xs
xsm
sm
md
lg

จิตวิทยากับการลงทุน(1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในทางปฏิบัติหุ้นก็เป็นสินค้าที่มีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันเช่นเดียวกับสินค้าปกติ โดยนักลงทุนเป็นผู้กำหนดราคาของหุ้นตามอุปสงค์และอุปทานของนักลงทุนในแต่ละช่วงเวลาด้วยเหตุผลที่หลากหลาย เช่น ปัจจัยพื้นฐาน ปัจจัยเชิงเทคนิค การวิเคราะห์เชิงปริมาณ สภาพคล่อง หรือกระทั่งข่าวลือ

ด้วยเหตุนี้ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นจึงมีส่วนถูกผลักดันด้วยจิตวิทยามวลชนของนักลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในเชิงวิชาการมีการศึกษาผลกระทบของปัจจัยด้านจิตวิทยามวลชนที่มีต่อราคาของหลักทรัพย์ที่รู้จักกันในชื่อ Behavioral Finance ซึ่งเป็นที่แพร่หลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา
 
 Behavioral Finance เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการนำเอาทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทางสังคม อารมณ์ และความรู้สึกของมนุษย์ มาอธิบายการตัดสินใจของนักลงทุนในสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงผลกระทบของการตัดสินใจดังกล่าวที่มีต่อราคาสินทรัพย์ในแต่ละช่วงเวลา

การศึกษาด้าน Behavioral Finance ได้แสดงให้เห็นข้อโต้แย้งที่เกี่ยวข้องกับสมมุติฐานประสิทธิภาพของตลาดทุน (Efficient market hypothesis) พร้อมทั้งอธิบายถึงสาเหตุด้านจิตวิทยาที่ทำให้ตลาดทุนไร้ประสิทธิภาพ เช่น พฤติกรรมตอบสนองมากเกินไปหรือน้อยเกินไป (Over-react and Under-react) พฤติกรรมแห่ตามกัน (Herding effect) และพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่อ้างอิงปัจจัยพื้นฐาน (Noise trading) เป็นต้น

  ดังนั้นการศึกษา Behavioral Finance จะทำให้นักลงทุนเข้าใจถึงพฤติกรรมการลงทุนที่ไม่สมเหตุสมผล ซึ่งจะช่วยปรับปรุงและพัฒนาวิธีการลงทุนของนักลงทุนให้ดียิ่งขึ้นได้ เนื่องด้วยงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ Behavioral Finance ทั้งเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพมีอยู่มากมาย

ประกอบกับหัวข้อที่ทำการศึกษาก็มีอยู่อย่างกว้างขวาง เพื่อให้กระชับและง่ายต่อการเข้าใจผู้เขียนจึงขอยกเอาหัวข้อพฤติกรรมที่น่าสนใจและพบได้บ่อยในกลุ่มนักลงทุนมาอธิบายแต่พอสังเขป
 Overconfidence บางครั้งนักลงทุนก็มีความเชื่อมั่นสูงเกินไป โดยมองโอกาสที่จะประสบความสำเร็จสูงกว่าความเป็นจริง

 สาเหตุอาจเกิดจากความสำเร็จของนักลงทุนในอดีตที่ผ่านมา หรือสภาพแวดล้อมของการลงทุนในขณะนั้น โดยส่วนใหญ่มักอยู่ในรูปของความเชื่อมั่นว่าตนสามารถหาข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และความรวดเร็วกว่านักลงทุนทั่วไป หรือสามารถตีความและนำข้อมูลที่มีอยู่ไปใช้ประโยชน์ได้ดีกว่านักลงทุนทั่วไป ความเชื่อมั่นที่มากเกินไปนี้จะส่งผลประทบต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนในหลายประการดังต่อไปนี้

 1)  ประเมินความเสี่ยงของความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ต่ำจนเกินไปnbsp; ทำให้พอร์ตการลงทุนมักมีความเสี่ยงมากกว่าที่นักลงทุนยอมรับได้ และผลลัพธ์จากการลงทุนก็มักจะอยู่นอกเหนือจากที่คาดการณ์

 2)  ประเมินความเสี่ยงไม่รอบด้าน  ทำให้ระบุปัจจัยเสี่ยงที่กระทบกับการลงทุนไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาความเสี่ยงของตราสารที่มีความซับซ้อน เช่น ตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) หรือหุ้นกู้อนุพันธ์ (Structured notes) เป็นต้น
3)  เชื่อมั่นในการวิเคราะห์ พยากรณ์มากเกินไป  ทำให้นักลงทุนขาดการติดตามการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ และปรับปรุงข้อมูลให้ทันต่อเหตุการณ์ แม้ว่าความเป็นจริงที่ปรากฏจะผิดไปจากที่พยากรณ์อย่างมีนัยสำคัญก็ตาม ความเชื่อมั่นดังกล่าวทำให้พอร์ตการลงทุนเป็นการลงทุนที่กระจุกตัว และมีการกระจายความเสี่ยงน้อยกว่าที่ควร

 4) เชื่อว่าตนสามารถควบคุมสถานการณ์ต่างๆได้ และสามารถคาดการณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อไปได้อย่างแม่นยำ ส่งผลให้นักลงทุนมักมีพฤติกรรมซื้อขายหลักทรัพย์ถี่เกินความจำเป็น

พฤติกรรมดังกล่าวข้างต้นจะส่งผลให้การลงทุนขาดประสิทธิภาพ และมีความเสี่ยงมากกว่าที่ควร นักลงทุนจึงพึงระมัดระวัง และสำรวจตัวเองอย่างสม่ำเสมอว่ามีเชื่อมั่นมากเกินไปหรือไม่ โดยอาจสังเกตได้จากพฤติกรรมดังต่อไปนี้
1) หาข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนน้อยลง การตัดสินใจส่วนใหญ่มักอ้างอิงจากประสบการณ์

2) รับฟังความเห็นที่แตกต่างน้อยลง ให้ความสำคัญกับความเห็นของตนมากกว่าผู้อื่นเสมอ

3) หาข้ออ้างให้กับการตัดสินใจลงทุนหรือการพยากรณ์ที่ผิดพลาดมากกว่าการหาสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดพลาด

4) ลงทุนในตราสารที่มีความผันผวนสูงขึ้น และลงทุนเกินตัวมากขึ้น (Leveraged)

5) พอร์ตการลงทุนกระจุกตัว และมีพฤติกรรมการซื้อขายบ่อยครั้ง

แม้ว่าความเชื่อมั่นมากเกินไปเป็นสิ่งที่ยากจะยอมรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนที่มีประสบการณ์ยาวนาน หรือนักลงทุนที่เคยประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นจากความเชื่อมั่นที่มากเกินไปอาจทำลายความสำเร็จที่เคยได้รับให้หมดไปได้อย่างรวดเร็ว การตั้งตนอยู่บนความไม่ประมาทจึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนทุกคนพึงกระทำ
กำลังโหลดความคิดเห็น