xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนเปิด ตราสารหนี้ ไม่ใช่เงินฝาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ คุยกับผู้จัดการกองทุน
โดย ธีรนาถ รุจิเมธาภาส
กรรมการผู้จัดการ บลจ. ทิสโก้


หลายท่านที่ต้องการผลตอบแทน หรือ ดอกเบี้ยมากกว่าการรับดอกเบี้ยเงินฝากมักจะนำเงิน ไปซื้อหรือลงทุนกับกองทุนเปิดตราสารหนี้ แต่ท่านต้องไม่ลืมครับว่า การลงทุนในกองทุนเปิด ตราสารหนี้ นั้น ไม่ใช่การฝากเงิน ดังนั้น พึงระลึกเสมอว่าผลตอบแทนที่ได้อาจจะเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงไปจากที่ผู้จัดการกองทุนประมาณการณ์เอาไว้ให้ก็ได้ เพราะ

1. ความผันผวนของอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรหรือตราสารหนี้ที่กองทุนมุ่งหมายจะไปลงทุน อย่างเช่น กองทุนเกาหลีสุดฮิต เป็นต้น อย่าลืมนะครับว่าเมื่อท่านนำเงินไปจองซื้อหน่วยลงทุน กองทุนเปิดกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้จัดการกองทุน ซึ่งก็คือ บริษัทจัดการลงทุนถึงจะนำเงินไปซื้อตราสารหนี้ตามที่นโยบายการลงทุนของกองทุนนั้นๆ ได้ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน ฯ ดังนั้น บางครั้งกว่าจะได้เริ่มลงทุนก็ต่อเมื่อได้จดทะเบียนจัดตั้งกองทุนรวมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะมีช่วงเวลาที่ต้องรอสักสองถึงสามวันทำการ หลังจากวันจองซื้อวันสุดท้าย แล้วหากระหว่างที่รอลงทุนนั้นเกิดเหตุการณ์ ที่ส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนของพันธบัตรหรือตราสารหนี้ โดยเฉพาะถ้าผลตอบแทนลดลง กองทุนเปิดนั้นก็อาจจะได้ผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายต่ำกว่าประมาณการณ์ได้

2. การนับจำนวนวันในการลงทุนที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะการลงทุนในกองทุนเปิดที่มีกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน เช่น กองทุนเปิดอายุ 6 เดือน หรือ 1 ปี หรือ 2 ปี เป็นต้น ผู้ลงทุนบางท่านนับจำนวนวันลงทุนโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ตัวเองตีเช็คจ่ายเข้าบัญชีจองซื้อ จนถึงวันสุดท้ายที่ ได้รับเงินสดค่าขายคืนหน่วยลงทุนเข้าบัญชีตนเอง ในขณะที่การคาดการณ์ผลตอบแทนของผู้จัดการกองทุนมักจะนับจากวันที่กองทุนรวมลงทุน (ซึ่งเป็นวันที่กองทุนได้รับอนุมัติจัดตั้ง หลังจากที่ปิดจองซื้อไปแล้ว สองถึงสามวัน) จนถึงวันที่ตราสารหนี้ครบอายุ (ก่อนวันที่จะรับซื้อคืนอัตโนมัติ) นั่นเอง ซึ่งบางครั้งอาจจะติดวันหยุดทำการก็ทำให้วันรับซื้อคืนขยับออกไปอีกนิดหน่อย ถ้าเป็นกองทุนที่มีอายุยาวหน่อยก็อาจจะไม่เห็นถึงความต่าง แต่ถ้าเป็นกองทุนที่อายุต่ำกว่าหนึ่งปี เช่น หกเดือน ก็คงจะเห็นอัตราผลตอบแทนต่างกันบ้างไม่มากก็น้อย

แม้ว่าตอนที่บริษัทจัดการกองทุนเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก จะมีการทำประมาณการณ์ผลตอบแทนให้ผู้ซื้อหรือตัวแทนจำหน่ายดู ก็ด้วยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้เห็นเป็นแนวทางว่าผลตอบแทนที่กองทุนหรือผู้ลงทุนจะได้รับเป็นเท่าไร เท่านั้นไม่ใช่การค้ำประกันผลตอบแทน เหมือนเราไปฝากเงินที่ธนาคาร ซึ่งธนาคารจะประกาศอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ว่าตอนนี้จ่ายที่อัตราเท่าไรแล้ว และถ้าท่านไปฝากเงินวันนั้น ก็ต้องได้ดอกเบี้ยตามที่ประกาศ แต่ถ้าท่านไปฝากวันถัดๆ ไป แล้วเกิดธนาคารเค้าประกาศ เปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยโดยดอกเบี้ยใหม่ที่ให้ลูกค้าน้อยกว่าเมื่อหลายวันก่อนหน้า ท่านก็คงไปเรียกร้องอัตราดอกเบี้ยเดิมไม่ได้เช่นกัน เพียงแต่ที่ผู้ฝากเงินกับรู้สึกเหมือนเงินฝากนั้นมีความแน่นอน ก็เพราะธนาคารไม่ได้ปรับดอกเบี้ยกันบ่อยนัก

ดังนั้น ถ้ารู้เช่นนี้แล้ว ผมก็ขอเรียนให้ท่านทราบว่า การซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนเปิดที่มีระยะเวลากี่เดือนหรือกี่ปี ก็ตาม จงพิจารณาผลตอบแทนที่คาดการณ์เป็นตัวแปรประกอบการตัดสินใจเท่านั้นพอ ถ้าท่านพอใจกับผลตอบแทนที่แม้ว่ากว่าจะได้ตั้งกองทุนแล้วผลตอบแทนจะผิดเพี้ยนไปบ้าง ก็มักจะมาจากเหตุสุดวิสัยทั้งสิ้น เพราะถ้าผู้จัดการไปซื้อตราสารหนี้มาได้ผลตอบแทนเท่าไร ก็ต้องให้กองทุนเท่านั้น ตามสภาพจริงๆ ครับ ในทางตรงกันข้าม หากได้ดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนที่ดีกว่าที่ประมาณการณ์ผลตอบแทนนั้น ก็ยังเป็นของผู้ลงทุนอยู่ดี แต่แม้ว่าผลตอบแทนจะเปลี่ยนแปลงได้ ผมก็เชื่อว่ากองทุนตราสารหนี้ ก็ยังเป็นหนึ่งในใจของผู้ที่ไม่ชอบความผันผวนอยู่ดี โดยเฉพาะกองทุนเกาหลีที่ยังให้ผลตอบแทนที่ไม่ว่าจะเพี้ยนยังไง ผลที่ได้ออกมาก็ดีกว่าการซื้อตราสารหนี้ภาครัฐในไทยอยู่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 อยู่นั่นเอง ขออย่างเดียวอย่าลืมว่าการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ไม่ใช่การฝากประจำก็แล้วกันครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น