xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนพันธบัตรกิมจิเริ่มอิ่มตัว "KTAM"หาบอนด์ใหม่รับดีมานด์นักลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.กรุงไทย รับ "กองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้" เริ่มอิ่มตัว หลังผลตอบเเทนใกล้เคียงดอกเบี้ยเงินฝาก ล่าสุด เตรียมหาตราสารหนี้ประเทศอื่นเเทน คาดเปิดตัวกองทุนใหม่ได้ ต้นเดือนกันยายนนี้ ขณะที่บลจ.ทหารไทย ยังเดินหน้ากองทุนเปิดทหารไทยพันธบัตรเกาหลีใต้ รุ่นที่ 23 ลงทุนสั้นๆ 3 เดือน ให้ผลตอบแทน 2.30%
นายสมชัย บุญนำศิริ
นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด มหาชน เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมามีกองทุนเข้าไปลงทุนในพันธบัตรเกาหลีใต้ประมาณ 3 เเสนล้านบาททั้งอุตสหกรรมกองทุนรวม ซึ่งสาเหตุหลักที่มีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในกองทุนดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เนื่องจากพันธบัตรเกาหลีใต้ให้ผลตอบเเทนที่ดีกว่ากองทุนตราสารหนี้ในประเทศไทยเเละมีระดับเรตติ้งดีกว่าของไทยอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในช่วง1-2 เดือนที่ผ่านมา ผลตอบเเทนพันธบัตรเกาหลีใต้เริ่มปรับตัวลดลง ขณะเดียวกันการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน หรือการสวอปค่าเงินนั้น ปรับตัวลดลงเนื่องจากค่าเงินวอนเเข็งค่าขึ้น ซึ่งหลังจากผลตอบเเทนกองทุนเกาหลีใต้ได้ปรับลดลงนั้น กองทุนผสมระหว่างตราสารหนี้ภาครัฐภายในประเทศเเละหุ้นกู้ ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น และผลตอบเเทนที่ได้จากกองทุนดังกล่าวก็ค่อนข้างใกล้เคียงกับผลตอบเเทนของกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้

"ในอนาคตเรามองว่า ผลตอบเเทนของพันธบัตรเกาหลีใต้มีเเนวโน้มปรับตัวลดลง อาจจะมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากเล็กน้อย หรืออาจจะเท่ากับดอกเบี้ยเงินฝาก ทำให้ความน่าสนใจของกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ลดลง ทั้งนี้ บลจ.ได้มองหาตราสารหนี้ต่างประเทศอื่นๆที่ไม่ใช่เกาหลีใต้ไว้รองรับความต้องการของนักลงทุน ซึ่งผลตอบเเทนดีกว่าตราสารหนี้ในประเทศ เรตติ้งก็ดีกว่า
โดยกองทุนใหม่นี้จะเปิดตัวประมาณต้นเดือนกันยายนนี้เเน่นอน"นายสมชัย กล่าว

ด้านนาย สานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล Fund Analyst บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ความน่าสนใจสำหรับการลงทุนในกองทุนเกาหลีใต้เริ่มลดลง หากแนวโน้มผลตอบแทนการลงทุนยังคงปรับลดลงจนใกล้เคียงกับผลตอบแทนการลงทุนในเงินฝาก หรือตราสารหนี้ภาครัฐในประเทศไทย โดยอัตราผลตอบแทนกองทุนพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังมีแนวโน้มทรงตัวและปรับขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากมีสัดส่วนการลงทุนผสมตราสารหนี้รัฐวิสาหกิจ หรือสถาบันการเงินที่รัฐบาลเกาหลีใต้ถือหุ้นเป็นสัดส่วนใหญ่ และบางกองทุนมีการลงทุนบางส่วนในตราสารหนี้ที่ออกโดยสถาบันการเงินเอกชน จึงเท่ากับว่าความเสี่ยงของผู้ออกตราสารหนี้สูงขึ้น แต่ผลตอบแทนใกล้เคียงกับผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาครัฐ สำหรับระยะเวลา 6 เดือน ผลตอบแทนอยู่ที่ 1.80% ต่อปี สำหรับระยะเวลา 9 เดือน ผลตอบแทนอยู่ที่ 2.10% - 2.30%ต่อปี ในขณะที่ผลตอบแทน สำหรับระยะ 1 ปี และ 2 ปี อยู่ที่ 2.40% - 2.50% ต่อปี และ 3.25% ต่อปี ตามลำดับ

ขณะเดียวกันศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อการลงทุนในกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ว่า จากเครื่องชี้เศรษฐกิจต่างๆ ของเกาหลีใต้ในไตรมาสที่ 2/2552 ที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งแสดงถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ แต่เนื่องจากเงินลงทุนของนักลงทุนไทยในเกาหลีใต้มีมูลค่าสูงมาก ตลอดจนนักลงทุนอาจเห็นว่าได้ลงทุนในพันธบัตรเกาหลีใต้มากเพียงพอแล้วจึงอาจพิจารณากระจายการลงทุนไปยังช่องทางการลงทุนอื่นๆ ที่มีอัตราผลตอบแทนและความเสี่ยงของการลงทุนที่น่าสนใจเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อในช่วงที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรเกาหลีใต้ได้เริ่มปรับลดลงเล็กน้อย ประมาณ 0.20-0.40% เนื่องจากต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.ค. 2552 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นจังหวะที่มีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าไปลงทุนในเกาหลีใต้มากขึ้น และส่งผลกระทบต่อต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงในการแลกเปลี่ยนเงิรวอนไปเป็นเงินดอลลาร์ฯ ให้ปรับสูงขึ้น

ด้านรายงานข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมที่จะเปิดขายกองทุนที่เข้าไปลงทุนในตราสารหนี้เกาหลีใต้ เพิ่มเติมอีก 1 กองทุนคือ กองทุนเปิดทหารไทยพันธบัตรเกาหลีใต้ รุ่นที่ 23 (TMB South Korean Treasury Fund Series 23 ) เสนอขาย วันที่ 24-31 สิงหาคม 2552 อายุโครงการ 3 เดือน โดยกองทุนดังกล่าวมีมูลค่าโครงการ 1,500 ล้านบาท สามารถจองซื้อขั้นต่ำเพียง 2,000 บาท ซึ่งกองทุนดังกล่าวมีผลตอบแทนอยู่ที่ 2.30%
กำลังโหลดความคิดเห็น