เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้วกับโครงการ MFC Talent Award ปีที่ 6 ที่จัดโดยบลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสถาบันการเงินผู้ใจดีให้การสนับสนุน 8 แห่ง ซึ่งบรรยากาศภายในงานรวมพลคน Talent เป็นไปอย่างอบอุ่น
โดยมีรุ่นพี่ที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปีที่ 1-5 ร่วมต้อนรับเยาวชนที่ผ่านด่านคัดเลือกสุดหินเข้าร่วมโครงการรุ่นที่ 6 โดยเป็นนิสิตนักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทจำนวน 22 ทีม 66 คน จากมหาวิทยาลัย 7 แห่งทั่วประเทศ
งานนี้...เกิดจากความมุ่งมั่นตอบแทนสังคมของเอ็มเอฟซี ในการร่วมเป็นมันสมองในการสร้างสรรค์โครงการเพื่อช่วยเหลือ และพัฒนาด้านการศึกษา ตลอดจนความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนของประเทศไทย โครงการ MFC Talent Award จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่มุ่งสร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับวงการการศึกษาของสังคมไทย มาตั้งแต่ปี 2547
จากการที่เอ็มเอฟซีเล็งเห็นถึงคุณภาพของบุคลากรที่เป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาตลาดเงินตลาดทุนของประเทศ จึงมุ่งพัฒนา และเพิ่มศักยภาพ สร้างสรรค์มันสมองให้กับเยาวชนระดับอุดมศึกษา ให้มีความรู้ความสามารถในธุรกิจจัดการกองทุนอย่างเพียบพร้อมทั้งด้านทฤษฎีและการปฏิบัติ ตลอดจนจรรยาบรรณในการประกอบอาชีพ เพื่อพร้อมเข้าสู่ตลาดวิชาชีพที่ขยายตัวตามอุตสาหกรรมที่เติบโต และเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาศักยภาพตนเองให้ก้าวไกลสู่โลกการเงินการลงทุนในอนาคต
พิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีนี้มีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการทั้งหมดถึง 336 คนหรือ 112 ทีม จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ก่อนคัดเลือกอย่างเข้มข้นจนได้ผู้เข้าร่วมโครงการ 22 ทีม 66 คน โดยเพิ่มขึ้นจากการจัดโครงการในปีแรกที่มีผู้สนใจสมัคร 190 คน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในเรื่องของตลาดทุนเป็นอย่างมาก
และให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของตนเองก่อนก้าวเข้าสู่วงการวิชาชีพ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีสำหรับการพัฒนาตลาดเงินตลาดทุนของไทย นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการมาจากการกล่าวถึงโครงการแบบบอกกันปากต่อปาก จึงสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของโครงการนี้ด้วย
โดย โครงการ MFC Talent Award จะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านตลาดเงิน ตลาดทุน ที่วงการการเงินต้องเผชิญมาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา โครงการนี้ได้อบรมว่าที่ขุนพลตลาดเงิน ตลาดทุนไปแล้วกว่า 300 คน
โดยปัจจุบัน ประมาณ 40 เปอร์เซนต์ทำงานให้กับสถาบันการเงินต่างๆ 50 เปอร์เซนต์ทำงานให้กับธุรกิจอื่นๆ และอีก 10 เปอร์เซนต์ทำงานข้าราชการหรือศึกษาต่อ
The First Lecture สำหรับเยาวชนคนเก่งของ MFC Talent Award รุ่น 6 ได้รับเกียรติจาก คณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ในการประเดิมให้ความรู้ความเข้าใจในการทำงานในวิชาชีพการเงินนี้ รวมถึงความเคลื่อนไหวของตลาดเงิน ตลาดทุนทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาและปัจจัยต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น ทั้งยังได้ย้ำถึงจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพโดยได้ให้ข้อคิดในการทำงานในวิชาชีพนี้ว่า สิ่งที่จะทำให้ตลาดทุนแข็งแรงประกอบไปด้วย 2 ข้อ
1) ต้องรู้เรื่องทฤษฎี เพราะการวิเคราะห์ต้องอาศัยทฤษฎีเป็นหลัก
2) ต้องมีประสบการณ์การทำงาน เพราะฉะนั้นจึงต้องมีกระบวนการ Learning by doing คือ การที่ให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีประสบการณ์ ในระดับหนึ่งเพื่อที่จะทำงานต่อไปบนพื้นฐานที่ถูกต้องเหมือนอย่างที่โครงการ MFC Talent Award ทำโดยผ่านการเล่น Simulation Game
“ถ้ามองเศรษฐกิจเหมือนต้นไม้หนึ่งต้น ต้นไม้จะโตหรือแข็งแรงไม่ได้ ถ้ารากไม่แข็งแรง ซึ่งการศึกษามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้รากแข็งแรง นั่นจึงเป็นสาเหตุให้เกิดโครงการเพื่อส่งเสริมรากของต้นไม้อย่างโครงการ MFC Talent Award”คณิศกล่าว
...มาฟังประสบการณ์ตรงจากตัวแทนรุ่นพี่ และความตั้งใจของว่าที่ขุนพลการเงินรุ่นใหม่กันต่อ
ปลายณัฏฐ์ แสนคุ้ม ตัวแทนรุ่นที่ 1 ซึ่งปัจจุบันทำงานด้านวิจัยการตลาดในแผนก Customer Relationship Management บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ท้าทาย น่าที่จะได้เข้ามาทดลอง ซึ่งในตอนนั้นก็กำลังค้นหาตัวเองว่าอยากจะทำอะไรต่อไป และเมื่อได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ได้มีโอกาสเข้ารับการอบรม พร้อมทั้งประสบการณ์จากผู้ทรงคุณวุฒิด้านตลาดทุนและตลาดเงิน ซึ่งไม่สามารถหาได้จากตำราเรียน จึงรู้สึกประทับใจและดีใจ โดยเราสามารถนำประสบการณ์และความรู้ที่ได้รับจากโครงการฯ ไปประยุกต์ใช้กับการทำงานของเราได้
เศรษฐา ปวีณอภิชาต ตัวแทนรุ่นที่ 3 ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์การลงทุนอาวุโส ฝ่ายวิจัยและกลยุทธ์การลงทุน บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เล่าว่า หลังเรียนจบด้านวิศวโทรคมนาคมและทำงานประมาณ 3 ปี ก็เริ่มค้นหาตัวเองใหม่ว่าเราต้องการทำอะไร จึงหันเหกลับมาเรียนต่อปริญญาโท ในด้านการเงิน และมีเพื่อนๆ ชวนมาเข้าร่วมโครงการ จึงเป็นจุดหักเหของชีวิต ที่ทำให้ได้รับประโยชน์จากโครงการเยอะมาก และโครงการนี้ก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ตอกย้ำให้เรารู้ว่าเรามาในสิ่งที่ถูกทางแล้ว
ขณะที่รุ่นน้องใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเข้าร่วมโครงการฯ อย่าง ชินรัตน์ สังคะคุณ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า คาดหวังว่า ความรู้ที่ได้รับจะช่วยเติมเต็มในส่วนที่ตนเองยังขาด โดยเฉพาะในเรื่องของการได้ทดลองลงมือปฏิบัติจริง อีกทั้งยังสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตจริงในการทำงานได้อีกด้วย ซึ่งโครงการนี้นับเป็นบันไดขั้นแรกในการเตรียมก้าวสู่สายอาชีพ และทำให้เรารู้ว่าเราพร้อมที่จะเดินต่อไปในทิศทางใด
สุพริศร์ สุวรรณิก จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลังจากเรียนจบอยากจะทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงคิดว่าโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ได้เรียนรู้สิ่งที่ไม่สามารถหาได้จากในห้องเรียน และคาดหวังว่าจะได้รับประสบการณ์ที่ดี ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพได้ในอนาคต
และนี่คืออีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่บลจ.เอ็มเอฟซีตั้งใจอย่างยิ่งที่จะสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ภายใต้แนวคิด “MFC…สร้างสรรค์มันสมองไทย” จากการตระหนักดีว่าการศึกษา คือ รากฐานของการสร้างบุคลากรที่สำคัญของชาติ และระยะเวลาตลอดโครงการอีก 4 เดือนนับจากนี้ จะเป็นอีกหนึ่งช่วงสำคัญในชีวิตของเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการฯ ในปีนี้ทุกคนที่จะได้เก็บเกี่ยวความรู้นอกห้องเรียน และประสบการณ์จริงจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อจะได้เป็นบุคลากรที่เพียบพร้อมไปด้วยคุณภาพของวงการการเงินของประเทศไทยต่อไป