xs
xsm
sm
md
lg

ทุกข์ของคนกินดอก อีกครั้งของการเกาไม่ถูกที่คัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โยแมน 
yeomanwarders-dailymanager@yahoo.com
 

 
บ้านเมืองช่วงนี้หันไปทางไหนก็เห็นแต่สงครามความคิด ซึ่งจริงๆแล้วการมีความคิดความเห็นต่างก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่ถ้าถึงกับต้องประหัตประหารกันเพราะความคิดต่างก็ดูน่าสงสารตัวเองที่ต้องมาอยู่ในบ้านนี้เมืองนี้ ตอนนี้ถ้าลองจับชีพจรการลงทุนแล้ว เหล่านักเลงหุ้นก็น่าจะมีกำลังใจดีขึ้นมาบ้าง แม้จะยังคงมีอาคารตุ๊มๆต่อมๆถึงความยืนยงของดัชนีตลาดทั้งไทยและเทศ

 แต่ผู้ที่ดูจะเศร้าที่สุดในขณะนี้น่าจะเป็นผู้ฝากเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เน้นความเสี่ยงต่ำที่สุดแต่เพียงอย่างเดียว ก็ต้องทนรับผลตอบแทนต่ำเตี้ยเรี่ยดินตั้งแต่ 2% ลงไปถึงครึ่งเปอร์เซ็นต์ต่อปีก่อนหักภาษี ซึ่งล่าสุดรัฐบาลบอยแบนด์ของผมก็ออกนโยบายสุดเท่ เพื่อช่วยเหลือผู้มีเงินออม ด้วยการยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ของรายได้ดอกเบี้ยที่ได้รับจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์รวมกันทุกธนาคารไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี

 ซึ่งรัฐบาลก็แถลงว่าเป็นการทำนโยบายที่มีมานานแล้วให้มีผลในทางปฏิบัติ เนื่องจากประชาชนที่ถูกหักภาษีไป มักไม่มาทำเรื่องขอคืนภาษีกับกรมสรรพากร โดยตามข่าวว่านโยบายนี้ครอบคลุมบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ถึง 62 ล้านบัญชี จากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ทั้งหมด 63 ล้านบัญชี
 นโยบายนี้ดูคร่าวๆก็ดีนะครับ แต่ไม่แน่ใจว่าทำแล้ว จะมีผลให้ผู้มีเงินออมน้อยได้ประโยชน์มากขึ้นแค่ไหน หรือนอกจากไม่ช่วยผู้มีเงินออมน้อยแล้ว ยังจะสร้างความปวดหัวให้กับคนมีเงินออมมากกันแน่

 ผมลองมาคิดเล่นๆครับว่าถ้าทั้งเนื้อทั้งตัวผมมีเงินอยู่ 4 ล้านบาท และชีวิตผมพึ่งพารายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากแต่เพียงอย่างเดียว แถมกลัวความเสี่ยงแบบสุดๆ ผมจะเอาเงินฝากส่วนใหญ่ไปไว้ในบัญชีออมทรัพย์ที่ได้รับการยกเว้นภาษี หรือบัญชีเงินฝากประจำที่ต้องเสียภาษีกันแน่

โดยถ้าฝากออมทรัพย์ก็ได้ดอกเบี้ยแบบเต็มๆ 20,000 บาทต่อปี จากอัตราดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี แต่ถ้าฝากประจำ 1 ปี ได้ 1.25% ซึ่งทำให้มีรายได้ดอกเบี้ยหลังหักภาษี 42,500 บาท ต่อปีโดยหลักการแล้ว ผมน่าจะฝากเงินไว้ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ให้แค่พอใช้ยามฉุกเฉินเต็มที่น่าจะซัก 1 ล้านบาทก็พอ เพราะถึงแม้ว่าจะได้รับยกเว้นภาษี แต่อัตราดอกเบี้ยก็ต่างกันถึงครึ่งต่อครึ่ง แม้จะถูกหักภาษีแล้วก็ตาม

ดังนั้น งานนี้ผมก็จะได้รับประโยชน์จากการยกเว้นภาษีของรัฐสำหรับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ประมาณ 750 บาทต่อปี ซึ่งก็นับว่าไม่น้อย (แต่ก็ไม่มากนัก) สำหรับผู้ที่พึ่งพารายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากแต่เพียงอย่างเดียว

 ตัวอย่างข้างต้น นั่นคือ ผมมีเงินฝากประมาณ 4 ล้านบาทนะครับ ทีนี้ลองมาดูว่าข้อสมมติของผมนั้นครอบคลุมจำนวนคนมากน้อยแค่ไหนในโลกแห่งความเป็นจริง
จากข้อมูลเก่าของแบงก์ชาติที่ผมมีเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นข้อมูลบัญชีเงินฝากทั้งระบบ ไม่ได้จำกัดเฉพาะบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ จำนวนบัญชีเงินฝากที่มีเงินไม่เกิน 50,000 บาทนั้นมีมากถึง 87.8% ของบัญชีเงินฝากทั้งหมด โดยมีจำนวนเงินฝากเฉลี่ยต่อบัญชีที่ 4,458 บาท

ซึ่งถ้าคิดเป็นดอกเบี้ยที่ได้รับต่อคนก็จะอยู่ที่ประมาณ 22 บาทต่อปี คิดคร่าวๆเทียบกับข้อมูลจำนวนบัญชีเงินฝากรวมประมาณ 71 ล้านบัญชีในปัจจุบัน (บนสมมติฐานว่าสัดส่วนของจำนวนบัญชีเงินฝากแต่ละวงเงินไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก และห้ามอ้างอิงต่อเด็ดขาด เพราะผมใช้วิธีเทียบเคียงข้อมูลแบบบัญญัติไตรยางค์เอาดื้อๆ)

 ก็เท่ากับว่านโยบายนี้ช่วยให้ประชาชนผู้ฝากเงินจำนวนประมาณ 62 ล้านคน (ถ้าแต่ละคนมีเพียง 1 บัญชี) ได้รับประโยชน์จากภาษีโดยเฉลี่ยประมาณ 3 บาทต่อคนต่อปีนั่นเอง (ใช่ครับ 3 บาท!!!)

 ทีนี้มาดูคนที่มีเงินฝากเพิ่มขึ้นบ้าง ซึ่งหากประมาณจากข้อมูลเดิมที่ผมมีว่าประมาณ 10% ของบัญชีเงินฝากทั้งหมดเป็นบัญชีที่มีเงินฝากมากกว่า 50,000 บาท แต่ไม่เกิน 1,000,000 บาท ต่อบัญชี

โดยคิดเป็นจำนวนเงินเฉลี่ยเท่ากับ 214,685 บาท ซึ่งถ้าคิดเป็นดอกเบี้ยที่ได้รับต่อคนก็จะอยู่ที่ประมาณ 1 พันบาทต่อปี ก็เท่ากับว่ามีคนเกือบ 8 ล้านคนที่ได้รับประโยชน์จากภาษีโดยเฉลี่ยประมาณ 160 บาทต่อคนต่อปี
 จากข้อมูลข้างต้น ผมก็พอจะเข้าใจครับว่าทำไมคนที่มีสิทธิขอภาษีคืนจำนวนมากถึงไม่ไปยื่นขอภาษีหัก ณ ที่จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์คืนจากกรมสรรพากร เพราะคนประมาณ 62 ล้านคนนั้น ภาษีคืนยังไม่พอค่าตั๋วรถเมล์ ส่วนอีกเกือบ 8 ล้านคนนั้น แค่ค่าแท็กซี่ไปกลับก็ไม่น่าจะพอเช่นกัน

 ส่วนผู้ออมที่เหลือนั้น แบ่งเป็นผู้ฝากเงิน 1 ล้านบาทขึ้นไป แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อบัญชี ประมาณเกือบล้านบัญชี และอีกประมาณ 70,000 บัญชีมีเงินฝากมากกว่า 10 ล้านบาทต่อบัญชี (ย้ำอีกครั้งครับว่าห้ามอ้างอิงข้อมูล เพราะผมใช้วิธีเทียบเคียงกับข้อมูลทางการที่ผมมีในอดีตเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ซึ่งมีโอกาสเบี่ยงเบนจากข้อมูลปัจจุบันได้)

สำหรับกลุ่มเงินฝากเกิน 10 ล้านนั้นไม่ต้องพูดถึงเพราะเสียภาษีอยู่แล้ว แต่ส่วนที่เกิน 1 ล้าน แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาทน่าจะอยู่ในบัญชีเงินฝากประจำเป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งผมก็กะไม่ถูกว่าประมาณสักเท่าไหร่ เอาเป็นว่าคนที่จะทิ้งเงินในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เป็นล้านนั้นไม่น่าจะมีมากนัก

 แต่แม้กระนั้น บุคคลที่เหลืออยู่ในกลุ่มคาบลูกคาบดอกนี่แหละครับ (ซึ่งอาจเป็นจำนวนหลักหมื่น หรือหลักแสนคน) ที่อาจ “ซวย” เพราะนโยบายครั้งนี้ (ขอโทษที่ใช้คำไม่ค่อยสุภาพ เพราะไม่อาจจะหาคำแทนที่เหมาะสมกว่านี้ได้) โดยหากเป็นผู้ฝากเงินที่มีรายได้ดอกเบี้ยในแต่ละธนาคารไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี แต่รวมกันหลายธนาคารแล้วเกิน และไม่รู้อิโหน่อิเหน่กับการเลิกหักภาษี ณ ที่จ่ายเงิน

ฝากออมทรัพย์ที่มีรายได้ดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาท (เว้นแต่จะร้องขอ) แล้วไม่ได้แสดงความประสงค์กับธนาคารทั้งหลายที่ตนมีบัญชีเงินฝากให้ทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ก็จะต้องนำรายได้จากดอกเบี้ยมารวมจ่ายกับรายได้พึงประเมินทั้งปีตามอัตราก้าวหน้าตั้งแต่ 10% ถึง 37% ซึ่งถ้าอัตราภาษีตกอยู่ไม่เกิน 20% ก็พอถูไถ แต่ถ้าเกินก็ถูกหวยช่วยชาติล่ะครับ คือ อยู่ๆก็ต้องเสียภาษีเพิ่มให้รัฐโดยไม่รู้ตัว
 นี่นับเฉพาะพวกรู้ตัวทันในปีภาษีนะครับ พวกไม่รู้ตัว หรือรู้แต่ทำเนียน ก็จะตกบ่วงสรรพกรกลายเป็นคนมีชนักติดหลัง ต้องเสียเงินเพิ่มเบี้ยปรับยามสรรพากรตามมาเช็คบิลในภายหลัง

แต่ล่าสุดนี่ยิ่งแล้วใหญ่ คือ ขนาดคนรู้ว่าต้องไปร้องขอให้ธนาคารหักภาษี ณ ที่จ่าย ธนาคารยังพากันใบ้กิน บอกว่ากรมสรรพากรยังไม่ได้ออกแบบฟอร์มให้ธนาคารมาเลย กลายเป็นว่าผู้ฝากเงินโดนลอยแพ ไม่รู้จะไปขอให้ใครหักภาษีให้ได้

 สรุปแล้ว นโยบายนี้คาดว่าจะช่วยเหลือประชาชนประมาณ 62 ล้านบัญชีให้ได้เงินคืนเฉลี่ยประมาณ 3 บาทต่อบัญชีต่อปี โดยมีคนอีกจำนวนไม่น้อยมีความเสี่ยงที่จะเสียภาษีมากกว่าที่ควรจะเป็น
แล้วอย่างนี้จะไม่งงยังไงไหวละนี่

กำลังโหลดความคิดเห็น