xs
xsm
sm
md
lg

กองทุน"สินค้าเกษตร"ฟื้น อานิสงส์ดีมานด์สูงดันราคาพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สำรวจผลงานกองทุนต่างประเทศรอบ 1 เดือน สินค้าเกษตรมาแรง หลังราคาพุ่งตามความต้องการทั่วโลกสูงขึ้นตามการฟื้นตัว "ทิสโก้ อากริคัลเจอร์ ยูโร ฟันด์" ของ บลจ.ทิสโก้ โชว์ผลตอบแทน 9.5% พร้อมประเมินปัจจัยหนุนดันราคาวิ่งต่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา กองทุนต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างดี เป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในสินค้าเกษตร สินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงการลงทุนในหุ้นกลุ่มประเทศยุโรปด้วย ทั้งนี้ เป็นผลมาจากความต้องการในสินค้าเหล่านี้เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลก

โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ Emerging Market เช่น ประเทศจีน และประเทศ อื่นๆในทวีปเอเชีย ในขณะที่ยุโรปเอง นักลงทุนเริ่มมั่นใจมากขึ้น ได้มีการจัดตั้งกองทุนสร้างเสถียรภาพด้านการเงินแห่งยุโรปขึ้นมารองรับ ซึ่งจะทำโอกาสของการผิดนัดชำระหนี้ของกลุ่มประเทศยุโรปในระยะสั้นจะอยู่ในระดับต่ำ

ทั้งนี้ จากการรายงานผลการสำรวจผลตอบแทนของกองทุนต่างประเทศ 10 อันดับแรก ณ วันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา พบว่า กองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดเป็นอันดับ 1 คือ กองทุนเปิด ทิสโก้ อากริคัลเจอร์ ยูโร ฟันด์ ภายใต้การบริหารของ บลจ.ทิสโก้ ด้วยผลตอบแทน 9.5% อันดับ 2 . กองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย ยูโร ไฮดิวิเดนด์ ของบลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) ด้วยผลตอบแทน 6.47% อันดับ 3. กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ แพลทตินัม โกลบอล ฟันด์ ของบลจ.ไทยพาณิชย์ ด้วยผลตอบแทน 5.89% อันดับ 4. กองทุนเปิด เค อะกริคัลเจอร์ ของบลจ.กสิกรไทย ด้วยผลตอบแทน 3.48%

อันดับ 5. กองทุนเปิดแอสเซทพลัสนิปปอนโกรท ของบลจ.แอสเซทพลัส ด้วยผลตอบแทน 3.44% อันดับ 6. กองทุนเปิด แมนูไลฟ์ สเตร็งค์ อิเมอร์จิ้ง อีสเทอร์น ยุโรป เอฟไอเอฟ ของบลจ.แมนูไลฟ์ ด้วยผลตอบแทน 2.5% อันดับ 7.กองทุนเปิด ทิสโก้ โกลบอล อิควิตี้ ฟันด์ ของบลจ.ทิสโก้ ด้วยผลตอบแทน 2.45% อันดับ 8. กองทุนเปิด ยูโอบี สมาร์ท คอมโมดิตี้ ของบลจ.ยูโอบี (ไทย) ด้วยผลตอบแทน 2.39% อันดับ 9. กองทุนเปิดทหารไทย ออยล์ ฟันด์ ของบลจ.ทหารไทย ด้วยผลตอบแทน 1.92% และอันดับ 10.กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี อินเวสท์ โกลบอล อะกริบิซซิเนส ด้วยผลตอบแทน 1.91%

ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยรายงานว่า ราคาสินค้าเกษตรยังมีปัจจัยสนับสนุนการปรับเพิ่มขึ้น คือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก จนส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกและทำให้ปริมาณสินค้าเกษตรไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค และเกิดการขาดแคลนขึ้น ดังเช่น ในกรณีของประเทศรัสเซียที่เกิดไฟป่าและภัยแล้ง เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรเสียหายกว่า 10 ล้านเฮคตาร์ หรือ 20% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดภายในประเทศ

โดยเฉพาะผลผลิตข้าวสาลีในรัสเซียลดลงอย่างรวดเร็ว และไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ จนต้องสั่งระงับการส่งออกข้าวสาลี ทำให้อุปทานข้าวสาลีในตลาดโลกปรับลดลง และราคาข้าวสาลีพุ่งสูงขึ้นทันที นอกจากนี้จากผลพวงดังกล่าวยังส่งผลให้สินค้าเกษตรอื่นเช่น ข้าวโพด ราคาสูงขึ้นอีกด้วย
ขณะเดียวกันในปีที่ผ่านมา ความกังวลด้านวิกฤตอาหาร-พลังงานส่งผลให้ปริมาณสต๊อกสำรองของสินค้าเกษตรทุกชนิด เช่น ข้าวสาลี, ข้าวโพด และถั่วเหลืองของแต่ละประเทศลดลง 10-20% ประกอบกับประเทศผู้ผลิตทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากภาวะธรรมชาติที่ผิดปกติ ทั้งปรากฏการณ์ลานิญา-เอลนิโญ รวมถึงการใช้พืชเกษตรอาหารไปผลิตเป็นพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคาสินค้าเกษตรยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องในปี 2011
กำลังโหลดความคิดเห็น