xs
xsm
sm
md
lg

ทิศทางสภาพคล่องปี53 อีกหนึ่งตัวแปรของการปรับขึ้นดอกเบี้ย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้รวบรวมข้อมูลสินทรัพย์สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ในปี 2552 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งประเมินแนวโน้มสภาพคล่องในปี 2553 ดังต่อไปนี้

สภาพคล่องที่วัดจากการเปลี่ยนแปลงของยอดเงินฝากและสินเชื่อ ลดลงเล็กน้อยในเดือนธันวาคม 2552 โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของยอดเงินให้สินเชื่อสุทธิ หลังหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง จำนวน 8.92 หมื่นล้านบาท หรือจากยอดคงค้างจำนวน 5.69 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน มาที่จำนวน 5.78 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่าการเพิ่มขึ้นของเงินฝากจำนวน 6.12 หมื่นล้านบาท จากยอดคงค้างจำนวน 6.44 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน มาที่ 6.50 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2552

 อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์สภาพคล่อง ซึ่งรวมเงินสด เงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น และเงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2552 กลับขยับขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2552 สภาพคล่องดังกล่าวมีจำนวน 2,121.7 พันล้านบาท ปรับขึ้น 7.8 พันล้านบาท จาก 2,113.9 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2552

หลังจากที่ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยได้รับสภาพคล่องเพิ่มเติมจากเงินให้กู้ยืมที่มียอดคงค้างสูงขึ้นค่อนข้างมาก 3.49 หมื่นล้านบาทในเดือนธันวาคม 2552 ตามการปรับสมดุลสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ผ่านการออกตั๋วแลกเงิน และการระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคารขนาดกลางบางแห่ง

 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาในองค์ประกอบหลักของสินทรัพย์สภาพคล่องนั้น พบว่า เงินสดและเงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สวนทางกับเงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้นที่ขยับลดลง

การขยับขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าของสภาพคล่องในความหมายกว้างข้างต้น เกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของสภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดกลาง2 โดยสภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดกลางเพิ่มขึ้นจำนวน 1.69 หมื่นล้านบาท มามียอดคงค้างที่ 5.08 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2552 ขณะที่ สภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่และกลุ่มธนาคารขนาดเล็กลดลงจำนวน 6.02 และ 3.05 หมื่นล้านบาท มามียอดคงค้างที่ 1.399 ล้านล้านบาท และ 2.15 แสนล้านบาท ตามลำดับ

 สภาพคล่องปี 2553...มีแนวโน้มลดลง แต่ก็ยังน่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง

แม้ว่าสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่สูงถึง 2.1 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2552 น่าจะมีปริมาณที่มากพอสำหรับรองรับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่สะท้อนผ่านการขยายตัวของความต้องการสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ในจำนวนหลายแสนล้านบาท

 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า สินเชื่อจะขยายตัวประมาณ 6.0 - 7.0% ในปี 2553 หรือคิดเป็นการปล่อยสินเชื่อใหม่สุทธิกว่า 3.7 แสนล้านบาท ได้ตลอดปี 2553 โดยที่อาจไม่ต้องระดมเงินใหม่เพิ่มเติม อีกทั้งการแปลงสภาพคล่องมาเป็นสินเชื่อ น่าจะส่งผลดีต่ออัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์และความสามารถในการทำกำไรในภาพรวม

ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว การระบายสภาพคล่องออกสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการขยายสินเชื่อดังกล่าว อาจทำให้สภาพคล่องคงค้างปรับตัวลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปริมาณสภาพคล่องในปี 2553 อาจไม่ได้ปรับตัวลดลงมากเท่าขนาดการขยายสินเชื่อ โดยมีสาเหตุจากหลายปัจจัย ได้แก่

ประการแรก การคาดการณ์ของธนาคารพาณิชย์ต่อความรวดเร็วและทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต อันจะมีผลต่อพฤติกรรมการบริหารสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ โดยในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์มีความเชื่อมั่นต่อทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และความต้องการสินเชื่อจากภาคเอกชนที่น่าจะเพิ่มขึ้นชัดเจน ก็อาจทำให้ธนาคารพาณิชย์ตัดสินใจระดมเงินฝากเพิ่มเติม ซึ่งพฤติกรรมเชิงพลวัตรดังกล่าว อาจชะลอการลดลงของสภาพคล่องในภาพรวมได้

 ประการที่สอง การรักษาฐานลูกค้าและส่วนแบ่งตลาด ทั้งระหว่างธนาคารพาณิชย์ด้วยกัน และกับช่องทางการออมอื่นๆ อาทิ พันธบัตรออมทรัพย์ของภาครัฐ และกองทุนรวม ซึ่งอาจกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์เลือกออกผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษ หรือตัดสินใจสู้ด้านราคาของเงินฝาก แม้ว่าสภาพคล่องของตน จะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงก็ตาม 

และ ประการที่สุดท้าย โอกาสการสร้างผลตอบแทนจากสภาพคล่อง โดยเฉพาะท่ามกลางภาวะที่ธนาคารกลางจากทั้งในและนอกประเทศ อาจดำเนินนโยบายการเงินในเชิงที่คุมเข้มมากขึ้นในระยะถัดไป อันหมายความถึงอัตราผลตอบแทนจากสภาพคล่องในรูปเงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้นที่น่าจะเพิ่มขึ้น และอาจสูงกว่าต้นทุนการระดมเงินฝากเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก ที่ไม่รวมเงินฝากโครงการพิเศษที่ปัจจุบันอยู่ในระดับไม่เกิน 1.0%

 
สำหรับนัยของสภาพคล่องต่อการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์นั้น คงต้องยอมรับว่า ในทางปฏิบัติ สภาพคล่องไม่ใช่ตัวแปรเดียวที่กำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ เพราะสิ่งที่ธนาคารพาณิชย์ให้น้ำหนักสำหรับการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย

นอกจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการคาดการณ์ปริมาณสภาพคล่องในเชิงพลวัต โดยเฉพาะที่สืบเนื่องจากความก้าวหน้าและความรวดเร็วในการปล่อยสินเชื่อดังที่กล่าวข้างต้นแล้ว ก็ยังขึ้นกับปัจจัยด้านการแข่งขันด้วย ท่ามกลางภาวะที่ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งมีปริมาณสภาพคล่องในระดับที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ ในกรณีที่ ธปท.อาจพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา โดยเฉพาะเมื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีความต่อเนื่องมาในระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งขณะนี้ ตลาดคาดว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าวอาจเริ่มต้นขึ้นในไตรมาส 3/2553 เป็นต้นไป ผนวกกับแนวโน้มการขยายสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นชัดเจนต่อเนื่อง ก็อาจทำให้ธนาคารพาณิชย์บางแห่งเลือกที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืม ตามการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ขณะที่ ธนาคารพาณิชย์ที่มีสภาพคล่องอยู่ในระดับสูงกว่าอาจเลือกที่จะรอ หรือยืดระยะเวลาการปรับอัตราดอกเบี้ยออกไปก่อน แต่ในระหว่างนี้ ก็อาจเกิดสถานการณ์การทยอยโยกย้ายเงินฝากไปสู่ธนาคารพาณิชย์ที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่า จนทำให้ธนาคารพาณิชย์ที่เหลืออาจต้องทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามในที่สุด เพื่อรักษาฐานลูกค้าและส่วนแบ่งตลาดของตน

 อย่างไรก็ตาม แม้ปริมาณสภาพคล่องจะเป็นเพียงตัวแปรหนึ่งที่กำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ย ขณะเดียวกัน แต่ก็เป็นตัวแปรที่ถูกกำหนดจากบริหารความสมดุลด้านสินทรัพย์และหนี้สิน รวมถึงการตัดสินใจด้านการแข่งขันเพื่อรักษาฐานลูกค้าของธนาคารพาณิชย์

อย่างไรก็ดี ปริมาณสภาพคล่องที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ก็น่าจะมีส่วนช่วยให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นการทั่วไปของธนาคารพาณิชย์ ที่มีโอกาสเห็นภายในปี 2553 นี้ มีลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป มากกว่าที่จะเป็นสงครามราคาที่รุนแรง
กำลังโหลดความคิดเห็น