุนายนนี้

นอกจากนี้ คงต้องรอความชัดเจนเพิ่มเติมในการประชุมสุดยอดในวันที่ 23-24 มิถุนายนนี้ ที่ผู้นำอียูจะหารือกันเกี่ยวกับข้อตกลงใหม่ เนื่องจากในช่วงนี้ผู้นำประเทศสมาชิกอียูและอีซีบียังมีความเห็นขัดแย้งกัน โดยอีซีบีคัดค้านการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับโครงสร้างหนี้กรีซ ขณะที่เยอรมนีและบางประเทศในยุโรปคัดค้านการให้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่กรีซ นอกจากว่าเจ้าหนี้เอกชนจะเข้ามามีส่วนช่วยเหลือกรีซด้วย

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ในช่วงปลายเดือนนี้ถึงต้นเดือนหน้า จะเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญต่อตลาดการเงินค่อนข้างมาก ทั้งจากความชัดเจนว่ากรีซจะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินครั้งใหม่อย่างไร กรีซจะออกมาตรการรัดเข็มขัดมาได้หรือไม่ รวมทั้งการสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงปริมาณรอบ 2 (QE2) ของสหรัฐฯ และแนวโน้มที่จะมีการออกมาตรการอื่นๆ ออกมาต่อหรือไม่ จากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวอยู่ในขณะนี้ รวมถึง ปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม นี้ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้เลย
กำลังโหลดความคิดเห็น