xs
xsm
sm
md
lg

ให้เรตติ้งSCBAMที่‘M2+(tha)’ ฟิทช์เปิดตัวเป็นบลจ.แรกในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฟิทช์ เรทติ้งส์ จัดอันดับเครดิต บลจ. เป็นครั้งแรก ประเดิม "บลจ.ไทยพาณิชย์" ที่อันดับ ‘M2+(tha)’ ซึ่งแสดงถึงการที่บริษัทมีความเสี่ยงต่ำต่อความล้มเหลวในการจัดการด้านการปฏิบัติการและการลงทุน

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ฟิทช์ เรทติ้งส์ได้ประกาศให้อันดับบริษัทจัดการกองทุนภายในประเทศ (National Scale Asset Manager Rating) เป็นครั้งแรกในประเทศไทยแก่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBAM) ที่ ‘M2+(tha)’ ซึ่งเป็นอันดับบริษัทจัดการกองทุนครอบคลุมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกองทุนโดย SCBAM ซึ่งอันดับความน่าเชื่อถือที่ ‘M2+(tha)’ แสดงถึงการที่บริษัทมีความเสี่ยงต่ำต่อความล้มเหลวในการจัดการด้านการปฏิบัติการและการลงทุน เมื่อเทียบกับบริษัทจัดการกองทุนอื่นในประเทศไทย

โดยอันดับบริษัทจัดการกองทุนของ SCBAM สะท้อนถึงการที่บริษัทมีชื่อเสียงที่ดี และเป็นที่รู้จักในธุรกิจการบริหารจัดการกองทุนในประเทศไทยรวมถึงการมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูง SCBAM ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิต ‘AA(tha)’/แนวโน้มมีเสถียรภาพ/‘F1+(tha)’) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายเดียวของบริษัท ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นลำดับ 4 ในประเทศไทย โดย SCBAM ได้ประโยชน์จากการที่ธนาคารไทยพาณิชย์มีสาขาเป็นจำนวนมาก ซึ่งกองทุนรวมภายใต้การจัดการของ SCBAM ส่วนใหญ่ได้ถูกขายผ่านทางสาขาของธนาคารไทยพาณิชย์ นอกจากนี้ ธนาคารยังให้การสนับสนุนด้านสภาพคล่องแก่ SCBAM โดยให้วงเงินเพื่อรักษาสภาพคล่องแก่กองทุนตราสารหนี้กองใหญ่ที่สุดของ SCBAM

นอกจากนี้ อันดับบริษัทจัดการกองทุนของ SCBAM ยังได้พิจารณาถึงการที่บริษัทมีผู้บริหารระดับสูงและบุคลากรทางด้านการจัดการการลงทุนที่มีประสบการณ์ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพในด้านการปฏิบัติงานจากการจัดกลุ่มใหม่ของสายงานการจัดการการลงทุน อย่างไรก็ตาม พนักงานที่ SCBAM มีอายุงานกับบริษัทค่อนข้างสั้น โดยบริษัทมีอัตราการเปลี่ยนแปลงพนักงานค่อนข้างสูงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในปี 2552 SCBAM ได้โอนสายงานบางส่วน ซึ่งรวมถึงการบริหารความเสี่ยง การตรวจสอบและกำกับดูแล และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ไปยังธนาคารไทยพาณิชย์ จากการที่ธนาคารมีความพร้อมสูงทางด้านทรัพยากรและมีนโยบายที่เคร่งครัด ฟิทช์มองว่าการโอนสายงานดังกล่าวเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งในการปฏิบัติงานมากขึ้น

ในขณะที่การบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยงของบริษัท อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายบริหารความเสี่ยงของธนาคารไทยพาณิชย์และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงของ SCBAM ซึ่งให้ความสำคัญในการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญในการบริหารความเสี่ยงด้านการปฏิบัติงานโดยมีการใช้เครื่องมือในการประเมินความเสี่ยง ฟิทช์ยังได้พิจารณาถึงการกำกับดูแลทั้งก่อนและหลังการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท แม้ว่าในส่วนการกำกับดูแลก่อนการซื้อขายหลักทรัพย์ยังต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ IT ในบางขั้นตอน

นอกจากนี้ กระบวนการจัดการการลงทุนของ SCBAM มุ่งเน้นการวิเคราะห์บนปัจจัยพื้นฐาน โดยผสมผสานระหว่างวิธีการวิเคราะห์แบบ top down และ bottom up ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กระบวนการลงทุนในส่วนตราสารหนี้ค่อนข้างคงที่ ในขณะที่กระบวนการลงทุนในส่วนตราสารทุนมีการเปลี่ยนแปลงบางส่วน ฟิทช์เชื่อว่าฝ่ายจัดการการลงทุนตราสารทุนอาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการเพิ่มงานในส่วนของฝ่ายวิเคราะห์ให้ครอบคลุมการวิเคราะห์ในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น การจัดตั้งแผนก asset allocation ขึ้นใหม่ในปี 2552 ทำให้มีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในกลุ่มการจัดการการลงทุนชัดเจนขึ้น ซึ่งแผนกดังกล่าวมีผลงานที่ค่อนข้างดีตั้งแต่มีการจัดตั้งขึ้นมา

ขณะเดียวกัน อันดับบริษัทจัดการกองทุนของ SCBAM ยังมีพื้นฐานมาจากประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นของระบบทั้งในส่วนของ front middle และ back office รวมทั้งจากการที่ SCBAM มีการติดต่อสื่อสารและการให้ข้อมูลแก่ลูกค้าที่สม่ำเสมอและรวดเร็ว และมีรายละเอียดตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ภายใต้กฎข้อบังคับของธุรกิจการบริหารจัดการกองทุนในประเทศไทย และใกล้เคียงกับการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจัดการกองทุนอื่น

นอกจากนี้ อันดับบริษัทจัดการกองทุนยังสะท้อนถึงคุณภาพทางด้านเทคโนโลยีของ SCBAM ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการโอนสายงานด้าน IT ไปยังธนาคารไทยพาณิชย์ คุณภาพของระบบ IT ในส่วนของพอร์ตโฟลิโอการลงทุน บัญชีกองทุนและการคำนวณมูลค่าหน่วยลงทุน รวมทั้งความสามารถของระบบในการรองรับสินทรัพย์ที่มีลักษณะซับซ้อนได้เพิ่มขึ้น หลังจากที่มีการดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบในส่วนดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในไตรมาส 3 ปี 2554 SCBAM มีแผนที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ IT ในส่วนของการวิเคราะห์พอร์ตโฟลิโอการลงทุน กระบวนการซื้อขายหลักทรัพย์ การกำกับดูแลและการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานในการลงทุนในปี 2555

ทั้งนี้ ปัจจัยท้าทายหลักของ SCBAM คือการขยายธุรกิจไปยังบริการหรือกองทุนที่มีค่าธรรมเนียมการจัดการที่สูงขึ้นในขณะที่การแข่งขันมีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มรายได้จากบริการหรือกองทุนที่ไม่ต้องอาศัยสาขาของธนาคารไทยพาณิชย์เป็นช่องทางในการขายเพื่อลดการพึ่งพาธนาคารในระยะยาว นอกจากนี้ ในส่วนของกลุ่มการจัดการการลงทุน แผนก asset allocation ยังคงต้องใช้ระยะเวลาในการสร้างผลงานที่ชัดเจน ปัจจัยท้าทายอื่นของบริษัทยังรวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านเทคโนโลยีในส่วนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ให้เกิดความล่าช้าหรือเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น