ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมีนาคม 2552 ที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนให้เห็นว่า การใช้จ่ายในประเทศทั้งทางด้านการลงทุนและการบริโภคยังคงอยู่ในแนวโน้มที่ซบเซาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ การส่งออกกลับมาหดตัวสูงอีกครั้ง เนื่องจากผลของการส่งออกทองคำลดน้อยลง โดยการบริโภคภาคเอกชนหดตัว 5 เดือนติดต่อกัน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวลงอีกร้อยละ 4.9 (YoY) ในเดือนมี.ค.2552 แต่รุนแรงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 7.1 ในเดือนก.พ. โดยองค์ประกอบหลักของดัชนียังคงหดตัวลงต่อเนื่องสะท้อนความซบเซาของเศรษฐกิจในประเทศ อาทิ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และการนำเข้าสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค
สำหรับปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบ และความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจที่ตกต่ำได้ส่งผลให้ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวร้อยละ 22.4 ในเดือนมี.ค. ซึ่งแรงกว่าที่หดตัวร้อยละ 15.2 ในเดือนก่อนหน้า ส่วนปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวร้อยละ 27.6 ในเดือนมี.ค. โดยยังคงเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับรายได้เกษตรกรซึ่งหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง ทั้งนี้ ปัจจัยบวกในช่วงปลายเดือนจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท ถูกหักล้างโดยปัจจัยลบจากการปรับตัวขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศซึ่งทิศทางการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่อ่อนแอยังคงสะท้อนผ่านมายังดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 86 เดือนที่ระดับ 72.8 ในเดือนมี.ค. จากระดับ 74.0 ในเดือนก.พ.
การลงทุนภาคเอกชนหดตัวในอัตราที่รุนแรงขึ้น ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวลงอีกร้อยละ 15.7 (YoY) ในเดือนมี.ค.2552 ซึ่งเป็นอัตราการหดตัวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2544 และนับเป็นการหดตัวเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน หลังจากที่หดตัวร้อยละ 14.2 ในเดือนก.พ. องค์ประกอบหลักของการลงทุนภาคเอกชนในเดือนมี.ค.ยังคงหดตัวในอัตราที่มากกว่าใกล้เคียงกับอัตราการหดตัวในเดือนก่อนหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานการเปรียบเทียบ แต่อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้การลงทุนที่อ่อนแอดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของแนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และปัจจัยการเมืองในประเทศที่ยังคงกดดันบรรยากาศการลงทุนของภาคเอกชนด้วยเช่นกัน โดยการนำเข้าสินค้าทุน และปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์หดตัวลงต่อเนื่องอีกร้อยละ 18.0 และหดตัวร้อยละ 11.7 ตามลำดับ ขณะที่ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ดิ่งลงถึงร้อยละ 44.4 ซึ่งนับเป็นอัตราการหดตัวที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2544 ทั้งนี้ ภาวะการลงทุนที่ซบเซาดังกล่าวนั้น เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจซึ่งยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 ซึ่งสะท้อนความกังวลของผู้ประกอบการโดยปรับตัวอยู่ที่ระดับ 40.0 ในเดือนมี.ค.2552 เทียบกับระดับ 37.4 ในเดือนก่อนหน้า
การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวในอัตราที่ลดลง โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงร้อยละ 15.4 (YoY) ในเดือนมี.ค.2552 เทียบกับอัตราการหดตัวที่ร้อยละ 20.3 ในเดือนก.พ. ทั้งนี้ การผลิตสินค้าที่สัดส่วนการส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 ของการผลิตรวมหดตัวในอัตราที่ลดลงอาทิ Hard Disk Drive ผลิตภัณฑ์เครื่องหนังและแผงวงจรรวม ในขณะที่ การผลิตสินค้าที่สัดส่วนการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30 ของการผลิตรวมหดตัวน้อยลงเช่นกัน นำโดย ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ยาสูบ และรถยนต์นั่ง ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งปรับตัวขึ้นอย่างมาก จากเดือนก่อนหน้าได้ส่งผลทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 61.7 ในเดือนมี.ค. จากระดับที่ต่ำสุดในรอบ 10 ปีที่ร้อยละ 54.61 ในเดือนก.พ.
ส่วนผลผลิตภาคเกษตรหดตัว ทั้งนี้ ดัชนีผลผลิตพืชผล (Crop Production Index) หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปีครึ่ง โดยหดตัวร้อยละ 0.8 (YoY) ในเดือนมี.ค.2552 พลิกจากที่ขยายตัวร้อยละ 0.1 ในเดือนก.พ. ในขณะที่ ดัชนีราคาพืชผลปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยปรับตัวลงถึงร้อยละ 6.3 (YoY) ในเดือนมี.ค.2552 หลังจากที่ลดลงร้อยละ 0.9 ในเดือนก่อนหน้า
สำหรับการส่งออกหดตัว 5 เดือนติดต่อกัน โดยการส่งออกหดตัวลงร้อยละ 22.7 (YoY) ในเดือนมี.ค.2552 หลังจากที่หดตัวร้อยละ 11.1 ในเดือนก.พ. แต่หากหักมูลค่าการส่งออกทองคำ การส่งออกจะหดตัวมากขึ้นเป็นร้อยละ 24.1 ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราการหดตัวในเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 24.5 ทั้งนี้ ปริมาณสินค้าส่งออกหดตัวลงร้อยละ 21.0 ขณะที่ ราคาสินค้าส่งออกปรับตัวลงอีกร้อยละ 2.1 เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า การส่งออกในเดือนมี.ค.หดตัวลงในทุกหมวด อาทิ หมวดสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ 32.7 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 22.0 หมวดสินค้าใช้แรงงานพลิกกลับมาหดตัวร้อยละ 6.0 และหมวดสินค้าใช้เทคโนโลยีสูงหดตัวร้อยละ 28.0
การนำเข้ายังคงดิ่งลงแรง แม้จะน้อยกว่าเดือนก่อนหน้า การนำเข้าหดตัวร้อยละ 35.1 (YoY) ในเดือนมี.ค. 2552 หลังจากที่หดตัวถึงร้อยละ 43.5 ในเดือนก.พ.ขณะที่ ราคาสินค้านำเข้าติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน อีกร้อยละ 6.3 ทั้งนี้ การนำเข้าหดตัวลงในทุกหมวดสินค้าเช่นกัน อาทิ หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคหดตัวร้อยละ 12.5 หมวดวัตถุดิบหดตัวร้อยละ 41.0 หมวดสินค้าทุนหดตัวลงร้อยละ 23.9 และหมวดเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นหดตัวลงร้อยละ 40.5
ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดบันทึกยอดเกินดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ทั้งนี้ โดยดุลการค้าบันทึกยอดเกินดุลต่อเนื่องอีก 2,165.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนมี.ค.2552 หลังจากที่เกินดุล 3,946.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนก.พ. และเมื่อรวมยอดเกินดุลการค้าเข้ากับดุลบริการฯ ซึ่งบันทึกยอดเกินดุลลดลงเหลือ 239.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนมี.ค.ได้ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดบันทึกยอดเกินดุลที่ 2,404.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนมี.ค.2552 เทียบกับที่เกินดุลสูงถึง 4,418.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนก.พ.
ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดเดือนมีนาคม 2552 ของธนาคารเเห่งประเทศไทย ทำให้สามารถประเมินภาพรวมได้ว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 น่าที่จะดิ่งลงในอัตราที่รุนแรงกว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 โดยเครื่องชี้ด้านการใช้จ่ายในประเทศ ทั้งการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนหดตัวสูงถึงร้อยละ 5.3 และหดตัวร้อยละ 13.2 ในไตรมาส 1/2552 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 0.3 และหดตัวร้อยละ 0.4 ในไตรมาส 4/2551 ตามลำดับ ในขณะที่ เครื่องชี้ด้านการผลิตก็สะท้อนภาพที่ชะลอตัวลงเช่นกัน โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยหดตัวสูงถึงร้อยละ 18.9 ในไตรมาส 1/2552 เทียบกับที่หดตัวเพียงร้อยละ 8.0 ในไตรมาส 4/2551 และสำหรับภาคต่างประเทศ การส่งออกของไทยหดตัวลงถึงร้อยละ 19.9 ในไตรมาส 1/2552 หลังจากที่หดตัวเพียงร้อยละ 9.4 ในไตรมาส 4/2551
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประเมินกรอบการหดตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2552 ไว้ในช่วงติดลบร้อยละ 4.5-6.0 ทั้งนี้ แม้ว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจเดือนมี.ค.บางรายการ จะมีอัตราการติดลบที่ลดลง อาทิ ปริมาณการนำเข้า การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการบริโภคภาคเอกชน แต่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป เนื่องจากความไม่สงบทางการเมืองในประเทศในช่วงต้นเดือนเม.ย. และความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธ์เม็กซิโกนั้น อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว โดยประเมินภาพในระยะถัดไปว่า บรรยากาศที่กดดันทางการเมืองในประเทศอาจทำให้การใช้จ่ายของภาคเอกชนยังคงตกอยู่ในภาวะที่อ่อนแออย่างต่อเนื่อง ขณะที่ อัตราการส่งออกของไทยยังคงอาจติดลบอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เนื่องจากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น ยังไม่แข็งแกร่งและชัดเจนมากนัก
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย