xs
xsm
sm
md
lg

บอนด์ตลาดเกิดใหม่ได้ปัจจัยบวก อานิสงส์IMFใจดีให้กู้5ปีปลอดเงื่อนไข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พงค์ธาริน ทรัพยานนท์
ASTVผู้จัดการรายวัน - บลจ. อเบอร์ดีน เผย "ตลาดเกิดใหม่"ได้ปัจจัยบวกหนุน อานิสงค์มาตรการปล่อยกู้ของ "ไอเอ็มเอฟ" 5 ปีปลอดเงื่อนไข ดันผลตอบแทนพุ่งสูงกว่า 10% ชี้กลุ่มประเทศลาตินอเมริกาแข็งแกร่งขึ้นและน่าลงทุน แต่ทั้งปีนี้ ตลาดยังคงรับปัจจัยข่าวดีกับข่าวร้ายอยู่ ดัชนีจึงไม่น่าพุ่งสูงนัก ขณะเดียวกันจะส่งผลต่อค่าเงินที่จะมีความผันผวนทั้งปี 

   นายพงค์ธาริน ทรัพยานนท์ ผู้จัดการกองทุนตราสารหนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) อเบอร์ดีน จำกัด เปิดเผยถึงภาวะตลาดตราสารหนี้ของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market Bond) ว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจนมีผลกระทบไปถึงประเทศต่างๆทั่วโลกนั้น บรรดาประเทศเกิดใหม่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากวิกฤตนี้มากนัก จะได้รับผลกระทบเพียงแค่ในเรื่องของการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐฯและยุโรปเท่านั้น โดยตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้จะเห็นได้ว่า ดัชนี JPMorgan Emerging Markets Bond Index Global Diversified (JPM EMBI GD USD) ซึ่งเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ของประเทศเกิดใหม่ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมาประมาณ 12.5% ขณะที่กองทุนเปิด อเบอร์ดีน อีเมอร์จิ้ง ออพพอร์ทูนิตี้ส์ บอนด์ ฟันด์ มีผลการผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นมาเช่นกัน
 
ทั้งนี้ ปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลให้ตลาดประเทศเกิดใหม่มีความน่าสนใจขึ้นมา คือมาตรการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ที่ประกาศให้ประเทศเกิดใหม่ที่มีสภาพเศรษฐกิจค่อนข้างแข็งแกร่งแต่ประสบปัญหาทางการเงินหรือสภาพคล่องเนื่องจากวิกฤตสถาบันการเงิน สามารถกู้เงินจากไอเอ็มเอฟไปกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศตนเองได้ โดยในช่วง 5 ปีจะไม่มีการกำหนดเงื่อนไขของการกู้เหมือนเมื่อครั้งในอดีตที่ผ่านมา โดยขณะนี้มีประเทศเม็กซิโกเป็นประเทศแรกที่ดำเนินการในเรื่องนี้จากไอเอ็มเอฟ ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าว เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในตราสารหนี้ รวมถึงตลาดหุ้นของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ด้วย
นอกจากนี้ ประเทศเกิดใหม่ในหลายประเทศนั้นมีอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะประเทศในละตินอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น ประเทศบราซิล เม็กซิโก ชิลี เป็นต้น ซึ่งประเทศในกลุ่มนี้มีสภาพเศรษฐกิจที่ค่อนข้างแข็งแกร่งขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ต่างจากกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันออกที่ประสบปัญหาค่อนข้างมาก เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีลักษณะของการพึ่งพาเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศค่อนข้างมาก เพื่อนำมาลงทุนในเรื่องต่างๆ เช่น ลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเมื่อเกิดวิกฤตขึ้น เม็ดเงินดังกล่าวที่มาจากประทศสหรัฐฯและยุโรปตะวันตกเป็นหลักนั้นจึงหายไป ส่งผลให้สภาพคล่องทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออกหายไปจำนวนมาก

   "วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมานั้นหลายประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบมากน้อยตามกันไป แต่ประเทศในกลุ่มละตินอเมริกานั้นได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มหลังสุด ต่อจากประเทศในเอเชีย" นายพงค์ธาริน กล่าว

 สำหรับผลการดำเนินงานของกองทุนเปิด อเบอร์ดีน อีเมอร์จิ้ง ออพพอร์ทูนิตี้ส์ บอนด์ ฟันด์นั้น นายพงค์ธาริน กล่าวว่า มีการปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมาก ซึ่งเมื่อดูไปที่ปัจจัยพื้นฐานแล้ว มองว่ายังมีความน่าลงทุน แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีผลการดำเนินงานปรับตัวขึ้นมากก็ตาม แต่เชื่อว่าในปีนี้คงยังไม่น่าจะเห็นผลการดำเนินงานที่ปรับตัวขึ้นไปสูงมากมายนัก แต่มองว่าในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้น่าจะเป็นขาขึ้นของตลาดเกิดใหม่เพราะดัชนีได้ตกลงไปอยู่ในระดับที่ตํ่ามากแล้วในช่วงก่อนหน้านี้

 โดยกองทุนมีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่   14.66% เทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน JPMorgan Emerging Markets Bond Index Global Diversified (JPM EMBI GD USD) อยู่ที่ 11.21% ย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ 19.91% เทียบกับเกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 19.12%  ย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ -3.75% เทียบกับเกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่  5.31% และมีผลการดำเนินงานตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 17.78%  เมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานแล้วอยู่ที่  12.07%
นายพงค์ธาริน ยังกล่าวถึงเรื่องของแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยด้วยว่า โดยรวมแล้วหลายประเทศได้ลดอัตราดอกเบี้ยในประเทศของตนเองมาจนถึงระดับมที่ตํ่าสุดแล้ว แต่ก็ยังมีบางประเทศที่ยังมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอยู่ ที่เห็นเมื่อเร็วๆนี้คือประเทศอินโดนิเซีย แต่โดยรวมแล้วเชื่อว่าทั่วโลกจะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยลงไปอีกแล้ว
 
ขณะที่ในเรื่องของภาวะค่าเงินนั้น ระบุว่า สถานการณ์ของอัตราแลกเปลี่ยนในปีนี้จะมีความผันผวนอยู่ตลอดทั้งปี เนื่องจากความไม่ชัดเจนถึงการฟื้นตัวอย่างแท้จริงของเศรษฐกิจโลกที่จะมีทั้งข่าวดีและข่าวร้ายเข้ามาตลอดเวลาในปีนี้

 ด้านรายงานของ บลจ.อเบอร์ดีน ระบุสถานการณ์ของประเทศเกิดใหม่ว่า ดัชนีตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาฟื้นตัวขึ้นในอัตราเพิ่มขึ้นต่อเดือนมากที่สุดในรอบกว่า 10 ปี เนื่องจากปัจจัยบวกของการฟื้นตัวของราคานํ้ามัน และจากมาตรการใหม่ๆของภาครัฐในการกอบกู้เศรษฐกิจโลก ขณะที่ในลาตินอเมริกา บราซิลและเม็กซิโกนั้นจะเพิ่มการใช้จ่ายเกี่ยวกับการสร้างบ้าน เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่วนในเอเชีย อินเดียจะดำเนินการลดภาษีเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคเอกชน รวมถึงประเทศจีนได้ขยายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่เกาหลี ไทย และมาเลเซียนั้นได้ประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่
 
ขณะที่มุมมองของนักลงทุนได้รับแรงหนุนจากการประกาศโครงการลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชนของรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อเข้าซื้อสินทรัพย์ของธนาคารที่เป็นหนี้เสียด้วยงบประมาณ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และการประชุมสุดยอดผู้นำ จี-20 ซึ่งบ่งชี้ถึงความตั้งใจที่จะเพิ่มงบประมาณให้แก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ อีกเท่าหนึ่ง อย่างก็ตาม ข้อมูลเศรษฐกิจยังมีความน่ากังวล โดยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ในไตรมาสที่ 4 หดตัวลงในบราซิลและเม็กซิโก ในกลุ่มตลาดประเทศเกิดใหม่ในเอเชียและยุโรปทุกประเทศ ยอดการส่งออกยังคงตกตํ่าลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนข่าวดีนั้นได้แก่การที่เศรษฐกิจของบราซิลสามารถสร้างงานใหม่ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนในเดือนกุมภาพันธ์ และการที่ยอดค้าปลีกในแอฟริกาใต้ปรับขึ้นในเดือนมกราคม
กำลังโหลดความคิดเห็น