ยะลา – สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายะลา จัดประชุมทางไกลการพัฒนาคุณภาพการศึกษาผ่านระบบสารสนเทศ E-Learning สำหรับครูและโรงเรียนที่มีขนาดเล็ก เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษา
วันนี้ (23 ต.ค.) ที่ห้องประชุมบัวชมพู โรงเรียนบ้านเบตง “สุภาพอนุสรณ์” สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายะลา เขต 3 จัดประชุมทางไกลการพัฒนาคุณภาพการศึกษาผ่านระบบสารสนเทศ E-Learning เพื่อแก้ปัญหานักเรียนที่มีผลการสอบ NT และ ONET ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศ ของโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนขยายโอกาสและมัธยมขนาดเล็ก โดยใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม จากโรงเรียนวังไกลกังวล เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2552 โดยมีนายเอกรัฐ สมจิต รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายะลา เขต 3 และหัวหน้ากลุ่มนิเทศฯ ร่วมรับฟังแนวทางการพัฒนาคุณภาพ การศึกษาดังกล่าว
นายสมศักดิ์ อินทจักร หัวหน้ากลุ่มศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายะลา เขต 3 กล่าวว่า จากการได้ร่วมรับฟังการประชุมทางไกลครั้งนี้ ก็เพื่อนำแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไปปรับใช้ ในการบริหารจัดการการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเขตพื้นที่การศึกษาให้มีประสิทธิภาพ และฝากไปยังโรงเรียนได้นำไปดำเนินการ ดังนี้
ครูสำรวจตนเองว่ามีความถนัด เก่ง และชำนาญในวิชาอะไร เพื่อจะได้นำสื่อการสอนผ่านระบบสารสนเทศ E-learning หรือการใช้วังไกลกังวลเข้าไปช่วยในวิชาที่ตนเองไม่ถนัด ประการที่สอง วิธีการจัดการเรียนรู้ ให้นักเรียนรู้จักการหาความรู้เองทาง โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต หรือวังไกลกังวล ฝึกให้นักเรียนรู้จักประมวลผลความรู้ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และฝึกการคิดวิเคราะห์เองได้
ประการที่สาม สำหรับคุณภาพการจัดการเรียนการสอนที่ดีนั้นมีจุดเน้นตามนโยบาย SP 2 - 3 ด้าน ด้านแรก คือเทคโนโลยีสารสนเทศ ( ICT ) เช่น การสอนทางไกล ห้องสมุด 3 ดี (ICT) ด้านที่สองวิทยาศาสตร์ และสุดท้ายด้านคอมพิวเตอร์
นายสมคิด เพียรกิจ รองผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโต กล่าวว่า เป็นการอบรมที่บอกแนวทางในการใช้สื่อเทคโนโลยีมาช่วยในการจัดการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนมีความสนใจในการเรียนเพิ่มขึ้น ทำให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาได้ง่าย และได้รับความรู้ที่หลากหลายและยังช่วยให้ครูมีแนวทางในการเตรียมการสอน ที่จะส่งผลให้เกิดความรู้กับนักเรียนและครูได้พัฒนาตัวเองในทุกๆ ด้าน
โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ นอกจากนี้เป็นการสร้างความตระหนักให้กับคณะครูในการสร้างเป้าหมายร่วมกัน เพื่อยกระดับการจัดการเรียนรู้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับนักเรียน โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการใช้กระบวนการทำงานแบบ PDCA และในทุกสัปดาห์ก็จะเปิดโอกาสให้คณะครูมีการทำ KM เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการ เพื่อยกระดับจุดเด่น และช่วยกันพัฒนาจุดด้อย