“สวนดุสิตโพล” เผยผลสำรวจความเห็นคนไทย เกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ส่วนใหญ่เห็นว่าห้าฯ-โรงเรียน-โรงหนัง แหล่งเสี่ยงติดเชื้อ เผยประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ และรับทราบถึงวิธีป้องกัน และกว่า50% เชื่อรัฐและกระทรวงหมอรับมือได้
“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ที่มีความคิดเห็นต่อโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จำนวน 1,143 คน ระหว่างวันที่ 17-18 มิถุนายน 2552 พบว่าร้อยละ 62.09 พอมีความรู้ ความเข้าใจต่อโรคดังกล่าว ร้อยละ 25.54 รู้และเข้าใจดี ขณะที่ร้อยละ 8.04 และร้อยละ 4.33 ไม่แน่ใจและไม่เข้าใจเลย
ส่วนเรื่องที่ทำให้ประชาชนมีความวิตกกังวลต่อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อันดับ 1 หรือร้อยละ 31.23 ระบุเป็นโรคที่ติดต่อง่าย กลัวลูกหลานติดเชื้อ ร้อยละ 30.54 ระบุ มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วทั้งในประเทศและต่างประเทศ ร้อยละ 24.61 ระบุ เมื่ออกมานอกบ้านต้องพบเจอผู้คนมากมาย ไม่รู้ว่าใครเป็นโรคนี้บ้าง และร้อยละ 13.62 ระบุยังไม่ค่อยเข้าใจถึงวิธีการป้องกันหรือปฏิบัติตนอย่างไร
สำหรับการรับรู้เรื่องวิธีการป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ของประชาชน ร้อยละ 88.27 รู้ โดยหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ , ทานอาหารที่สะอาด มีประโยชน์ ,หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ที่ไม่สบาย ไอ จาม, ไม่อยู่ในที่แออัด, ล้างมือทุกครั้งเมื่อจะทานอาหาร, ใช้ผ้าปิดจมูก ฯลฯ ขณะที่ร้อยละ 11.73 ไม่รู้ เพราะไม่ค่อยได้สนใจเนื่องจากมีภาระงานที่ต้องรับผิดชอบอยู่มาก, ไม่มีเวลา, ไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจนเท่าที่ควร, อยู่ไกลจากในเมือง ฯลฯ ด้านวิธีการปฏิบัติตนเมื่อสงสัยว่าตัวเองหรือคนในครอบครัวติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อันดับ 1 หรือร้อยละ 30.69 สวมหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูก ร้อยละ 29.70 รีบไปพบแพทย์ทันที ร้อยละ 20.79 แยกตัวออกมาจากบุคคลอื่น และร้อยละ 18.82 หยุดโรงเรียน-หยุดงาน
ส่วนความเชื่อมั่นของประชาชนว่ารัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สามารถรับมือกับโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ร้อยละ 51.16 เชื่อมั่น เพราะแพทย์ไทยเก่ง มีความสามารถหลายท่าน , เป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการทำงานของ สธ., หากมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารถึงวิธีการป้องกัน การดูแลตนเองให้ปลอดภัยอย่างจริงจัง คิดว่าน่าจะได้ผลแน่นอน ฯลฯ ขณะที่ร้อยละ 44.19 ไม่เชื่อมั่น เพราะข้อมูลข่าวสารที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศออกมาค่อนข้างสับสน ไม่รู้ว่าโรคนี้อยู่ในระดับร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรงกันแน่, ไม่เห็นรัฐบาลมีมาตรการหรือการเตรียมพร้อมในการรับมือกับโรคนี้ที่ชัดเจน ฯลฯ
ด้านพฤติกรรมของประชาชนหลังจากมีโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แพร่ระบาด ร้อยละ 56.19 เปลี่ยนไป เพราะ เอาใจใส่ดูแลตัวเองมากขึ้น ใส่ใจสุขภาพตัวเองมากขึ้น, หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัด, ล้างมือทุกครั้งเมื่อทานอาหาร, ติดตามข่าวสารมากขึ้น ฯลฯ ขณะที่ร้อยละ 43 ระบุ เหมือนเดิมเพราะมีการตรวจเช็กสุขภาพเป็นประจำ, ปกติจะให้ความสำคัญในเรื่องของการออกกำลังกายและการ เลือกรับประทานอาหาร, ไม่ได้อยู่ในที่ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ฯลฯ ส่วนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวพบว่า ร้อยละ 37.73 กระทบต่อการท่องเที่ยว ร้อยละ 35.86 กระทบต่อการดำรงชีวิต ร้อยละ 18.87 กระทบต่อเศรษฐกิจ และร้อยละ 7.55 กระทบต่อการศึกษา
สถานที่ที่ประชาชนคิดว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ฯ มากที่สุด อันดับ 1 หรือร้อยละ 32.44 ระบุห้างสรรพสินค้า ร้อยละ 31.25 โรงเรียน ร้อยละ 23.53 โรงภาพยนตร์ และร้อยละ 7.83 ร้านอาหาร ส่วนข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโรคดังกล่าว ร้อยละ 29.90 ระบุ สธ.ควรมีการเผยแพร่ความรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ร้อยละ 26.47 รัฐบาลควรให้ความสำคัญและยกเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรแก้ไข ร้อยละ 23.28 การติดตามเฝ้าระวังบุคคลที่เดินทางเข้า-ออกนอกประเทศอย่างเข้มงวด ร้อยละ 10.71 การเสนอข่าวตามความเป็นจริงและสร้างสรรค์ และร้อยละ 9.64 ให้ประชาชนกินยาหรือฉีดวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวโดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขออกให้บริการ