xs
xsm
sm
md
lg

รู้จักกับ Benchmark ของกองทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 รู้จักกับ Benchmark ของกองทุน
ตามที่ได้กล่าวไปแล้วในครั้งก่อนเกี่ยวกับการวัดผลตอบแทนการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  ในครั้งนี้จะขอแนะนำถึงการเลือก “ตัวชี้วัด (benchmark)” เพื่อช่วยคณะกรรมการและสมาชิกกองทุนในการวัดผลการดำเนินงานของกองทุนอย่างเหมาะสม   โดยประกาศสมาคมบริษัทจัดการลงทุนเกี่ยวกับมาตรฐานการวัดผลการดำเนินงาน  ซึ่งมีผลบังคับเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2552  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการกำหนดตัวชี้วัดเพื่อให้วัดผลการดำเนินงานของกองทุนให้สอดคล้องกับนโยบายการลงทุน  และสะท้อนถึงความสามารถในการบริหารจัดการลงทุนของผู้จัดการกองทุน  สรุปได้ดังนี้
 1.ตัวชี้วัด (benchmark) ที่ใช้ต้องเป็นตัวชี้วัดตามประเภทหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่กองทุนลงทุน  ทั้งนี้เพื่อให้เป็นการวัดผลที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงในของสิ่งเดียวกัน
 ยกตัวอย่างกรณีกองทุนที่ลงทุนในหุ้นควรใช้ตัวชี้วัดที่เป็นดัชนีราคาหุ้น  เนื่องจากกองทุนเหล่านี้จะมีผลการดำเนินงานสัมพันธ์กับราคาหุ้นที่ซื้อขายกันในตลาดหุ้น  ผู้จัดการกองทุนที่มีความสามารถจึงควรทำให้กองทุนมีผลการดำเนินงานจากการลงทุนในหุ้นที่ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาหุ้น  และไม่ใช่เอากองทุนนี้ไปเปรียบเทียบกับกับตัวชี้วัดที่สะท้อนราคาขึ้นลงของหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินประเภทอื่น ๆ อาทิ  เงินฝาก หรือดัชนีตลาดตราสารหนี้  ซึ่งราคาตราสารเหล่านี้จะแปรผันตามปัจจัยอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขึ้นลงของราคาหุ้น  และไม่สัมพันธ์กับความสามารถในการจัดการลงทุนในหุ้นของผู้จัดการกองทุนแต่อย่างไร
 
2.ตัวชี้วัดผสม (composite benchmark)  ต้องคำนวณจากตัวชี้วัดตามประเภทหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่กองทุนลงทุน  ตามน้ำหนักให้สอดคล้องกับนโยบายการลงทุน 
ในอดีตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมักจะวัดผลการดำเนินงานเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่  ซึ่งมีข้อด้อยและไม่เหมาะสมเนื่องจากในชีวิตจริงกองทุนจะลงทุนในหลักทรัพย์และทรัพย์สินหลากหลายประเภท  ดังนั้นจึงต้องผสมตัวชี้วัดที่ใช้เป็นตัวแทนของหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินแต่ละประเภท  ให้สอดคล้องกับน้ำหนักของหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินตามที่นโยบายการลงทุนกำหนด
 ยกตัวอย่างกองทุนกำหนดนโยบายการลงทุนในหุ้นไม่เกิน 40%  และส่วนที่เหลือให้ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล  ในที่นี้กองทุนจะลงทุนในหุ้นได้ตั้งแต่ 0-40%  การคำนวณน้ำหนักตัวชี้วัดตามประเภทหลักทรัพย์ในส่วนที่ลงทุนในหุ้น  จะใช้ดัชนีราคาหุ้นโดยมีน้ำหนักที่จะผสมในตัวชี้วัดผสมเท่ากับไม่น้อยกว่า ค่าเฉลี่ยของน้ำหนักการลงทุนในหุ้นที่ต่ำสุด (0%) และสูงสุด (40%) ตามที่กำหนดในนโยบายการลงทุน  ซึ่งในที่นี้จะเท่ากับ (0%+40%) หารด้วย (2)  ผลลัพธ์คือตัวชี้วัดต้องมีสัดส่วนของดัชนีราคาหุ้นไม่น้อยกว่า 20%  แล้วแต่จะตกลงกันระหว่างผู้จ้างและผู้รับจ้าง  และสัดส่วนที่เหลือจะผสมด้วยตัวชี้วัดในส่วนของดัชนีราคาพันธบัตรรัฐบาล
 3.ต้องเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนกับตัวชี้วัดในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนกับตัวชี้วัด  ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากภาวะการลงทุนที่เหมือนกันในช่วงเวลาเดียวกัน
 ปัจจุบันนี้สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดให้คณะกรรมการกองทุนต้องตกลงกับผู้จัดการกองทุนตั้งแต่เริ่มจ้าง  ให้ระบุตัวชี้วัดที่เหมาะสมนี้ในสัญญามอบหมายให้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  โดยบริษัทจัดการผู้ให้บริการจัดการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะคำนวณผลการดำเนินงานของกองทุน  และตัวชี้วัดตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาฯ  เพื่อรายงานให้คณะกรรมการกองทุนและสมาชิกกองทุนทราบเป็นรายเดือนค่ะ
กำลังโหลดความคิดเห็น