xs
xsm
sm
md
lg

การลงทุนใน Stock Futures (ตอน 4)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ ถนนสู่การลงทุน
ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสาทรธานี
ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจไซเบอร์ (RSU Cyber University)
และผู้จัดการโครงการหลักสูตร MBA มหาวิทยาลัยรังสิต

ตัวอย่างต่อมา สมมติ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ราคาหุ้นสามัญ DEF มีราคาตลาดอยู่ที่ 100 บาท ในขณะที่ฟิวเจอร์สของหุ้น DEF (สัญญาซื้อขายหุ้นสามัญ DEF ล่วงหน้า) ที่จะครบกำหนดเดือนมีนาคม มีราคา 110 บาท ผู้ลงทุนคาดว่าราคาหุ้นมีแนวโน้มลดลง จึงตัดสินใจ Short DEF Futures (ขายหุ้นสามัญ DEF ล่วงหน้า) เพื่อหวังทำกำไรในตลาดขาลง ซึ่งการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้านี้มีหลักการอยู่ที่ว่า หากคาดว่าราคาของสินทรัพย์อ้างอิง คาดว่าจะมีการปรับตัวลดลง ผู้ลงทุนจะต้องทำการขายล่วงหน้า คือ การตั้งราคาขายไว้สูง และจะทำการซื้อในอนาคตคืน เมื่อราคาปรับลดลง จึงเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่เรียกได้ว่า ขายแพง ซื้อถูก เพื่อการทำกำไร

ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ผู้ลงทุนหากตัดสินใจ Long DEF Futures ที่ครบกำหนดเดือนมีนาคม ในขณะที่ราคาของหุ้นสามัญนี้มีแนวโน้มลดลง เพื่อปิดสถานะ ที่ 90 บาท (เมื่อผู้ลงทุนมีความพึงพอใจในระดับกำไรนี้แล้ว) ผู้ลงทุนจะกำไร (110 – 90) x 1,000 หุ้น = 20,000 บาท

หากวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ผู้ลงทุนตัดสินใจ Long DEF Futures ที่ครบกำหนดเดือนมีนาคม เพื่อปิดสถานะ ที่ 110 บาท (ผู้ลงทุนอาจคิดว่าตลาดหลักทรัพย์กำลังอยู่ในภาวะที่ไม่แน่นอน และไม่ต้องการจะเสี่ยงกับการลงทุนในสัญญาล่วงหน้าอีกต่อไป) ผู้ลงทุนจะเท่าทุน (110 – 110) x 1,000 หุ้น = 0 บาท

ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ หากการลงทุนไม่เป็นไปดังที่คาดการณ์ไว้ ผู้ลงทุนตัดสินใจ Long DEF Futures ที่ครบกำหนดเดือนมีนาคม เพื่อปิดสถานะ ที่ 130 บาท (เพื่อลดการขาดทุนจากการที่ได้คาดหวังไว้ เพราะตลาดไม่เป็นไปในทิศทางที่คาดการณ์ไว้ จึงปิดสถานะเพื่อลดการขาดทุน) โดยผู้ลงทุนจะขาดทุน (110 – 130) x 1,000 หุ้น = -20,000 บาท

กลยุทธ์ในการป้องกันความเสี่ยง
ในภาวะตลาดหลักทรัพย์อยู่ในขาลง ผุ้ลงทุนจะสามารถใช้ Stock Futures ช่วยในการบริหารความเสี่ยง เพื่อให้กลุ่มหลักทรัพย์ลงทุนของผู้ลงทุนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เพราะราคา Stock Futures จะมีแนวทางในการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับราคาหุ้นสามัญ

ถ้าผู้ลงทุนคาดว่าราคาหุ้นจะลดลง
ผู้ลงทุนจะ Short Futures (สัญญาขายหุ้นสามัญล่วงหน้า) ตามสัดส่วนหุ้นสามัญที่มีในกลุ่มหลักทรัพย์ลงทุน ถ้าราคาหุ้นลดลงตามที่คาดการณ์ไว้ ผู้ลงทุนจะทำการ Long Futures (ซื้อหุ้นสามัญล่วงหน้า) เพื่อทำการปิดสถานะ ทำให้ผู้ลงทุนได้รับกำไร (การปิดสถานะคือ การซื้อขายขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากลับทางกันกับที่ได้ลงทุนไว้เริ่มแรก เช่น หากทำการซื้อล่วงหน้าไว้ทีแรก การปิดสถานะคือ การขายล่วงหน้า กลับทางกัน ทำให้เกิดการซื้อและขายหักลบกัน)

ตัวอย่างเช่น วันที่ 1 มีนาคม หุ้นสามัญ ABC มีราคาหุ้นละ 100 บาท ผู้ลงทุนได้ลงทุนไว้ 1,000 หุ้น ซึ่งมีมูลค่า 100,000 บาท และผู้ลงทุนได้ Short Futures (ขายหุ้นสามัญ ABC ล่วงหน้า) ไว้ที่ราคา 100 บาท จำนวน 1 สัญญา และต่อมาในวันที่ 31 มีนาคม หากหุ้นสามัญ ABC มีมูลค่าเพียง 80 บาท ถ้าผู้ลงทุนลงทุนแต่เพียงการซื้อหุ้นสามัญไว้เท่านั้น จะทำให้การลงทุนในหุ้นสามัญนั้นขาดทุน 20,000 บาท แต่หากผู้ลงทุนได้ทำการลงทุนใน ABC Stock Futures ด้วยก็จะทำให้ Stock Futures นั้นได้กำไรทดแทน (100 – 80) x 1,000 = 20,000 บาท จึงทำให้การลงทุนนี้จึงไม่ขาดทุน (เท่าทุน)

ถ้าผู้ลงทุนคาดว่าราคาหุ้นจะเพิ่มขึ้น
ผู้ลงทุนจะสามรถใช้ Long Stock Futures (สัญญาซื้อหุ้นสามัญล่วงหน้า) เพื่อป้องกันความเสี่ยงในทางกลับกันได้ ตัวอย่างเช่น ผู้ลงทุนต้องการที่จะซื้อหุ้นสามัญ ABC ในอนาคต แต่ผู้ลงทุนยังไม่พร้อมที่จะลงทุนในขณะนี้ ผู้ลงทุนก็จะสามารถซื้อหุ้นสามัญ ABC ล่วงหน้าไว้ได้ แต่ถ้าราคาหุ้นสามัญนั้นเพิ่มขึ้นจริง ผู้ลงทุนก็จะซื้อหุ้นสามัญได้ในราคาที่ตกลงกันไว้ ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนได้รับผลกำไรจากการเปลี่ยนแปลงของราคา

วันที่ 1 มีนาคม หุ้นสามัญ ABC มีราคาหุ้นละ 100 บาท ผู้ลงทุนได้ทำการ Long Futures (ซื้อหุ้นสามัญ ABC ล่วงหน้า) ไว้ที่ราคา 110 บาท จำนวน 1 สัญญา และต่อมาในวันที่ 31 มีนาคม หากหุ้นสามัญ ABC มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 120 บาท ผู้ลงทุนจะสามารถทำการปิดสถานะ โดยการ Short Futures ที่ราคา 120 บาท แทน ทำให้ผู้ลงทุนได้รับกำไร (120 – 110) x 1000 = 10,000 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น