ช่วงนี้ไม่ว่าบริษัทจัดการใดเปิดขายกองทุนตราสารหนี้ ก็จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนเสมอ เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจขาลงเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยการเมือง ปัจจัยจากต่างประเทศ ที่พากันเฮโลซ้ำเติมตลาดหุ้นบ้านเราไม่มีชี้นดี เเต่นักลงทุนอีกหลายคนที่รับความเสี่ยงได้ก็พูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่านี่เเหละคือโอกาสที่จะทยอยซื้อเเเบบถัวเฉลี่ยเพื่อรอรับผลตอบเเทนที่ดีในอนาต ส่วนนักลงทุนที่รับความเสี่ยงเหล่านี้ไม่ได้ ก็จะโยกเงินฝากจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งดอกเบี้ยเงินฝาก็เเสนจะน้อยนิด เเละนักลงทุนบางคนก็โยกเงินกองทุนหุ้น มาพัก (ชั่วคราว หรือ ตลอดไป) เพื่อรอการลงทุนที่ให้ผลตอบเเทนที่ดี
เเละเมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้บริหารบลจ.ก็สรรหาตราสารหนี้ต่างประเทศ ที่ให้ผลตอบเเทนที่ดีกว่าประเทศไทย เเละความเสี่ยงต้องเท่ากับ หรือน้อยกว่า พันธบัตรรัฐบาลไทยอีกด้วย ด้วยโจทย์เหล่านี้ ทำให้ช่วงนี้นักลงทุนหลายท่านได้เห็นตราสารหนี้ต่างประเทศ อย่าง เกาหลีใต้ อิตาลี เดนมาร์ก เเละที่กำลังตามติดๆน่าจะป็นสวีเดน ซึ่งหลายครั้งเเล้วที่ ทีมงาน" ASTVผู้จัดการายวัน" ได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตราสารหนี้ประเทศเกาหลีใต้ มามากเเล้ว คราวนี้ถึงคิวน้องใหม่มอย่างประเทศอิตาลี เเละ เดนมาร์กกัน
บอนด์ของอิตาลี
โดย โชติกา สวนานนท์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิช จำกัด เล่าถึงสาเหตุที่เลือกเข้าไปลงทุนในประเทศอิตาลีว่า ประเทศอิตาลีกเป็นประเทศในกลุ่ม G7 ซึ่งมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) มากกว่าประเทศไทยประมาณ 9 เท่า ซึ่งเมื่อสวอปค่าเงินกลับมาแล้วยังสามารถให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลไทย ส่วนที่ไม่ไปลงทุนยุโรปตะวันออก เนื่องจากคาดการณ์ว่าจะเป็นภูมิภาคที่มีปัญหามาก ซึ่งอิตาลีมีการลงทุนกับยุโรปตะวันออกเพียง 9% เท่านั้น ขณะที่การลงทุนในตราสารหนี้ของประเทศเกาหลีใต้แม้ว่าจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในประเทศไทย แต่ว่าความเสี่ยงก็เริ่มเพิ่มขึ้นตามลำดับเช่นกัน และเกาหลีใต้เองมี Credit Default Swap มีค่อนข้างสูง
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา สถาบันการเงินของประเทศอิตาลีถือว่าไม่ได้รับผลกระทบเชิงลึกจากวิกฤตการณ์ทางการเงินเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เพราะการดำเนินธุรกิจส่วนใหญ่เป็นแบบดั้งเดิม คือมีแหล่งเงินทุนจากการรับฝากเงินหรือเสนอขายตราสารทางการเงินปกติ ทำให้มีแหล่งระดมทุนมั่นคง และอัตราการให้สินเชื่อของธนาคารยังน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศยุโรป
"เรามองว่าว่าภาวะเศรษฐกิจอิตาลีจะสามารถฟื้นตัวในปี 2010 โดยอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ระดับต่ำ รัฐบาลยังคงความสามารถในการจ่ายชำระหนี้อยู่ แม้ว่าจะมีหนี้สาธารณะค่อนข้างสูงเพราะมีงบประมาณขาดดุลน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศ OECD รวมทั้ง ยังมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา สวนกระแสกับหลายๆ ประเทศในยุโรป แสดงให้เห็นถึงกำลังในการจ่ายหนี้ที่เพิ่มมากขึ้นของอิตาลี ขณะเดียวกันรัฐบาลของอิตาลีไม่เคยมีประวัติการผิดนัดชำระหนี้ (Default) ทำให้ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือสูงกว่าประเทศไทย"โชติกา กล่าว
นอกจากนี้เรายังมองหาการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศทุกภูมิภาคทั่วโลก ที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยเน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ และสถาบันการเงิน ส่วนบริษัทเอกชนจะไม่เข้าไปลงทุนเลย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ไม่ทราบว่าอุตสาหกรรมใดจะได้รับกระทบบ้าง และลูกค้าไม่ชอบความเสี่ยง แต่ผลตอบแทนเมื่อหักการสวอปค่าเงินแล้วจะต้องมีส่วนต่างมากกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ 0.50% โดยประมาณ ส่วนการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย หากสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีก็จะเปิดเสนอขายกองทุนออกเป็นระยะ แต่หากไม่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีก็อาจจะหันมาออกหุ้นกู้ภาคเอกชนแทน ซึ่งจะคัดเลือกหุ้นกู้ที่มีคุณภาพดีเท่านั้น และมีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ระดับ A- ขึ้นไป แต่จะไม่เข้าไปลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มที่มีหนี้มาก อาทิ ธุรกิจเครดิตการ์ด ธุรกิจลีสซิ่ง เป็นต้น
ขณะเดียวกันหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปอีก 0.25% ส่งผลให้ผลตอบแทนของตราสารหนี้ของอิตาลีห่างออกไปอีก ซึ่งนับว่าเป็นผลดีต่อกองทุนอิตาลี และทำให้มีผลตอบรับที่ค่อนข้างดีจากนักลงทุน ซึ่งนักลงทุนควรล็อกผลตอบแทนไว้ เนื่องจากกองทุนนี้จะสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝาก และธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงอีกเช่นกัน
โชติกา ยังได้บอกถึงหลักการเลือกตราสารหนี้ต่างประเทศอีกว่า เรามีหลักมองการเลือกลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศไว้ 3 ข้อใหญ่ๆคือ 1.ตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ตัวเลขการส่งออก-การนำเข้า เป็นต้น 2.เรตติ้งของตราสารหนี้เเละ 3.Credit Default Swap หรือ CDS ซึ่งเป็นตัวที่บ่งบอกว่าตลาดชอบหรือไม่ เช่น การลงทุนในตราสารหนี้เกาหลีใต้ซึ่งมีค่า Credit Default Swap (CDS) สูงถึง 360 ขณะที่ประไทยมีเพียง 200 กว่านั้นเอง
บอนด์ของเดนมาร์ก
ด้าน ชุติพนธ์ อัชวรานนท์ ผู้อำนวยการ-หัวหน้าฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ สายงานพัฒนาธุรกิจ บลจ. ยูโอบี (ไทย) กล่าวว่า ความน่าสนใจของตราสารหนี้ที่ออกโดยสถาบันการเงินในประเทศเดนมาร์กอยู่ที่การมีรัฐบาลเดนมาร์กเป็นผู้ค้ำประกัน ประกอบกับอันดับเครดิตก็อยู่ในระดับสูงที่ AAA ซึ่งถือว่าค่อนข้างมั่นคง หากเทียบกับกลุ่มประเทศในยุโรป ที่ภาพรัฐบาลออกมาค้ำประกันการออกตราสารหนี้ของสถาบันการเงินเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ออสเตรีย ไอซ์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ประเทศเดนมาร์กถือเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย ถ้าเทียบกับกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก ซึ่งการลงทุนในตราสารหนี้ของสถาบันการเงินในประเทศเดนมาร์ก ที่ได้รับการค้ำประกันจากรัฐบาล เป็นมาตรการของรัฐที่ต้องการเรียกความเชื่อมั่นเข้ามาในระบบสถาบันการเงินของประเทศตัวเอง เเละเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ในเเง่การส่งออกไปยังประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกโดยตรง อาทิ นอร์เวย์ เยอรมนี สวีเดน รัสเซีย และจีนยังคงเพิ่มขึ้น และการคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้อาจจะชะลอตัวลงไม่เกิน 0.5%
อย่างไรก็ตามปัจจุบันการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุประมาณ 1 ปี ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 1% กว่าๆ ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำหากเทียบกับผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ในต่างประเทศ ประกอบกับช่วงที่ผ่านมา บริษัทเองไม่ได้ออกกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรเกาหลีใต้ออกมาเลย ดังนั้น เราจึงคิดว่า การออกกองทุนที่มีความปลอดภัยสูงและให้ผลตอบแทนในระดับที่ยอมรับได้ และสูงกว่าผลตอบแทนในประเทศ การลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกโดยสถาบันการเงินในเดนมาร์กและมีรัฐบาลค้ำประกัน จึงน่าจะเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนในช่วงนี้ได้
บทสรุป
ทีมงาน" ASTVผู้จัดการายวัน" เชื่อว่าอีกไม่นานนี้จะมีตราสารหนี้ของประเทศ อิตาลี เดนมาร์ก เเละสวีเดน ออกมาให้นักลงทุนได้เลือกลงทุนเหมือนกับตราสารหนี้ของเกาหลีใต้ อย่างที่ผ่านมา เพราะเเว่วมาว่าหลายบลจ.เริ่มขยับตัวกันบ้างเเล้ว อย่างไรก็ตามการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลการลงทุนการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน