xs
xsm
sm
md
lg

เต่าเกาะกระแส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลายคนคงเคยได้เรื่องราวเกี่ยวกับ Turtle trader แต่หากไม่เคยได้ยิน ได้ฟังมา ผมจะเล่าประวัติความเป็นมาของเขาให้ฟัง
ถ้าใครเคยดูรายการ Reality เรื่อง The Apprentice ที่ มร. โดนัลด์ ทรัมพ์ นำนักศึกษา MBA ระดับพระกาฬมาแข่งขันเกมธุรกิจในชีวิตจริง ซึ่งหากทำไม่สำเร็จก็จะถูก “เชิญ” ออกจากรายการไป โดยในปี ค.ศ 1983 ยุคที่ตลาดหุ้น วอลล์สตรีทกำลังเฟื่องฟู ริชาร์ด เดนนิสซึ่งเป็น Trader ในตลาดโภคภัณฑ์ล่วงหน้านครชิคาโก สร้างผลกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ได้หลายแสนเหรียญ จากต้นทุนเพียงไม่กี่ร้อยเหรียญด้วยวัยเพียงสามสิบเจ็ดปี โดยใช้ประสบการณ์ที่เรียนรู้ด้วยตนเองตลอดเวลาสิบห้าปี ไม่เคยได้เข้าคอร์สอบรมหรือได้รับคำสั่งสอนจากใคร ประสบการณ์ของเดนนิสเป็นผลจากการสังเกตการเงินเชิงพฤติกรรม  เดนนิสเชื่อว่า ความสามารถในการทำกำไรจากการซื้อขายไม่ใช่ความสามารถเฉพาะตัว ใครๆ ก็สามารถเรียนรู้ได้ ถ้าหากได้รับการถ่ายทอดอย่างถูกต้อง  แต่มร.วิลเลียม เอ็กฮาร์ท ซึ่งเป็นหุ้นส่วนทางการเงินของเดนนิส มองต่างมุม หลังจากที่ถกกัน แต่หาข้อยุติไม่ได้ ทั้งสองจึงได้ทำการทดลองในชีวิตจริง โดยการประกาศรับสมัครผู้สนใจที่ไม่เคยผ่านการอบรมด้านการเงินจำนวน 23 คน เข้าเรียนวิชาการซื้อขายเพื่อบัญชีตนเอง (proprietary trading) จากกูรูทางการเงิน เดนนิส
เดนนิสเรียกกลุ่มนักเรียนของเขาเล่นๆ ว่า  “ลูกเต่า”  (Turtle traders) โดยมาจากการที่เขาเพิ่งกลับจากการเดินทางไปสิงคโปร์ และได้มีโอกาสไปชมฟาร์มเต่าทะเล เต่าทะเลเมื่อปล่อยจากฟาร์มลงสู่ทะเลก็จะมีชีวิต และโอกาสรอดตามธรรมชาติขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
 หลักการที่สำคัญของเหล่า turtle traders คือ การวิเคราะห์ภาวะตลาด (market state)  ได้แก่
- นิ่งๆ & เงียบๆ (sideways + quiet)
- นิ่งๆ แต่ผันผวน (sideways + volatile)
- มีแนวโน้ม แต่ก็เงียบ
- มีแนวโน้ม และผันผวน
โดยปกติหลักการซื้อขาย เมื่อวิเคราะห์ภาวะตลาดแล้ว ก็ต้องเข้าสู่ขั้นตอนการวางกลยุทธ์การ trade ซึ่งแบ่งได้ออกเป็นหลายแบบ ได้แก่
- ตามแนวโน้ม (trend following) หรือที่ภาษาของ trader ในตลาด อาจเรียกว่า ขี่เทรนด์
- ต้านแนวโน้ม (counter trend trading)
- ตามการแกว่งตัวของตลาด (swing trading)
- และ เข้า ออก รายวัน (day trading) ไม่มี ฐานะการลงทุนคงค้าง (over-night position) ข้ามวัน
ประเด็นในเรื่องการประเมินความเสี่ยง ก็เป็นสิ่งที่เดนนิสสอนไว้เหมือนกัน ในการประเมินจากคำถามผู้เข้าทดสอบ เพื่อเป็นศิษย์ของเดนนิส คำถามข้อหนึ่งคือ ให้ระบุเรื่องที่เสี่ยงที่สุดที่เคยทำ และทำไมถึงเลือกทำเช่นนั้น ซึ่งมีผู้ตอบคำถาม เช่นลองเสี่ยงขับรถไปดูบาส โดยที่ยังไม่มีตั๋ว แต่ก็มีอีกคนที่ตอบว่าขับรถเที่ยวเล่นในซาอุดิอารเบีย หลายเดือนโดยมีเหล้าซ่อนอยู่ท้ายรถ คนที่ตอบว่าเสี่ยงขับรถไปดูบาสโดยไม่มีตั๋ว ได้รับเลือกเข้าเป็น turtle traders ขณะที่คนที่ขับรถเล่นทั่วซาอุฯ โดยมีเหล้าซ่อนอยู่ไม่ได้ถูกเลือก เหตุผลก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า คนที่ไปดูบาสโดยไม่มีตั๋ว เลือกที่จะเสี่ยงในเรื่องที่น่าเสี่ยงและมีโอกาสชนะ (winning the bet) ขณะที่รายของขับรถเสี่ยงเล่นในซาอุฯ น่าจะมีแต่เจ๊ากับ เจ๊ง
ประเด็นเรื่องคำถามแบบทดสอบสัมภาษณ์ของว่าที่ turtle traders มีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจ แต่อาจกล่าวโดยสรุปว่าทั้งเดนนิส และเอ็กฮาร์ทต้องการที่จะทดสอบปรัชญา แนวคิด ตลอดจนกรอบความคิด (paradigm) ของว่าที่นักเรียนว่าสมควรที่จะได้รับการถ่ายทอดวิทยายุทธหรือไม่
อาจสรุปได้อย่างคร่าวๆ จากการที่นักเรียนส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จในการทำกำไรจากวิชา proprietary trades แต่มีเพียงไม่กี่คนที่จะประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้ในระยะยาว ทั้งนี้ turtle traders ที่ประสบความสำเร็จในระยะยาว ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการที่มี ความต้องการที่จะเป็นผู้ชนะ (winning drive) และความกล้าในการตัดสินใจในเรื่องที่ประเมินแล้วว่ามีโอกาสชนะและคุ้มค่ากับการตัดสินใจลองเสี่ยง เป็นองค์ประกอบที่สำคัญนอกเหนือจาก skills ที่ได้รับการถ่ายทอดจากเดนนิส
(ตัวเอียง) ความคิดเห็นและข้อความต่างๆในบทความนี้เป็นทัศนะของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น