xs
xsm
sm
md
lg

ครบรอบ1เดือนธรณีพิโรธ ภาพรวมเศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดยการขาดแคลนไฟฟ้า สาธารณูปโภค รวมไปถึงความเสียหายในโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลให้โรงงานหลายแห่งในพื้นที่โตโฮคุและคันโต ยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้อย่างเต็มที่จนกระทั่งปัจจุบัน ส่งผลให้ตัวชี้วัดภาคการผลิตบางตัวเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง

ผ่านมา 1 เดือนแต่ดูเหมือนความหายนะที่เกิดกับประเทศญี่ปุ่นจะยังไม่คลี่คลาย เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดจากสถานการณ์เหตุแผ่นดินไหววานนี้(11เมษายน) ที่จังหวัด ฟูกุชิมะ และเซนได ซึ่งวัดความรุนแรงได้ 7.1 ริกเตอร์ และยังต้องมีการประกาศเตือนภัยคลื่นยักษ์สึนามิขนาดสูง 1 เมตร ตามบริเวณชายฝั่ง โดยด้านสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาของสหรัฐรายงานว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้มีจุดศูนย์กลางอยู่ห่างจากจังหวัดฟูกุชิมะไปทางใต้ 86 กิโลเมตร ลึกลงไปไม่เกิน 22 กิโลเมตร
ส่วนผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ผ่านพ้นไป 1 เดือนจากรายงาน เบื้องต้นของรัฐบาลญี่ปุ่นได้ประเมินไว้ระหว่าง 16 - 25 ล้านล้านเยน (1.97 - 3.08 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) หรือคิดเป็นร้อยละ 6 ของ GDP แต่อย่างไรก็ดี มูลค่าดังกล่าวมาจากความเสียหายด้านกายภาพที่สามารถประเมินได้โดยตรงเท่านั้น ยังไม่รวมความเสียหายจากด้านอื่นๆ เช่น ภัยจากการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี ผลกระทบในตลาดการเงิน การสูญเสียความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวและนักลงทุน และผลกระทบต่อภาคการผลิตจากการขาดแคลนกระแสไฟฟ้า เป็นต้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ศึกษาถึงผลกระทบของแผ่นดินไหวและสึนามิต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยประมวลจากข้อมูลทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นครบรอบ 1 เดือน พบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

ภาคการผลิตชะงัก
 

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หลังจากที่ภาคการผลิต ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนไฟฟ้า และความเสียหายของโรงงานอุตสาหกรรมแม้ว่าในช่วงต้นเดือนเมษายน บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าจะพยายามกอบกู้สถานการณ์อย่างเต็มที่ แต่ก็ยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการผลิตไฟฟ้าได้อย่างเต็มกำลัง

นอกจากนี้ ทางการญี่ปุ่นเปิดเผยว่าการขาดแคลนไฟฟ้าอาจยืดเยื้อจนถึงสิ้นเดือนเมษายน แต่เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ที่โรงงานไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิที่ยังไม่คลี่คลาย ทำให้เป็นไปได้ว่าการขาดแคลนไฟฟ้าอาจยืดเยื้อออกไปอีก1

โดยการขาดแคลนไฟฟ้า สาธารณูปโภค รวมไปถึงความเสียหายในโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลให้โรงงานหลายแห่งในพื้นที่โตโฮคุและคันโต (พื้นที่ดังกล่าวมีสัดส่วนผลผลิตภาคอุตสาหกรรมประมาณร้อยละ 33 ของทั้งประเทศ) ซึ่งประกอบด้วยโรงงานอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ ยาและเวชภัณฑ์ และอาหาร เป็นต้น ยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้อย่างเต็มที่จนกระทั่งปัจจุบัน ส่งผลให้ตัวชี้วัดภาคการผลิตบางตัวเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง
 

การส่งออกชะงัก
 

การหยุดชะงักของภาคการผลิตภายในประเทศ ส่งผลกระทบให้การส่งออกของญี่ปุ่นสะดุดลง ส่วนคู่ค้าต่างประเทศก็เริ่มขาดแคลนสินค้าทุนที่ต้องสั่งซื้อจากญี่ปุ่น เช่น กล่อง ECU หัวเทียน Memory Chip เป็นต้น ส่งผลให้ราคาสินค้าทุนสูงขึ้นแล้วในหลายอุตสาหกรรม เช่น คอมพิวเตอร์ และยานยนต์ เป็นต้น
 

นอกจากนั้น การปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีจากการระเบิดและรั่วไหลของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ก็ยังมีผลให้ความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตรส่งออกของญี่ปุ่นจากบรรดาประเทศคู่ค้าปรับลดลง ดังนั้น ตัวแปรที่สำคัญต่อการส่งออกของญี่ปุ่นในขณะนี้คือสถานการณ์ด้านไฟฟ้า โดยถ้าหากยังไม่สามารถแก้ไขให้ไฟฟ้ากลับมามีใช้อย่างพอเพียง รวมถึงยุติปัญหาที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ ก็อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของญี่ปุ่นในปีนี้ ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่สำคัญ2

กัมมันตรังสีแผ่กระทบท่องเที่ยว

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ รายงานอีกว่า ความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว สึนามิ และการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี มีแนวโน้มว่าอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวได้เป็นเวลาหลายเดือน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางของเกาะฮอนชูซึ่งใกล้กับโรงงานไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ เนื่องจากมีความกังวลเรื่องการตกค้างของสารกัมมันตรังสี ซึ่งแม้การท่องเที่ยวญี่ปุ่นจะมีสัดส่วนไม่มากนัก คือเพียงประมาณร้อยละ 2 ของ GDP แต่ก็มีความเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะวิสาหกิจชุมชน และธุรกิจ SMEs ในท้องถิ่น ซึ่งอาจทำให้ผลจากความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวที่ลดลงกระทบต่อ GDP ของญี่ปุ่นในวงกว้างมากขึ้นได้

ทั้งนี้ จากข้อมูลความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในระยะ 1 เดือนหลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและ สึนามิ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์การเติบโต GDP ของญี่ปุ่นอาจชะลอตัวลงในปี 2554 เหลือร้อยละ 0.8 (YoY) จากเดิมที่รัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์ไว้ก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิที่ร้อยละ 1.5 (YoY) โดย GDP อาจหดตัวลงในไตรมาสแรกของปี 2554 ร้อยละ 0.4 (QoQ) และอาจหดตัวรุนแรงยิ่งขึ้นในไตรมาสที่สองที่ร้อยละ 1.4 (QoQ) แต่อาจขยายตัวเป็นบวกได้ในครึ่งปีหลังจากการเร่งซ่อมแซมความเสียหายในด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ

ดีมานด์พลังงานดันราคาเชื้อเพลิงโลกพุ่ง

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 32.87 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ทำให้ญี่ปุ่นมีแนวโน้มว่าจะต้องนำเข้าพลังงานในรูปแบบอื่นๆ เข้ามาทดแทน ซึ่งทางเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุด ได้แก่การนำเข้าก๊าซ LNG ถ่านหิน และน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูป3 ซึ่งการแก้ปัญหาขาดแคลนพลังงานในญี่ปุ่นโดยวิธีการดังกล่าวอาจส่งผลทำให้ราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลประเภทดังกล่าวในตลาดโลกสูงขึ้น

นอกจากนั้น การที่ญี่ปุ่นจะต้องเร่งก่อสร้างเพื่อฟื้นฟูความเสียหาย ซึ่งอาจเริ่มขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ อาจเป็นปัจจัยผลักดันให้ราคาของเหล็กและทองแดงปรับตัวเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ต่อเหล็ก และทองแดงที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังอาจเป็นปัจจัยเร่งทางอ้อม นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของราคา Coking Coal ที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตเหล็กอีกด้วย

เยนผันผวน

ในช่วง 3 วันแรกหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ (14 - 16 มีนาคม) เงินเยนได้แข็งค่าขึ้นจนทำสถิติใหม่ที่ 76.25 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันที่ 16 มีนาคม 2554 แต่หลังจากที่กลุ่ม G-7 ได้ร่วมกันแทรกแซงค่าเงินเยนเป็นครั้งแรกในรอบกว่าทศวรรษในวันที่ 18 มีนาคม นับเป็นจุดเปลี่ยนทิศค่าเงินเยนที่สำคัญ โดยทำให้เงินเยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงทันทีกว่าร้อยละ 3 และยังมีทิศอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน (8 เมษายน)

ความผันผวนของเงินเยนในระยะนี้เป็นผลจากหลายปัจจัย โดยปัจจัยที่ส่งเสริมการอ่อนค่าของเงินเยน ได้แก่ การคาดการณ์ของตลาดต่อการใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางยุโรป ผนวกกับทิศทางการอัดฉีดเงินเยนเข้าสู่ระบบของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)4 และปัจจัยด้านผลตอบแทนจากการลงทุนในญี่ปุ่นที่ต่ำกว่าตลาดอื่นๆ อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยที่ส่งเสริมการแข็งค่าของเงินเยน ได้แก่ การขายสินทรัพย์ทางการเงินของญี่ปุ่นเพื่อนำเงินเยนเข้าประเทศเพื่อฟื้นฟูความเสียหาย ที่อาจทำให้เงินเยนมีการเคลื่อนไหวผันผวนได้

สรุปแล้ว เหตุการณ์แผ่นดินไหว้ที่ผ่านมาส่งผลกระทบหลักๆ คือการขยายตัวของจีดีพี และการส่งออกเองคงได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของภาคการผลิตที่ขาดแคลนพลังงาน นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบด้านความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตรส่งออกและการท่องเที่ยวในญี่ปุ่นอีกด้วย จนมีผลต่อห่วงโซ่อุปทานในตลาดโลก

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดการณ์ว่า GDP ของญี่ปุ่นอาจชะลอตัวลงในปี 2554 เหลือร้อยละ 0.8 (YoY) โดยอาจหดตัวลงในไตรมาสแรกของปี 2554 ที่ร้อยละ 0.4 (QoQ) และอาจหดตัวรุนแรงยิ่งขึ้นในไตรมาสที่สองที่ร้อยละ 1.4 (QoQ) แต่อาจขยายตัวเป็นบวกได้ในครึ่งปีหลังจากการเร่งซ่อมแซมความเสียหายในด้านโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ
 

นอกจากนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังอาจส่งผลกระทบต่อราคาก๊าซ LNG ถ่านหิน และน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูป จากการนำเข้าเพื่อทดแทนส่วนที่เคยผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ที่เสียหาย อีกทั้งราคาเหล็ก และทองแดงในตลาดโลกอาจสูงขึ้น จากการเร่งก่อสร้างซ่อมแซมความเสียหายในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งอาจยิ่งเร่งการเพิ่มขึ้นของต้นทุนสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกในปีนี้

นี้เป็นเพียงรายจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยหลังจาก 1 เดือนที่ผ่านมาโดยไม่นับรวมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุด อย่างไรก็ตามหากมีการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นแน่นอนว่าในโอกาสหน้าทีมงานจะนำความคืบหน้ามาเผยแพร่อีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น