ในวันที่ 26 สิงหาคม 2552 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการประชุมรอบที่ 6 ของปีเพื่อกำหนดทิศทางนโยบายการเงิน หรืออัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน (อัตราดอกเบี้ยนโยบาย) ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 1.25 หลังจากที่ กนง.ได้มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับดังกล่าวในการประชุม 2 รอบก่อนหน้าในวันที่ 20 พฤษภาคม และ 15 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า กนง.น่าจะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.25 ตามเดิมในการประชุมวันที่ 26 สิงหาคมนี้ รวมถึงในการประชุมอีก 2 รอบที่เหลือของปี เนื่องจากความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจของไทยยังคงมีน้ำหนักอยู่ ถึงแม้ว่าจะเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในบางภาคส่วนแล้ว แต่การฟื้นตัวอย่างทั่วถึงและมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจ น่าที่จะทยอยเกิดขึ้นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่ ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ ยังคงไม่น่าที่จะเป็นประเด็นที่มีน้ำหนักมากจนผลักดันให้ กนง.ต้องเร่งดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดระยะที่เหลือของปีนี้
ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ
นับจากการประชุมรอบก่อนหน้าจนถึงขณะนี้ เครื่องชี้ในบางภาคส่วนเศรษฐกิจ อาทิ การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการบริโภคภาคเอกชน เริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โดยหดตัวในอัตราที่ชะลอลงหรือสามารถกลับมาขยายตัวได้ในไตรมาสที่ 2/2552 หลังจากที่หดตัวแรงในไตรมาสแรก ซึ่ง สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทย คงจะได้ก้าวพ้นจุดที่เลวร้ายที่สุดของวิกฤตเศรษฐกิจในรอบนี้มาแล้ว
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในไตรมาส 2/2552 จีดีพีของไทยอาจหดตัวประมาณร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน (YoY) เป็นอัตราติดลบที่ชะลอลงจากที่หดตัวรุนแรงสุดในรอบ 10 ปีถึงร้อยละ 7.1 ในไตรมาส 1/2552 และหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จีดีพีไตรมาส 2/2552 ที่ปรับฤดูกาล (Seasonally Adjusted QoQ) คงจะเริ่มขยายตัวเป็นบวกได้ประมาณร้อยละ 2.3 ซึ่งจะเป็นการขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส
นอกจากนี้ คาดว่าจีดีพีในช่วงครึ่งปีหลังก็ยังน่าที่จะสามารถรักษาโมเมนตัมการขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้าไว้ได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงส่งจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจากทางการ
อย่างไรก็ตาม เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เพิ่งจะอยู่ในขั้นเริ่มต้น และยังมีความเปราะบางเนื่องจากยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยลบ ทั้งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ยังคงมีชนวนที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งอาจมีผลบั่นทอนความเชื่อมั่นและฉุดรั้งการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศให้ล่าช้าออกไป
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเห็นว่าSTRONG> การดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายที่ระดับอัตราดอกเบี้ยต่ำเช่นปัจจุบัน ควบคู่กับการเร่งผลักดันแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ของรัฐบาล ผ่านการเบิกจ่ายและจัดสรรเงินลงทุนสู่ภาคส่วนต่างๆ จะยังคงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นในการช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นได้อย่างทั่วถึงและมีเสถียรภาพ
ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ
เป็นที่แน่นอนว่า เมื่อเศรษฐกิจแสดงสัญญาณการฟื้นตัวได้ดีขึ้นและมีความต่อเนื่อง ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อคงจะทยอยกลับมามีน้ำหนักและเป็นจุดสนใจเพิ่มมากขึ้นในระยะถัดไป เนื่องจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ คงจะทยอยปรับตัวสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแกนหลักของโลก ขณะเดียวกัน มาตรการบรรเทาค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาลก็จะหมดอายุลงเมื่อเข้าสู่ปี 2553
อย่างไรก็ตาม แรงกดดันเงินเฟ้อที่คงจะมีระดับต่ำในระยะต่อจากนี้จนถึงสิ้นปี 2552 (โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยอาจมีค่าเฉลี่ยอยู่ในกรอบติดลบร้อยละ 0.4-0.9 ในปี 2552) ประกอบกับ การใช้จ่ายในประเทศที่ยังคงมีสภาวะที่อ่อนแอและคงต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าจะฟื้นตัวได้อย่างทั่วถึงทุกภาคส่วน ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า กนง.น่าจะยังมีความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยผ่อนคลายที่ระดับต่ำนี้ต่อไปได้อย่างน้อยจนถึงในช่วงไตรมาส 2/2553 ขณะที่ การปรับทิศอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นขาขึ้น คงจะเกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่ กนง.มีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจในภาพรวมสามารถจะรองรับการดำเนินการดังกล่าวได้ ซึ่งก็คงจะเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางส่วนใหญ่ในโลก
ปรับกลยุทธ์ลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง
นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สำหรับวันที่ 26 สิงหาคม นี้ ที่กนง.จะมีการประชุมเรื่องอัตราดอกเบี้ยโดยคาดว่าก็น่าจะยังคงอยู่อย่างนั้น เนื่องจากว่าภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยก็น่าจะยังอยู่อยู่ในระดับนี้อีกสักระยะหนึ่ง
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันมีการออกพันธบัตรออกมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรออมทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแม้แต่กระทั้งหุ้นกู้เอกชน ก็ออกมาประชันกัน ทั้งนี้ เพื่อระดมทุนและเป็นทางเลือกให้แก่นักลงทุน นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากเอง ก็เริ่มมีการปรับเพิ่มขึ้นมาบ้างแล้ว เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. เองได้มีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้แก่นักลงทุน หรือบางธนาคารเองได้มีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเซฟวิ้งพิเศษเป็นจำนวนมากถึงแม้ว่าจะมีการหักภาษีไปแล้วก็ยังมียอดที่สูงอยู่
ดังนั้น ในครึ่งปีหลังนี้ บลจ. เองจะมีคู่แข่งออกมากมาย ซึ่งจะเห็นได้ว่ากองทุนมันนีมาร์เก็ตเริ่มมีการปรับตัวลดลง และไม่คึกคักเหมือนต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ช่วงครึ่งปีที่เหลือหลังจากนี้แล้ว บลจ. จะต้องหาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่นักลงทุนต่อไป ซึ่งสิ่งที่นักลงทุนจะเข้ามาลงทุนมากขึ้นน่าจะเป็นการเลือกเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือกองทุนเปิดที่มีนโยบายเข้าไปลงทุนในตลาดทุนมากขึ้น ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ก็อาจจะมีการปรับตัวลดลงมาตามลับ
ทั้งนี้ ในส่วนของบริษัทเองได้มีแผนออกกองทุนใหม่ ๆ เพื่อรองรับและเป็นทางเลือกให้แก่นักลงทุนไว้ด้วย โดยบริษัทจะเน้นออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นกองทุนหุ้น หรือเป็นกองทุนรวมต่างประเทศ หรือเอฟไอเอฟ ที่มีเน้นลงทุนในหุ้นมานำเสนอให้แก่นักลงทุนมากขึ้น
โดยในครึ่งปีหลังนี้ บริษัทจะเลือกเข้าไปลงทุนในหุ้นที่เป็นเฉพาะกลุ่มหรือเซกเตอร์เป็นหลัก ซึ่งขณะนี้บริษัทมีกองทุนที่เป็นกลุ่มพลังงานแล้ว และใน 6 เดือนต่อจากนี้ไปบริษัทจะออกกองทุนหุ้นเพิ่มอีก 2 กองทุน โดยจะเลือกหุ้นอีก 2 เซกเตอร์นั้นเอง