xs
xsm
sm
md
lg

จีน-อินเดีย โอกาสลงทุนในช่วงหุ้นปรับฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย ฑิฆัมพร วิชัยธรรมธร
ผู้จัดการกองทุน บลจ. ทิสโก้


ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนี MSCI CHINA และ MSCI INDIA ลดลงถึงร้อยละ 10.97 และ 4.08 ตามลำดับ เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลต่อการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดของจีนและอินเดีย ภายหลังจากการประกาศเพิ่มอัตราเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Reserve Requirement Ratio) จากร้อยละ 15.5 เป็นร้อยละ 16 ของธนาคารกลางจีน ซึ่งเร็วกว่าการคาดการณ์ของตลาดและเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2551

ในลำดับถัดไป คาดว่าจีนจะทำการปรับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.27 ในช่วงปลายไตรมาสที่หนึ่งหรือต้นไตรมาสที่สอง รวมทั้งการออกมาตรการควบคุมการลงทุนเพื่อลดกำลังการผลิตส่วนเกินและการเก็งกำไรระยะสั้น ในทำนองเดียวกัน มีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารกลางอินเดียจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็วๆนี้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม การลดลงของราคาหุ้นกลับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นจีนและอินเดียด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. การดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดเป็นการลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะฟองสบู่ของสินทรัพย์และความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ

สภาพคล่องส่วนเกินในระบบที่เกิดจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและกระแสเงินร้อนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเก็งกำไรระยะสั้น ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจมีความเสี่ยงของการเกิดภาวะฟองสบู่และความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อมากขึ้นเป็นลำดับ ด้วยเหตุนี้ การดูดซับสภาพคล่องดังกล่าวโดยการใช้นโยบายการเงินหรือมาตรการต่างๆภายใต้กรอบเวลาที่เหมาะสม จึงเป็นการตัดสินใจที่สมเหตุสมผลและจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นในระยะถัดไป

2. ผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของจีนที่มีต่อตลาดหุ้นเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้น

เมื่อพิจารณาผลตอบแทนของดัชนี MSCI CHINA ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2547 พบว่า ผลกระทบต่อตลาดหุ้นของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของจีนจะจำกัดอยู่ในระยะสั้นเท่านั้น ดังเห็นได้จาก อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยหนึ่งวันภายหลังการขึ้นดอกเบี้ยเท่ากับร้อยละ 0.4 ในขณะที่ผลตอบแทนเฉลี่ยภายหลังการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์และหนึ่งเดือนกลับสูงขึ้นร้อยละ 2.8 และ 3.8 ตามลำดับ

ตามคาดการณ์ของธนาคารโลก เศรษฐกิจจีนและอินเดียในปี 2553 จะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 9 และ 7.5 ตามลำดับ โดยการบริโภคและการลงทุนในประเทศยังคงสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไป นอกจากนี้ การส่งออกที่ขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
กำลังโหลดความคิดเห็น