xs
xsm
sm
md
lg

บทบาทใหม่ของสมาคมบลจ. ยกระดับ...สู่องค์กรกำกับดูแลตนเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วรวรรณ ธาราภูมิ
ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ธุรกิจจัดการกองทุนเกิดขึ้นในบ้านเรา ก็เห็นการพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง...จากเดิมที่มีแค่กองทุนหุ้น กองทุนตราสารหนี้ เป็นทางเลือกในการสร้างผลตอบแทนให้เงินงอกเงย ก็ก้าวไปสู่การลงทุนรูปแบบใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น กองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี อย่างแอลทีเอฟและอาร์เอ็มเอฟ กองทุนต่างประเทศ รวมไปถึงกองทุนที่มีความซับซ้อน อ้างอิงผลตอบแทนกับแอสเซทคลาสใด แอสเซทคลาสหนึ่ง เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นการพัฒนาธุรกิจจัดการกองทุนให้เทียบเท่าสากล เป็นการนำนวัตกรรมที่มีอยู่ทั่วโลก มาประยุกต์ให้เข้ากับพื้นฐานการออมของคนไทย แต่เหนือสิ่งอื่นใด เป้าหมายสำคัญการพัฒนาธุรกิจนี้ คือ เพิ่มทางเลือกในเงินทำงาน

และหลังจากธุรกิจนี้ เติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ก็เป็นที่มาของความร่วงมือของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ในการจัดตั้งองค์กรขึ้นมา เพื่อเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจจัดการลงทุนให้เจริญก้าวหน้า รวมทั้งคุ้มครองป้องกันและพิทักษ์ธุรกิจจัดการลงทุน โดยเคร่งครัด พร้อมทั้งส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานอันดีในการประกอบธุรกิจจัดการลงทุน เพื่อประโยชน์ของบริษัทสมาชิก และประชาชนทั่วไปในวงกว้าง...เหตุผลนี้เอง จึงเป็นที่มาของ "สมาคมบริษัทจัดการลงทุน" ที่เป็นด่านแรกในการกำกับดูแลระหว่างกันเอง รองจากผู้กำกับใหญ่อย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

ปัจจุบันหน่วยงานอย่าง "สมาคมบริษัทจัดการลงทุน" ในปลายประเทศ มีการปรับตัวและเปลี่ยนสถานะสู่การเป็นองค์กรที่กำกับดูแลตนเอง (Self Regulatory Organization) หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า SRO ไปแล้วหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และมาเลเซีย เพราะเล็งเห็นประโยชน์สำคัญของการเปลี่ยนสถานะดังกล่าว...

และนี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ สมาคมบลจ. กำลังจะยกระดับตนเองให้มีสถานะเป็น SRO เช่นกัน...โดยเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่ผ่านมา คณะกรรมการสมาคมบลจ. ได้มีมติให้เดินหน้ายกระดับสมาคมเป็นองค์กรที่กำกับดูแลตนเอง โดยเริ่มต้นจากการขึ้นทะเบียนและการกำกับดูแลบุคลากรของอุตสาหกรรมเป็นลำดับแรก เพื่อดูความพร้อมและประสิทธิภาพของการดำเนินงานในรูปแบบ SRO แล้วค่อยขยายขอบเขตไปสู่งานด้านอื่นๆ

โดยหลังจากนี้ สมาคมฯ จะจัดให้มีการประชุมเพื่อรับฟังความเห็นของบริษัทสมาชิกในวันที่ 14 ก.ค. 2552 และนำเสนอแนวทางที่เหมาะสมต่อสำนักงาน ก.ล.ต. พิจารณาต่อไป

เรื่องนี้ "วรวรรณ ธาราภูมิ" ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ระบุว่า ธุรกิจจัดการลงทุนเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่เจริญเติบโตได้ด้วยพื้นฐานความไว้วางใจที่นักลงทุนมีต่ออุตสาหกรรม ดังนั้น การมีกฎ ระเบียบที่ดี เหมาะสมต่อการทำธุรกิจ ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงการดูแลรักษาผลประโยชน์ของผู้ลงทุนด้วย จะส่งผลให้อุตสาหกรรมเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งการยกระดับของสมาคมให้มีสถานะเป็น SRO จะช่วยให้สมาคมบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิผล

ทราบที่มาที่ไปแล้ว หลายคนอาจจะยังสงสัยว่า แล้ว "SRO" หรือ การกำกับดูแลตนเองนั้น มันคืออะไร และหลังจากยกระดับแล้ว ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง แล้วจะมีส่วนช่วยให้ธุรกิจจัดการลงทุนพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืนอย่างไร วันนี้ "ASTVผู้จัดการกองทุนรวม" มีคำตอบมาให้...

สมาคมบลจ. ให้ข้อมูลว่า ในธุรกิจหลักทรัพย์ International Organization of Securities Commission หรือ IOSCO ได้กำหนดหลักการที่เกี่ยวกับ SRO เอาไว้ ซึ่งเรียกว่า IOSCO Principles ซึ่งประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ IOSCO ยึดถือเป็นแนวทางในการจัดตั้ง SRO โดยหลักการดังกล่าวกำหนดให้ SRO เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสมาชิกของตนเอง โดยมีหลักการที่สำคัญในการกำกับดูแลสมาชิก คือ จะต้องกำกับดูแลสมาชิกอย่างเท่าเทียมกัน เป็นธรรม โปร่งใส มีประสิทธิภาพและมีกลไกที่ปกป้องคุ้มครองผู้ลงทุน ดังนั้น การมีสถานะเป็น SRO จะทำให้สมาคมจะต้องมีการปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานจากเดิมที่ทำหน้าที่ของสมาคมการค้า (Trade Association) ที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเพื่อสมาชิกเป็นหลัก มาเป็นวัตถุประสงค์รอง

ข้อดีของการจัดตั้ง SRO
ประโยชน์ที่สำคัญยิ่งของการมีสถานะเป็น SRO คือ การมีกฎ ระเบียบ มาตรฐาน และจรรยาบรรณ ที่กำหนดโดยกลุ่มสมาชิกในธุรกิจ ซึ่งมีความคุ้นเคยกับธุรกิจและสภาพแวดล้อม ทำให้การกำกับดูแลมีความเหมาะสมกับธุรกิจ ยืดหยุ่น ทันต่อเหตุการณ์ ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งเสริมพัฒนาการของอุตสาหกรรมและไม่ก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายเกินความจำเป็น ขณะเดียวกัน การมีกลไกปกป้องคุ้มครองผู้ลงทุนจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน โดยการให้ความสำคัญกับการปกป้องและดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ลงทุนจะส่งผลให้อุตสาหกรรมเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน

การทำหน้าที่ SRO ตามหลักการของ IOSCO
- SRO จะต้องมีขีดความสามารถในการกำหนดกฎ ระเบียบ และแนวปฏิบัติของอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐานสากล
- มีขีดความสามารถในการบังคับใช้กฎ ระเบียบ ที่กำหนดขึ้นกับสมาชิก
- ปฏิบัติกับสมาชิกทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติซึ่งก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างสมาชิก
- มีการกำหนดสัดส่วนและวิธีการคัดเลือกคณะกรรมการ SRO ที่เป็นตัวแทนและเป็นธรรมต่อสมาชิก
- ไม่มีข้อจำกัดหรือข้อกีดกันสำหรับผู้ที่จะเข้าเป็นสมาชิกใหม่
- มีระบบในการร้องเรียน การจัดการข้อร้องเรียน ข้อพิพาทระหว่างบริษัทสมาชิก
- นำส่งร่างกฏ ระเบียบ และแนวปฎิบัติต่อหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อพิจารณาทบทวน/แก้ไขเพิ่มเติม และให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ที่เกี่ยวข้อง
- ประสานงาน/ร่วมมือกับหน่วยงานที่กำกับดูแลในการบังคับใช้และตรวจสอบผลการปฏิบัติตามกฎ ระเบียบของสมาชิก
- ลงโทษสมาชิกที่ไม่ปฏิบัติตามกฏ ระเบียบ
- ส่งเสริมการดูแลรักษาผลประโยชน์ของผู้ลงทุน
- มีระบบในการรับข้อร้องเรียบและจัดการข้อร้องเรียนของผู้ลงทุน

ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการจัดตั้ง SRO
ความร่วมมือของสมาชิก
การร่วมมือของสมาชิกถือเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จประการแรกในการจัดตั้ง SRO โดยสมาชิกควรคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกันในการสร้างเสถียรภาพในอุตสาหกรรมและความมั่นใจแก่นักลงทุน

การมีตัวแทนของอุตสาหกรรม การพัฒนากฎระเบียบ ข้อบังคับให้เหมาะสมนั้น ต้องอาศัยตัวแทนอุตสาหกรรมที่มีความรู้ความเข้าใจ และความเชี่ยวชาญที่มากกว่าบุคคลภายนอก ซึ่งการมีตัวแทนอุตสาหกรรมนั้นเป็นผลดีในการตอบสนองความต้องการของสมาชิกบนรากฐานของผลประโยชน์สาธารณะได้เป็นอย่างดี

ความโปร่งใส ความเชี่ยวชาญที่สมาชิก SRO นำมาใช้ในการออกกฎและระเบียบถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสิ่งหนึ่งในการดำเนินงานของ SRO เพราะความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมสามารถใช้เป็นแนวทางในการกำหนดกฎระเบียบที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การออกกฎระเบียบต้องมีความชัดเจน โปร่งใส และรับฟังความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อรักษาประสิทธิภาพของ SRO ให้คงอยู่

ความเป็นอิสระของ SRO การทำหน้าที่ของ SRO จะต้องแสดงถึงการมีความเป็นอิสระ มีโครงสร้างการกำกับดูแลในระดับคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการที่เหมาะสม มีการควบคุมภายในที่เพียงพอ มีนโยบายและระบบป้องกันความชัดแย้งทางผลประโยชน์ เพื่อหลีกเสี่ยงปัยหาที่อาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง

ประสิทธิภาพของกลไกปกป้องคุ้มครองผู้ลงทุน การมีกลไกปกป้องคุ้มครองผู้ลงทุน จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน โดยการให้ความสำคัญกับการปกป้องและดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ลงทุน เพื่อรักษาความไว้วางใจจากนักลงทุน และหน่วยงานของภาครัฐ ส่งผลให้อุตสาหกรรมเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน

การกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐ ถึงแม้ SRO จะมีระบบควบคุมภายใน แต่การกำกับดูแลของหน่วยงานภาครัฐก็ยังถือเป็นสิ่งจำเป็นในการดูแลการดำเนินงานของ SRO ให้ประสบความสำเร็จ โดยเน้นไปที่วัตถุประสงค์ของการรักษาผลประโยชน์สาธารณะ ซึ่งในที่นี้ หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลอีกชั้นหนึ่งก็คือ สำนักงาน ก.ล.ต. นั่งเอง

...หลังจากนี้ คงต้องติดตามกันต่อว่า ความพยายามในการยกระดับสมาคม บลจ. สู่การเป็นองค์กรที่กำกับดูแลตนเอง จะออกมาเป็นรูปธรรมได้เมื่อไหร่ และถึงเวลานั้น ก็หวังว่า การพัฒนาธุรกิจจัดการลงทุน จะดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการรักษาผลประโยชน์ของสาธารณะ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดที่สมาคม บลจ. อยากให้เกิดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น