xs
xsm
sm
md
lg

ลงดาบ"มาริษ" เซ่นทียูโดมฯภาคทัณฑ์3ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก.ล.ต. ลงดาบ "มาริษ" สั่งภาคทัณฑ์ 3 ปี พร้อมปรับอีกกว่า 2 แสนบาท หลังพบบริหารกอง "ที ยู โดมฯ" บกพร่อง แฉประเด็นใหญ่ เล่นตุกติก ไม่ทำตามหนังสือชี้ชวน แอบจ่ายค่าสิทธิการเช่าให้ผู้รับเหมาล่วงหน้า 5 งวด เป็นเงิน 808.4 ล้านบาท โดยไม่แจ้งผู้ถือหน่วย ด้านบลจ.ไอเอ็นจี ในฐานะผู้จัดการกองทุนโดนหนัก สั่งปรับเฉียด 2 ล้าน แบงก์นครหลวงไทย โดนหางเร่ด้วย ขณะที่ สปส. ผู้ถือหน่วยรายใหญ่ ยื้อขอดูความผิด ก่อนตัดสินใจฟ้องแพ่ง
นายมาริษ ท่าราบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่มีปัญหามานาน สำหรับกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ที ยู โดม เรสซิเดนท์เชียล คอมเพล็กซ์ หรือกองทุนรวม TU-PF ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด ที่ไม่สามารถจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ถือหน่วยได้ตามหนังสือชี้ชวน ล่าสุด ได้ข้อสรุปจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เรียบร้อยแล้วว่ามีความบกพร่องจริง โดยพบการกระทำที่แสดงถึงการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรู้ ความสามารถ และความระมัดระวังตามสมควรเยี่ยงผู้ประกอบธุรกิจพึงกระทำ ที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นสำคัญ

ดังนั้น สำนักงาน ก.ล.ต. จึงได้ลงโทษด้วยการภาคทัณฑ์นายมาริษ ท่าราบ ในฐานะผู้จัดการกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ ผู้จัดการกองทุนรวม ผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล และผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2552

นอกจากนี้ คณะกรรมการเปรียบเทียบได้มีคำสั่งเปรียบเทียบปรับ บลจ.ไอเอ็นจี 1,925,875 บาท ปรับนายมาริษในฐานะกรรมการผู้จัดการและบุคคลที่ได้รับมอบหมายจาก บลจ.ไอเอ็นจี ให้เป็นผู้จัดการกองทุนรวม TU-PF ซึ่งได้บริหารจัดการกองทุนรวมดังกล่าวจนเป็นเหตุให้ บลจ.ไอเอ็นจีปฏิบัติฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นจำนวนเงิน 231,750 บาท และปรับธนาคารนครหลวงไทยในฐานะผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม TU-PF ที่ไม่ดูแลให้ บลจ.ไอเอ็นจี ปฏิบัติหน้าที่ตามโครงการจัดการกองทุนรวมโดยเคร่งครัด และมิได้รายงานการกระทำของ บลจ.ไอเอ็นจี ต่อ ก.ล.ต. ภายในระยะเวลาที่กำหนด เป็นจำนวนเงิน 421,650 บาท

ทั้งนี้ การลงโทษภาคทัณฑ์ดังกล่าว มาจากการปฏิบัติงานที่บกพร่องหลายประเด็นด้วยกัน ประเด็นแรก โครงการจัดการกองทุนรวม TU-PF ระบุว่า กองทุนรวมนี้จะลงทุนในสิ่งปลูกสร้างซึ่งกำลังจะก่อสร้างขึ้นบนที่ดินซึ่งผู้ให้เช่าทรัพย์สินเป็นเจ้าของ และเมื่อโครงการสร้างเสร็จกองทุนรวมจะเช่าจากผู้ให้เช่าทรัพย์สินเป็นระยะเวลา 30 ปี ก.ล.ต. พบข้อเท็จจริงว่า ที่ดินที่กองทุนรวมจะลงทุนนั้น มีบุคคลอื่นถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้ให้เช่าทรัพย์สิน ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่แตกต่างจากข้อมูลที่ระบุไว้ในโครงการ และมีสาระสำคัญต่อการจัดการกองทุนรวม นายมาริษจึงมีความบกพร่องในการตรวจสอบกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อนายมาริษรับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ร่วมแล้ว ยังดำเนินการให้กองทุนรวม TU-PF จ่ายเงินประกันการปฏิบัติตามสัญญาให้แก่ผู้ให้เช่าทรัพย์สินและผู้รับเหมาก่อสร้าง จำนวน 173.5 ล้านบาท เพื่อผูกพันในข้อตกลงการเช่าทรัพย์สินโดยไม่ได้ขอมติจากผู้ถือหน่วยลงทุนก่อน

โดยการเข้าผูกพันในลักษณะดังกล่าว ทำให้มีความเสี่ยงหากผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินนั้น โต้แย้งการกระทำนิติกรรมที่ก่อให้เกิดภาระผูกพันในทรัพย์สินที่ถือกรรมสิทธิ์ร่วม ซึ่งอาจทำให้กองทุนรวมไม่สามารถลงทุนได้ตามที่โครงการจัดการกองทุนรวมกำหนด และผู้ถือหน่วยลงทุนอาจเสียโอกาสและผลตอบแทนจากเงินลงทุน

ส่วนประเด็นที่ 2 คือ โครงการจัดการกองทุนรวม TU-PF ได้กำหนดเงื่อนไขการลงทุนของโครงการไว้ว่า กองทุนรวม TU-PF จะทำสัญญาเช่าทรัพย์สิน โดยผู้รับเหมาก่อสร้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง และเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จกองทุนรวม TU-PF จึงจะทำสัญญาเช่าระยะยาว และจะชำระค่าเช่าและค่าตอบแทนสำหรับการเช่าทรัพย์สินเป็นเงินประมาณ 841.5 ล้านบาทในวันจดทะเบียนการเช่าสัญญาเช่าระยะยาว แต่ ก.ล.ต. พบข้อเท็จจริงว่า นายมาริษ ได้ตกลงยินยอมให้มีการแก้ไขสัญญาและให้กองทุนรวม TU-PF จ่ายเงินค่าสิทธิการเช่าให้ผู้รับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าเป็นงวด ๆ รวม 5 งวด เป็นจำนวนเงิน 808.4 ล้านบาท ทั้งที่ยังไม่ได้จดทะเบียนการเช่าสัญญาเช่าระยะยาวและการก่อสร้างทรัพย์สินที่เช่านั้นก็ยังไม่เสร็จ

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากโครงการจัดการกองทุนรวมที่แจ้งต่อผู้ลงทุน อีกทั้งยังทำให้กองทุนรวม TU-PF มีความเสี่ยงทั้งในด้านความสามารถในการส่งมอบงานของผู้รับเหมาก่อสร้าง และมีความเสี่ยงว่าหากผู้รับเหมาก่อสร้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จ คู่สัญญาจะคืนเงินที่ได้รับล่วงหน้าให้แก่กองทุนรวม TU-PF หรือไม่

รายงานข่าวระบุว่า การกระทำข้างต้น เป็นการปฏิบัติไม่เป็นไปตามโครงการจัดการกองทุนรวมและมิได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรู้ ความสามารถ และความระมัดระวังตามสมควรเยี่ยงผู้ประกอบธุรกิจพึงกระทำ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อย่างไรก็ดี บลจ.ไอเอ็นจีและนายมาริษ ได้พยายามแก้ไขปัญหาเพื่อลดหรือบรรเทาผลเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับกองทุนรวมและผู้ลงทุน

โดยเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2551 บลจ.ไอเอ็นจีได้แก้ไขเรื่องกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินที่เช่า โดยได้ทำนิติกรรมให้ผู้ให้เช่าทรัพย์สินเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแต่เพียงผู้เดียว และต่อมาเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ บลจ.ไอเอ็นจีได้ดำเนินการให้กองทุนรวม TU-PF จดทะเบียนสิทธิการเช่าสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาเช่าระยะยาว 30 ปี เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 รวมทั้ง บลจ.ไอเอ็นจีไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการเป็นระยะเวลา 5 เดือน และลดค่าธรรมเนียมการจัดการที่เรียกเก็บจริงจากเดิมร้อยละ 0.5 ต่อปี ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ เป็นร้อยละ 0.25 ต่อปี ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ เป็นระยะเวลา 2 ปี 7 เดือน

นางจารุพรรณ อินทรรุ่ง ผู้อำนวยการฝ่ายงานเลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวว่า จากการพิจารณาทั้งหมดแล้ว เราเห็นว่านายมาริษเอง บกพร่องจริง แต่ที่ผ่านมา ตัวเขาเองได้มีความพยายามในการเยียวยาผู้ถือหน่วยแล้ว ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่เรานำมาพิจารณาโทษครั้งนี้ด้วย ดังนั้น บทลงโทษจึงเป็นการภาคทัณฑ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม บทลงโทษครั้งนี้ ยังไม่มีผลต่อตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ หรือใบอนุญาตต่างๆ ที่นายมาริษมีอยู่ โดยสามารถประกอบอาชีพได้ปกติ

ทั้งนี้ ในส่วนของความรับผิดชอบต่อผู้ถือหน่วยที่ได้รับความเสียหายจากกองทุนดังกล่าว เนื่องจากบทลงโทษของสำนักงานก.ล.ต. เป็นบทลงโทษทางอาญา ดังนั้น ผู้ถือหน่วยลงทุนในฐานะที่เป็นเจ้าของกองทุน สามารถฟ้องร้องค่าเสียหายจากบริษัทจัดการได้ หากเห็นว่าตนเองเสียประโยชน์ที่จะได้รับจากที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน

ด้านนายวิน พรหมแพทย์ รองโฆษกสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ซึ่งเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนรายใหญ่ของกองทุน กล่าวว่า การทำหน้าที่ของ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในกรณีของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ทียูโดม ที่ดูแลโดยบลจ.ไอเอ็นจี นั้น เชื่อว่าเป็นการทำไปตามหน้าที่เป็นอย่างดี ซึ่งตอนนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดมากนักว่าคำตัดสินที่ออกมามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง ส่วนการที่ ก.ล.ต.เปิดทางให้ผู้เสียหายสามารถทำการฟ้องร้องในทางแพ่งได้นั้น ในฐานะที่ประกันสังคมเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนรายใหญ่คงจะต้องดูรายละเอียดอีกครั้งว่าจะดำเนินการฟ้องร้องหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น