กรุงเทพประกันชีวิตคาดธุรกิจประกันไทยโตอีกเยอะ เหตุสัดส่วนกรมธรรม์ต่อประชากรน้อย แถม"ภัยธรรมชาติ-การเมือง"ยังเพิ่มความเสี่ยงทางชีวิตมากขึ้น ตั้งเป้าเบี้ยรับรวมโตอีก 20% หลังช่วง 10 ปีที่ผ่านมาโตเฉลี่ย 31% ต่อปี ขณะเดียวกันเดินหน้าหาสินค้าสนองลูกค้าเพิ่ม เน้นตรงความต้องการและครบวงจรทุกด้าน จับมือบริษัทในเครือแบงก์กรุงเทพ ทั้งกรุงเทพประกันภัย บลจ.บัวหลวง ขายสินค้าความคุ้มครอง การออม และการลงทุนในตัว
นายโชน โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการบริษัทกรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจประกันชีวิตของประเทศไทยน่าจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต เนื่องจากสัดส่วนกรมธรรม์ต่อประชากรไทยยังอยู่เพียงแค่ 28% สะท้อนให้เห็นช่องว่างที่จะสามารถขยายตัวได้อีก โดยคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ตั้งเป้าภายใน 3 ปีหลังจากนี้ สัดส่วนกรมธรรม์ข้างต้นน่าจะปรับตัวมาอยู่ที่ 40% ได้ ซึ่งในส่วนของบริษัทเองยังตั้งเป้าการเติบโตของเบี้ยรวมในปีนี้(2554) ให้เติบโตอีกประมาณ 20% หลังจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาบริษัทมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยถึงปีละ 31%
ทั้งนี้ สินทรัพย์รวมของบริษัทในปัจจุบันมีมูลค่า 88,700 ล้านบาท ด้านกรมธรรม์ ในปี 2553 ด้านการยอมรับจากผู้บริโภค ก็ได้รับความไว้ใจอย่างมาก โดยบริษัทมีอยู่เป็นจำนวนถึง 1.11 ล้านกรมธรรม์ คิดเป็นทุนประกันรวม 449,785.31 ล้านบาท
"ในปีที่ผ่านมาธุรกิจประกันโดยรวมโต 14% แต่เราโตมากกว่าซึ่งปัจจัยลบที่มีผลกระทบจะมีทั้งเรื่องของ ภัยธรรมชาติ การเมือง และอัตราดอกเบี้ย แต่ยังได้รับปัจจัยบวกจากการสนับสนุนของภาครัฐในการลดหย่อยภาษีของเบี้ยบำนาญอีก 2 แสนบาท ส่วนปีนี้คปภ.ตั้งเป้าโตอีก 18% และเชื่อว่าน่าจะเป็นไปได้ เพราะความเสี่ยงจากธรรมชาติ และการเมืองทำให้คนตระหนักถึงการทำประกันชีวิตมากขึ้น"นายโชนกล่าว
สำหรับการขยายช่องทางการจำหน่าย นายโชน กล่าวว่า บริษัทนับว่าอยู่ในอันดับ 4 ของธุรกิจประกันชิวิต และมีโอกาสขยายตัวอีก โดยบริษัทจะเน้นขยายทุกช่องทางการจำหน่าย ถึงแม้ที่ผ่านมาการขายผ่านสาขาของธนาคารกรุงเทพจะเติบโตมากขึ้น แต่บริษัทก็ให้ความสำคัญกับตัวแทนจำหน่ายเช่นกัน และมีความพยายามที่จะพัฒนาตัวแทนจำหน่ายให้สามารถเป็นที่ปรึกษากับลูกค้าได้ในทุกสินค้า ซึ่งสัดส่วนเบี้ยใหม่ที่ได้ขายผ่านแบงก์ถึง 80% และผ่านตัวแทนจำหน่าย 20% นั้นไม่ได้มีนัยยะว่าการเพิ่มขึ้นดังกล่าวจะเป็นผลเสียแต่อย่างใด
ด้านนายเรืองศักดิ์ ปัญญาบดีกุล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายการตลาดบมจ.กรุงเทพประกันชีวิต เปิดเผยว่า การทำตลาดในปีนี้ บริษัทจะเป็นผู้นำในการขายที่สามารถสนองตอบความต้องการลูกค้าเฉพาะราย (Solution) ซึ่งปีนี้จะเน้นมากกว่าการนำเสนอผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ทั้งนี้เพื่อสร้างหลักประกันความคุ้มครองทางผลประโยชน์ที่สูงที่สุด ผ่านสินค้าและบริการของกรุงเทพประกันชีวิตเอง รวมถึงผ่านสินค้าของบริษัทที่เป็นพันธมิตร คือธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง
"คำว่าโซลูชันคือเราต้องหาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นกรรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครอง การออม รวมถึงการลงทุน ซึ่งเรามีพันธมิตรในเครือที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่าง กรุงเทพประกันภัยก็จะเชียวชาญด้านคุ้มครอง ขณะที่บลจ.บัวหลวงก็มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุน โดยตอนนี้เรามีตัวแทนจำหน่ายที่มีใบอนุญาตการขายทั้งหน่วยลงทุนและประกันชีวิตแล้วประมาณ 100 คนจากตัวแทนจำหน่าย 10,000 คน และคาดว่าจะสามารถเพิ่มตัวแทนประเภทนี้ได้อีก 50-60 คนต่อปี"นายเรืองศักดิ์กล่าว
ส่วนสินค้าที่จะออกในปีนี้ บริษัทน่าจะมีสินค้าที่เป็นไฮไลท์ออกมาอีก แต่ในส่วนของการออกกรรมธรรม์ในรูปแบบยูนิตลิงค์ และยูนิเวอร์แซลไลฟ์ อาจจะต้องดูหลังจากนี้อีก 2-3 ปี แต่บริษัทคิดว่าการขายทุกอย่างแบบครบวงจรน่าจะครอบคลุมในลักษณะOne-stop-service ให้บริการด้านสินค้าและบริการทางการเงินอย่างครบวงจร แทนที่จะขายประกันชีวิตอย่างเดียว
ขณะที่ นายเสนาะ ธรรมพิพัฒนกุล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายการลงทุนบมจ.กรุงเทพประกันชีวิต กล่าวว่า ในด้านการลงทุนบริษัทยังคงให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับความปลอดภัยของเงินลงทุน เพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถชำระเงินตามเงื่อนไขกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันได้อย่างไม่มีปัญหา แม้ในยามวิกฤติ อีกทั้งภาระที่มีต่อผู้เอาประกันเป็นภาระในระยะยาว ซึ่งอาจมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในอนาคต บริษัทจึงเน้นนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยปัจจุบันมีสัดส่วนการลงทุนในกลุ่มนี้มากกว่า 80% สำหรับการลงทุนในหุ้นสามัญมีสัดส่วนประมาณ 10% ซึ่งส่วนใหญ่เน้นการลงทุนระยะยาว โดยพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก แม้การลงทุนในหุ้นสามัญจะมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาอยู่บ้างเป็นปกติ แต่บริษัทมีระดับเงินกองทุนที่มากพอที่จะรองรับความผันผวนดังกล่าว โดยปัจจุบันมีสัดส่วนเงินกองทุนต่อเงินสำรองประกันชีวิต 15.8% และมีสัดส่วนสินทรัพย์ต่อเงินสำรองประกันชีวิตถึง 128% ด้านการดำรงเงินกองทุนตามมาตรฐานใหม่ (Risk Base Capital - RBC) บริษัทมีความมั่นใจว่าฐานะทางการเงินของบริษัทในปัจจุบันมีความแข็งแกร่งมาก