xs
xsm
sm
md
lg

เต่าสวนกระแส(2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 
เรื่องของ Turtle traders ยังคงได้รับความสนใจจากแฟนานุแฟนของคอลัมน์ Money Guru  โดยมีเสียงเรียกร้องให้เขียนตอนต่อไป อีกสักหนึ่งตอน เพราะอยากให้ขยายความมากขึ้นอีก

 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้พูดถึงเทคนิคการวางกลยุทธ์ของ turtle traders โดยส่วนใหญ่จะเกาะกระแส (trend following)  แต่ก็มีบางครั้งที่สวนกระแส (counter-trend)  ซึ่งขึ้นอยู่กับวิจารณญาณ (judgment) ของ traders มืออาชีพ

  การสร้างวิจารณญาณ (judgment) เป็นประเด็นที่ต้องใช้เวลา สั่งสมความรู้ และประสบการณ์ เพื่อให้สามารถปรับตัวตอบสนองกับความเสี่ยงในตลาดการเงิน  ซึ่งความเสี่ยงในตลาดการเงิน อาจแบ่งได้เป็นสองรูปแบบ  ถ้าเป็นในวิชาการเงิน ก็เป็น systematic risk กับ unsystematic  risk  แต่ในเรื่องของความเสี่ยงของการลงทุน อาจมองในเชิงสามัญชนได้ในลักษณะของความไม่แน่นอน (uncertainty) ของเหตุการณ์   ซึ่งความไม่แน่นอน อาจมีสาเหตุจากการขาดเวลาหรือทรัพยากรในการวิเคราะห์หาคำตอบที่แน่ชัดเพื่อขจัดความไม่แน่นอน (Informational uncertainty) หรือเป็นความไม่แน่นอนอันเกิดจากปัจจัยประกอบการตัดสินใจ หรือโครงสร้างกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจที่ซับซ้อนเกินไป (chaotic uncertainty)

 สิ่งที่ค้างคาอยู่ที่ยังไม่ได้เขียนถึงเมื่อสัปดาห์ก่อน คือการแปลงร่างจากนักลงทุนมือใหม่ หรือนักลงทุนมืออาชีพ ให้เป็นแบบ turtle traders ได้อย่างไร

 Curtis Faith ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Way of the Turtle และ Inside the Mind of the Turtles ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่าบัญญัติเจ็ดประการในการบริหารความเสี่ยงอันเกิดจากความไม่แน่นอน ได้แก่
 1. เผชิญหน้ากับความกลัว (Overcome Fear)
 2. พร้อมปรับตัว (Remain Flexible)
 3. เสี่ยงในเรื่องที่สมเหตุสมผลน่าเสี่ยง (Take seasoned risks)
 4. ผิดเป็นครู (Prepare to be wrong)
 5. แสวงหาความจริงอย่างสม่ำเสมอ (Actively seek reality)
 6. ไวต่อการปรับตัวตามภาวการณ์ (Respond quickly to change)
 7. ให้ความสำคัญกับการตัดสินใจ มากกว่าผลลัพธ์ของการตัดสินใจ (Focus on decisions, not outcomes)

 บัญญัติข้อที่เจ็ดนี้ เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะผู้บริหารส่วนใหญ่ในโลกให้ความสำคัญกับผลลัพธ์มากกว่าการตัดสินใจ หรือกระบวนการตัดสินใจ ซึ่งในความเป็นจริง ไม่มีทีมที่เก่งกาจสุดยอดที่สามารถคาดการณ์อนาคตถูกต้องแม่นยำทุกครั้ง  แต่ผู้บริหารชั้นนำควรจะพอใจกับความรู้สึกอย่างเลาๆ (fuzzy sense) ว่าอนาคตภายภาคหน้าจะเป็นอย่างไร และให้ความสำคัญมากกว่ากับความพร้อมที่จะปรับแผน ปรับทีม และติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด  รวมทั้งพร้อมที่จะยอมรับว่าอนาคตที่เกิดขึ้นจริงว่าอาจมีผลลัพธ์แตกต่างจากที่ได้คาดหวังไว้แต่แรก
 
ทั้งนี้ ผลลัพธ์ที่ถูกต้อง เข้าตา เข้าทาง อาจไม่ได้เกิดจากการตัดสินใจที่ถูกต้อง แต่อาจจะเป็นเรื่องของโชคชะตา จังหวะและเวลา ซึ่งผลลัพธ์ในลักษณะนี้มักจะยืนระยะอยู่ได้ไม่ยาว ไม่จีรัง

 การสร้างวิจารณญาณ (judgment) โดยการประยุกต์หลักการทั้งเจ็ดข้อมาใช้ จึงเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่นักลงทุนมืออาชีพควรมีติดตัวไว้ และแสวงหา แม้ไม่สามารถซื้อขาย แต่สามารถถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้   เมื่อซื้อขายหุ้นได้ ถูกตัว ถูกจังหวะ และถูกเวลาหลายๆ ครั้ง ความมั่นใจก็จะเกิดขึ้นเอง
    
แต่อีกสิ่งหนึ่งซึ่งติดตัวอยู่ตลอดเวลาสำหรับนักลงทุนมืออาชีพ คือการต้องพึงสังวรณ์และเน้นย้ำไว้ว่า ความน่าเชื่อถือในวงการ (Integrity)  ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่นักลงทุนมืออาชีพที่เคยมีอยู่อาจจะสูญเสียไป หากเลือกที่จะตัดสินใจโดยขัดกับหลักจริยธรรม หรือความเป็นมืออาชีพ และเมื่อสูญเสียไปแล้ว ก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้า เพราะอาจจะไม่มีวันที่จะทวงกลับคืนมาได้อีก
ความคิดเห็นและข้อความต่างๆในบทความนี้เป็นทัศนะของผู้เขียนเท่านั้น  ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
 
คอลัมน์ Money GURU
ดร.ชาญวุฒิ  รุ่งแสงมนูญ (charnwut@mfcfund.com) และ
ตริณญ์ อินทรโอภาส (
trin@mfcfund.com)

 
กำลังโหลดความคิดเห็น