xs
xsm
sm
md
lg

จับตาคุมแบงก์ใหญ่-บริษัทเรตติ้ง แนะรัฐใช้วิกฤตเป็นบทเรียนหลังศก.ฟื้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บิ๊กสมาคมตลาดตราสารหนี้ คาดบทเรียนหลังวิกฤตดันสหรัฐคุมแบงก์ใหญ่-บริษัทเรตติ้งเข้มงวด เหตุเป็นต้นตอของวิกฤตที่เกิดขึ้นทั้งหมด พร้อมแนะภาครัฐใช้ความผิดพลาดเป็นบทเรียน เชื่อเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปแต่สหรัฐยังน่าเป็นห่วง


นายณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจในรอบนี้ เชื่อว่าคงต้องมีการเปลี่ยนแปลงในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของการควบคุมกำกับดูแลสถาบันการเงิน และธุรกรรมทางการเงิน การลงทุน และตราสารต่างๆ เนื่องจากวิกฤตที่เกิดขึ้นนั้นมาจากสถาบันการเงินขนาดใหญ่ มาจากตราสารทางการเงินต่างๆที่พัฒนาไปอย่างซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นการทำ Securitization หรือ Derivatives ต่างๆ ที่มีการทำกันมากและการควบคุมที่ยังไม่เข้มงวดพอจึงทำให้เกิดปัญหาและลุกลามกลายเป็นวิกฤตขึ้นมาในที่สุด
นอกจากนี้กรณีของสถาบันการเงิน ซึ่งในอดีตการกำกับควบคุมจะจับตามองเฉพาะแบงก์ขนาดเล็กว่ามีความเสี่ยง จะไม่ค่อยให้ความสนใจกับแบงก์หรือสถาบันการเงินขนาดใหญ่ เพราะคิดว่ามั่นคง แต่วิกฤตที่เกิดขึ้นมาในรอบนี้ กลายเป็นว่า เกิดกับสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ที่ล้มหรือย่ำแย่อย่างหนักที่เพิ่งครบรอบ 1 ปีไปก็คือ กรณีการล้มของ เลห์แมนบราเธอร์ส แล้วก็ตามมาด้วย AIG และอีกหลายๆสถาบันการเงินขนาดใหญ่ตามมาเป็นลูกโซ่
“ในหลายกรณี สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่หลายแห่งที่เติบโตขึ้นมานั้นเกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการจนกระทั่งมีขนาดใหญ่ รวมทั้งสถาบันการเงินหันมาทำธุรกิจการบริหารทรัพย์สินของลูกค้ากันมากขึ้นและใช้วิธีการกู้ยืมเงินในตลาดเงินระยะสั้นเพื่อมาลงทุนในตราสารระยะยาว ฉะนั้นเมื่อตราสารหนี้ประเภท Mortgage-backed และ CDOs มีปัญหาแบงค์ก็มีปัญหาตามไปด้วย"นายณัฐพลกล่าว
สถาบันประกันเงินฝากยังสามารถที่จะคุ้มครองได้ แต่หากเป็นสถาบันขนาดใหญ่ที่มีเงินฝากมากเกินกว่าที่สถาบันประกันเงินฝากจะดูแลได้ สุดท้ายก้ต้องใช้เงินภาษีประชาชนเข้าไปอุ้ม ดังนั้นแนวโน้มจากนี้ไปเชื่อว่าจะมีการปรับปรุงการกำกับดูแลเช่น อาจมีการเก็บภาษีในรูปแบบของ Asset Size Tax เพิ่มมากขึ้น โดยหากแบงก์ยิ่งมีขนาดใหญ่ต้องถือว่ายิ่งมีความเสี่ยงสูง จึงควรต้องเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้นเป็นต้น
นายณัฐพล กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นนวัตกรรมทางการเงินที่นำมาใช้กันจนสุดโต่งทำให้ตราสารใหม่ๆที่ออกมาเสนอขายในตลาดมีความเสี่ยงแฝงที่นักลงทุนไม่ได้คาดคิดมาก่อน แม้แต่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือเองก็ยังถูกตั้งข้อสงสัยในวิธีการจัดอันดับ เพราะตราสารคุณภาพต่ำ BBB BBB- หรือ BB เมื่อนำมารวมกันแล้วแต่งตัวเสียหน่อยกลายเป็นว่าสามารถขยับเรทติ้งขึ้นมาเป็น AA หรือ AAA ได้ซึ่งตรงนี้มองว่าอนาคตเริ่มมีข้อเสนอให้มีการควบคุมดูแลบริษัทเรทติ้งเอเยนซี่ทั้งหลายอย่างเข้มงวดมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา
นอกจากนั้นการออกตราสารอนุพันธ์ที่ส่วนใหญ่ซื้อขายกันในตลาด OTC อาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกันเพราะแต่เดิมธุรกิจพวกนี้มักทำกันนอกงบดุลทำให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศไม่มีข้อมูลที่แน่นอนว่าธุรกรรมทางด้านอนุพันธ์มีขนาดใหญ่โตเพียงใด จนกระทั่งเกิดปัญหาวิกฤตขึ้นและส่งผลกระทบไปทั่วโลก ตอนนี้ก็เริ่มมีแนวคิดที่จะควบคุมธุรกิจพวกนี้มากขึ้น เช่นอาจจะต้อง Clearing และ Settlement ผ่านศูนย์กลางเป็นต้น การกำกับที่เพิ่มมากขึ้นทำให้คาดได้ว่าการขยายตัวในอนาคตน่าจะชะลอตัวลงกว่าที่เป็นมาในอดีต
“สำหรับผลกระทบหรือการเปลี่ยนแปลงสำหรับตราสารหนี้ของไทยนั้น เนื่องจากบ้านเราที่ผ่านมายังต้องถือว่าอยู่ในช่วงของการพัฒนาตลาดตราสารหนี้และตราสารอนุพันธ์ ขนาดของธุรกรรมจึงยังไม่ซับซ้อนมากเหมือนในต่างประเทศ เชื่อว่าผลกระทบจึงอาจจะไม่มากนัก แต่จากบทเรียนที่เกิดขึ้นกับวิกฤตรอบนี้ ก็เป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่า มีความเสี่ยงอะไรบ้างที่ควรจะต้องระวัง เวลาที่เราพัฒนาตลาดพัฒนาตลาดตราสารหนี้และอนุพันธ์ ภาครัฐจึงควรวางแนวทางในการกำกับดูแลที่เหมาะสมเพื่อที่จะได้ป้องกันความเสี่ยงที่ได้เห็นมาแล้วจากวิกฤตรอบนี้นั่นเอง”นายณัฐพลกล่าวในที่สุด"นายณัฐพลกล่าว
ส่วนกรณีของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังคงมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่บ้างว่าจะฟื้นตัวในลักษณะใดนั้น นายณัฐพล กล่าวว่า ประเด็นสำคัญน่าจะไม่ได้อยู่ที่รูปแบบการฟื้นตัว เพราะมองว่าการฟื้นตัวน่าจะยังคงเป็นในลักษณะที่ค่อยๆฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐเองยังคงมีปัจจัยเสี่ยงสูง โดยเฉพาะจากเรื่องของการก่อหนี้ที่ค่อนข้างสูง ซึ่งไม่มีความชัดเจนในการหาเงินมาชำระคืนเงินกู้นอกจากจะก่อหนี้ใหม่มาชำระหนี้เก่า
“ดูแล้วเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวอย่างช้าๆมากกว่าที่จะฟื้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นประเด็นที่สำคัญในตอนนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ว่า แล้วหลังจากวิกฤตครั้งนี้จะมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตามมา และเราจะเตรียมตัวรับมือให้เหมาะสมได้อย่างไร มากกว่าที่จะมาวิพากษ์กันว่า เศรษฐกิจจะฟื้นเป็นรูปตัวอะไร”นายณัฐพลกล่าว
ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นทั้งในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจและค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังถูกมองว่าน่าเป็นห่วง หากบริหารจัดการเรื่องการชำระหนี้ไม่ดี เศรษฐกิจสหรัฐก็อาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้อีกรอบหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลให้บรรดาประเทศคู่ค้ารวมถึงประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น