xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกไทยผ่านจุดต่ำสุด อิเล็กทรอนิกส์ฟื้น...ข่าวดี!!!ที่มาพร้อมโอกาส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า จากการรายงานข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของไทยล่าสุด โดยกระทรวงพาณิชย์ ในวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา แม้ว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า การส่งออกโดยรวมในเดือนกรกฎาคม 2552 ยังหดตัวในอัตราที่สูงใกล้ๆ กับเดือนมิถุนายน แต่มูลค่าการส่งออกที่ปรับฤดูกาลขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้น ก็น่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้การส่งออกของไทยดีขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนต่อๆ ไป จึงน่าจะสามารถกล่าวได้ว่า การส่งออกในเดือนกรกฎาคมนี้ ได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว

สำหรับสินค้าที่มีการปรับตัวดีขึ้นในเดือนนี้ ได้แก่ กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ จากสินค้าเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ส่วนกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทรงตัวอยู่ที่หดตัวร้อยละ 17.0โดยสินค้าที่มีทิศทางดีขึ้น ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้าและวงจรพิมพ์ แต่คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 1 ของไทย หดตัวสูงขึ้นกว่าเดือนก่อน เนื่องจากการส่งออกไปยังจีนลดลง

ส่วนสินค้าสำคัญที่ยังคงหดตัวสูง อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ จากการส่งออกรถยนต์ โดยเฉพาะรถปิ๊กอัพ แต่การส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์ปรับตัวดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 นอกจากนี้ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรหดตัวสูงขึ้น จากสินค้า เช่น ข้าว ยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย ไก่แปรรูป เป็นต้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแข่งขันในตลาดโลกมีความรุนแรง ซึ่งสินค้าไทยอาจเสียเปรียบในด้านราคาที่สูงกว่าคู่แข่ง

...เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลาดใหม่ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นตลาดที่มีทิศทางดีในช่วงที่ผ่านมา กลับหดตัวสูงขึ้น สวนทางกับตลาดหลักที่ปรับตัวดีขึ้นในเดือนนี้ โดยการส่งออกไปยังตลาดใหม่ติดลบร้อยละ 25.2 จากที่หดตัวร้อยละ 18.2 ในเดือนก่อน เนื่องจากการส่งออกไปยังจีนหดตัวสูงขึ้นมาถึงร้อยละ 21.6 จากที่หดตัวเพียงร้อยละ 3.6 ในเดือนก่อน โดยเป็นผลมาจากการส่งออกที่ลดลงของสินค้าสำคัญ คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และยางพารา ขณะที่สินค้าที่เคยเพิ่มสูงอย่างมากเช่น เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยางและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ก็ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สภาวะที่การส่งออกหดตัวรุนแรงด้วยอัตราที่สูงกว่าร้อยละ 20 ดังเช่นเดือนที่ผ่านๆ มานั้น น่าจะยุติลงแล้ว และจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น โดยมีมูลค่าการส่งออกในแต่ละเดือนสูงกว่า 13,000 ล้านดอลลาร์ฯ จากที่มีมูลค่าเฉลี่ย 11,588 ดอลลาร์ฯ ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกหดตัวในอัตราที่น้อยลงมาที่ประมาณร้อยละ 15 ในเดือนสิงหาคม และเหลือเป็นตัวเลขหลักเดียวในเดือนตุลาคม ก่อนที่จะกลับมาขยายตัวในแดนบวกเป็นครั้งแรกของปีนี้ได้ในเดือนพฤศจิกายน

เหตุผลที่คาดว่าการส่งออกจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในต่างประเทศเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นค่อนข้างชัดเจน โดยตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2/2552 ของประเทศชั้นนำส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3/2552 ยังบ่งชี้การปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคการผลิตและภาคอสังหาริมทรัพย์ แม้ว่าจะมีสัญญาณลบแทรกเข้ามาบ้าง เช่น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของสหรัฐฯ ยังคงลดลง ตัวเลขอัตราว่างงานยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในระยะอันใกล้นี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่รัฐบาลของประเทศชั้นนำ อย่างกลุ่ม G-3 (สหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น) และประเทศจีน นำออกมาใช้ จะยังคงมีผลต่อเนื่องให้เกิดการฟื้นตัวในภาคการผลิตและการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนความต้องการอุปโภคบริโภคสินค้าในประเทศเหล่านี้ให้ขยายตัวดีขึ้น ขณะที่กลุ่มประเทศในเอเชียที่หลายประเทศกลับมาขยายตัวได้ดีกว่าคาดเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) รวมทั้งเอเชียยังเป็นภูมิภาคที่น่าจะฟื้นตัวได้เข้มแข็งกว่าในภูมิภาคอื่นๆ กิจกรรมการผลิตกลับมาดีขึ้นของภูมิภาคเอเชียนี้ จึงน่าจะหนุนให้คำสั่งซื้อสินค้ากลุ่มชิ้นส่วนประกอบที่ไทยส่งออกไปยังเอเชียมีทิศทางที่ดีขึ้น ในฐานะที่ไทยเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนของเครือข่ายการผลิตในภูมิภาค

สินค้าที่มีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้ก่อนคาดว่าจะเป็นกลุ่มสินค้าสำหรับผู้บริโภค เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย นอกจากนี้ สินค้าวัตถุดิบหรือปัจจัยการผลิต เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง เหล็ก เคมีภัณฑ์และพลาสติก ก็น่าจะมีการเติบโตตามไปพร้อมกับตลาดสินค้าขั้นสุดท้ายด้วย ขณะที่กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ก็อาจมีโอกาสส่งออกดีขึ้นในตลาดที่ได้รับผลบวกจากมาตรการของภาครัฐในการกระตุ้นการซื้อรถยนต์ใหม่ เช่น ในสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ส่วนรถยนต์สำเร็จรูปอาจไม่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการเหล่านี้เท่าไรนัก แต่ก็อาจมีปัจจัยบวกมากขึ้นจากโอกาสในการส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพเติบโต เช่น ตะวันออกกลางและแอฟริกา อย่างไรก็ดี แม้คาดว่าภาวะการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะดีขึ้นกว่าช่วงเวลาก่อนหน้า แต่การฟื้นตัวคงจะอยู่ในขอบเขตที่จำกัด เนื่องจากปัญหาการว่างงานและความเชื่อมั่นที่ยังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ

...จากทิศทางเศรษฐกิจในต่างประเทศที่มีการปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาดนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับกรอบล่างของประมาณการตัวเลขส่งออกของไทยในปี 2552 เพิ่มขึ้น เป็นหดตัวร้อยละ 14.5-17.5 จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่หดตัวร้อยละ 14.5-19.0 โดยการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังมีโอกาสหดตัวชะลอลงมาเป็นตัวเลขหลักเดียว จากที่หดตัวสูงร้อยละ 23.5 ในช่วงครึ่งปีแรก

ผู้จัดการกองทุนทั่วโลกชี้หุ้นเทคโนฯน่าสน
สอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นของผู้จัดการกองทุนทั่วโลก
ซึ่งจัดทำโดยแบงค์ ออฟ อเมริกา-เมอร์ริล ลินช์ บ่งชี้ว่า ผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่มีมุมมองในด้านบวกต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้นในเดือนส.ค. โดยจำนวนผู้จัดการกองทุนที่มองว่ามีโอกาสอย่างมากที่เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวขึ้นนั้น จำนวนเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 6 ปี

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจระบุต่อว่า แม้ผู้จัดการกองทุนทั่วโลกมีมุมมองที่เป็นบวกต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้น แต่ก็ยังไม่แน่นอนว่าผู้จัดการกองทุนจะมีมุมมองที่เป็นบวกเช่นนี้ยาวนานเพียงใด เพราะเมื่อพิจารณาเป็นรายภูมิภาคแล้ว ผู้จัดการกองทุนทุ่มน้ำหนักการลงทุนในประเทศตลาดเกิดใหม่จำนวนมาก แต่กลับจำกัดการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ อังกฤษ ยุโรป และญี่ปุ่น

ที่สำคัญ ผลการสำรวจครั้งนี้ บ่งชี้ว่า หุ้นกลุ่มเทคโนโลยียังคงเป็นหุ้นที่ได้รับความสนใจมากที่สุดจากกลุ่มผู้จัดการกองทุน โดย 28% ของผู้จัดการกองทุนที่ตอบรับการสำรวจได้ทุ่มน้ำหนักการลงทุนไปที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ส่วนหุ้นกลุ่มธนาคารซึ่งได้รับผลกระทบหนักสุดจากวิกฤตการณ์การเงินโลก ยังคงเป็นหุ้นที่ได้รับความสนใจน้อยที่สุด โดยมีผู้จัดการกองทุนเพียง 10% เท่านั้นที่เทน้ำหนักการลงทุนไปที่หุ้นกลุ่มนี้

ด้านบล.คันทรี่ กรุ๊ป ประเมินภาพรวมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงไตรมาส 3 จะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากการเข้าสู่ช่วง High Season ของอุตสาหกรรมในไตรมาส 3 ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทำการสั่งซื้อชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากผู้ผลิตเพิ่มมากขึ้น เพื่อสต็อกสินค้ารองรับการขายในช่วงไตรมาส 4 ที่จะมีคำสั่งซื้อค่อนข้างมาก

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประเมินว่า การส่งออกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้น่าจะดีกว่าไตรมาส 1 และ 2 และคาดว่าอุตสาหกรรมนี้เฉลี่ยทั้งปี จะติดลบประมาณร้อยละ 20-25 จากเดิมที่คาดไว้จะติดลบมากกว่าร้อยละ 30-40 ทั้งนี้ จากภาพรวมของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะ จีน ที่ยังมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง จะส่งผลดีต่อความต้องการบริโภคสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต เราจึงประเมินว่าการส่งออกอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศจะสามารถปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลดีต่อผู้ผลิตในประเทศ

กำลังโหลดความคิดเห็น