xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์ Money Guru น่านน้ำสีครามกับการบริหารความมั่งคั่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ศัพท์การตลาดยอดฮิตในปัจจุบัน คือ กลยุทธ์น่านน้ำสีคราม (Blue Ocean Strategy) ซึ่ง ศจ. ดับเบิลยู ชาน คิม (W. Chan Kim) ต้นเรื่องของการใช้ศัพท์การตลาดคำนี้  ชี้ให้เห็นถึงการเปิดตลาดใหม่ โดยไม่ต้องคำนึงถึงคู่แข่ง เพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์ (Demand) ใหม่
 แนวคิดในการหาผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากการลงทุนในดัชนีอ้างอิง หรือที่นักลงทุนมืออาชีพเรียกติดปากกันว่า อัลฟ่า (Alpha) ก็อาจนำแนวทางของการแสวงหาน่านน้ำสีครามมาใช้ เพราะการเลือกลงทุนในสินทรัพย์แบบเดิมๆ ดังเช่น หุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร ตราสารการเงินระยะสั้นต่างๆ นั้น แสวงหา Alpha ได้ยาก
 
แนวการออกกองทุนเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก (Alternative Investment) เช่น กองทุนอสังหาริมทรัพย์  กองทุน FIF ที่ลงทุนในต่างประเทศ กองทุนที่บริหารโดยใช้เทคนิคเชิงปริมาณ (quantitative investment style fund) กองทุนที่เลือกลงทุนใน sector เฉพาะ หรือมี theme เฉพาะ ที่เรียกว่า thematic fund เหล่านี้ก็เป็นการประยุกต์แนวคิดในการแสวงหา Alpha ที่นอกเหนือจากการลงทุนแบบเดิม
ความยากก็คือ การประเมินอันตรายซ่อนอยู่ในการแสวงหา Alpha ในน่านน้ำสีคราม  ซึ่งดูเหมือนจะมีความสงบและสวยงาม การประเมินความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่คุ้นเคย ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายๆ  ต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ และต้องอยู่ภายใต้การดูแลของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนที่เคยมีประสบการณ์ลงทุนในสินทรัพย์เหล่านั้น
ความยากอีกประการหนึ่งคือความพยายามถ่ายทอดความรู้เชิงวิเคราะห์จากนักลงทุนมืออาชีพไปสู่นักลงทุนรายย่อยที่ต้องการทดลองในสินทรัพย์ทางเลือกใหม่ๆ  การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่าแม้ว่าจะมีความเสี่ยง แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่ได้ผ่านการประเมิน และตรึกตรองแล้วว่าสามารถที่จะยอมรับได้
 
หลายมุมของการใช้กลยุทธ์น่านน้ำสีคราม เป็นการมองหาช่องว่างทางการลงทุน เพื่อแสวงหา Alpha ซึ่งกลยุทธ์น่านน้ำสีครามก็อาจนำมาใช้กับการแสวงหากลุ่มนักลงทุนกลุ่มใหม่ เช่น กลุ่มนิสิตนักศึกษา  กลุ่มข้าราชการที่กำลังศึกษาการลงทุนทางเลือกใหม่ๆ และวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของกองทุนดังกล่าว เพราะนักลงทุนกลุ่มใหม่นี้อาจมีความทนทานต่อความเสี่ยง (risk tolerance) แตกต่างจากนักลงทุนกลุ่มเดิมๆ ที่หากเป็น
กลุ่มแม่บ้าน ก็จะเน้นการลงทุนแบบอนุรักษ์นิยม ในขณะที่กลุ่มนักลงทุนที่เล่นหุ้นในตลาดหุ้นอยู่ประจำ ก็จะมีความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงได้ค่อนข้างมาก ถึงมากที่สุด
 การบริหารความมั่งคั่งในยุคปัจจุบัน จึงเน้นความหลากหลายในการเลือกสินทรัพย์ทางเลือกที่นอกเหนือจากการลงทุนปกติ เพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้อย่างเหมาะสมกับการยอมรับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล (individual risk tolerance)  ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับนักลงทุนหลายคนที่ลงทุนผ่าน Wealth Management program ของสถาบันการเงินบางแห่งคือ นักลงทุนไม่เข้าใจความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่อยู่ใน portfolio ของตน  เชื่อว่าแนวโน้มการบริหารความมั่งคั่งในอนาคต จะเน้นการสร้างเข้าใจในความเสี่ยงของสินทรัพย์ การยอมรับความเสี่ยงและข้อจำกัดของลูกค้า
 ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นหน้าที่ของวิศวกรการเงิน (Financial Engineer) ที่จะสร้างตราสารหรือสินทรัพย์ที่มีความเหมาะสมกับความเสี่ยงของนักลงทุนประเภทต่างๆ วิศวกรการเงินจึงไม่ใช่แต่เพียงเข้าใจในทฤษฎีการเงินเท่านั้น แต่ต้องมีความสามารถทางการตลาดเพื่อให้เข้าใจถึงความต้องการของลูกค้า หรือนักลงทุน  ที่สำคัญวิศวกรการเงินควรจะมีทักษะในการนำทฤษฎีการตลาดใหม่ๆ เช่น กลยุทธ์น่านน้ำสีครามมาประยุกต์ใช้เช่นกัน
 ความคิดเห็นและข้อความต่างๆในบทความนี้เป็นทัศนะของผู้เขียนเท่านั้น  ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
บทความโดย
ดร.ชาญวุฒิ  รุ่งแสงมนูญ (charnwut@mfcfund.com)
และ ตริณญ์ อินทรโอภาส (trin@mfcfund.com)
กำลังโหลดความคิดเห็น