xs
xsm
sm
md
lg

จับตาการประชุมสุดยอดจี20 มหาอำนาจฟื้นเศรษฐกิจโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประเทศในกลุ่มพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา 20 ชาติ หรือกลุ่มจี 20 นับเป็นกลุ่มประเทศที่บทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก เนื่องจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของกลุ่มจี 20 คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 85 ของจีดีพีทั้งโลกเลยทีเดียว...
  การประชุมสุดยอดของกลุ่มจี 20  ในวันนี้( 2 เมษายน 2552) ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ถือเป็นการประชุมครั้งสำคัญที่ผู้นำจาก 20 ชาติสมาชิกที่มีบทบาทหลักต่อเศรษฐกิจโลกในการร่วมมือหาแนวทางแก้ไขเศรษฐกิจโลกถดถอย เพื่อเรียกความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโลกที่ย่ำแย่อย่างหนักในปีนี้ แม้ความพยายามที่หาข้อสรุปร่วมกันในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลกจะไม่ง่ายนัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินและการคลังของประเทศต่างๆ ยังมีระดับที่แตกต่างกัน อีกทั้งการมุ่งรักษาเศรษฐกิจภายในเป็นหลัก ทำให้การประสานนโยบายการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลกร่วมกันคาดว่าจะต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก 
  ลุ้นความร่วมมือจี20ฟื้นเศรษฐกิจโลก  ที่ผ่านมาความร่วมมือต่างๆของกลุ่มประเทศจี 20 มักจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกให้เดินไปข้างหน้า แต่สำหรับการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้จำเป็นที่จะต้องดูรายละเอียดของแต่ละประเทศว่าจะหันมาปกป้องการค้าภายในประเทศจนส่งผลให้เป็นการกีดกันทางการค้าหรือไม่?
 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า  แม้ความพยายามที่หาข้อสรุปร่วมกันในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลกจะไม่ง่ายนัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินและการคลังของประเทศต่างๆ ยังมีระดับที่แตกต่างกัน อีกทั้งการมุ่งรักษาเศรษฐกิจภายในเป็นหลัก ทำให้การประสานนโยบายการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลกร่วมกันคาดว่าจะต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก หากข้อตกลงร่วมกันของที่ประชุมกลุ่มจี 20ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การปฏิรูปและปรับปรุงภาคเศรษฐกิจและระบบการเงิน รวมถึงการรักษาการค้าระหว่างประเทศในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันประสบผลสำเร็จ คาดว่าน่าจะเรียกความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโลกได้มาก

สำหรับมาตรการทางการค้าที่ประเทศต่างๆ นำออกมาใช้เพื่อปกป้องตลาดภายใน ส่งผลให้เกิดมาตรการตอบโต้ทางการค้าจากประเทศคู่ค้า ซึ่งนำไปสู่อุปสรรคทางการค้ามากขึ้น อาจซ้ำเติมภาวะการค้าโลกที่ชะลอตัวอยู่แล้วในปัจจุบันให้รุนแรงขึ้น และเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะทำให้ประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศในเอเชียที่พึ่งพาภาคส่งออกเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างประเทศไทยต้องเผชิญปัจจัยกดดันที่อาจส่งผลให้ภาคส่งออกของไทยต้องหดตัวมากขึ้นจากปัจจุบันที่ต้องเผชิญภาวะอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอตัวอยู่แล้ว ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ชะลอตัวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ การส่งออกของไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ต้องหดตัวร้อยละ 19 โดยการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ขณะที่ประเทศเอเชียที่พึ่งพาการส่งออกต่างเผชิญการส่งออกติดลบเป็นเลข 2 หลักทั้งสิ้นในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น (-47.6%) จีน      (-21.2%) ฮ่องกง (-22.3%) เกาหลีใต้ (-25.6%) ไต้หวัน (-37.2%) และสิงคโปร์ (-30.8%)  
  ความหวังที่ผู้นำกลุ่มจี 20 จะย้ำถึงการดำเนินการตามข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าและไม่ถอยหลังกลับไปใช้มาตรการปกป้องทางการค้าในรูปแบบต่างๆ น่าจะมีน้ำหนักที่จะช่วยบรรเทาภาวะหดตัวรุนแรงของการค้าโลกในปีนี้ได้บ้าง ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ความต้องการในตลาดโลกทรุดตัวอย่างหนัก เนื่องจากมูลค่าการค้าของกลุ่มจี 20 คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 80 ของการค้าโลกทั้งหมด  ขณะที่ประชากรของกลุ่มจี 20 ถือเป็นตลาดบริโภคส่วนใหญ่ของโลก คิดเป็นสัดส่วนราว 2 ใน 3 ทั้งนี้ประเทศนำเข้าหลักสำคัญของโลก 5 อันดับแรก ได้แก่ สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ตามลำดับ โดยมีสัดส่วนรวมกันราวร้อยละ 55 ของการนำเข้าทั้งหมดของโลก
  นายกฯไทยกับจี20
 บทบาทของนายกรัฐมนตรีไทยในฐานะประธานอาเซียนที่เข้าร่วมประชุมจี 20 ครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญที่จะมีส่วนร่วมในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของอาเซียนให้สอดคล้องกันเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลกรวมทั้งการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการขจัดมาตรการทางการค้าที่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน เป้าหมายการจัดตั้งเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ในปี 2558 ที่ถือเป็นการเปิดเสรีทั้งด้านการค้าสินค้า ภาคบริการและการลงทุน รวมทั้งการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีทักษะและเงินทุนที่เปิดกว้างมากขึ้น ที่ได้ประกาศในที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 ที่ชะอำ-หัวหิน ประเทศไทย ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และการประชุมผู้นำอาเซียนกับประเทศนอกกลุ่ม ได้แก่ อาเซียน+3 (ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้) และอาเซียน+6 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) ที่จะมีขึ้นในเดือนเมษายนนี้ ณ เมืองพัทยา เพื่อสานต่อการดำเนินการเปิดเสรีของอาเซียนในระดับภูมิภาค ได้สะท้อนถึงเป้าหมายของอาเซียนที่ยังคงรักษาการดำเนินการเปิดเสรีทั้งภายในอาเซียนและระดับภูมิภาคที่กว้างขึ้น เพื่อสร้างโอกาสในการขยายการส่งออก ภาคบริการและการลงทุน
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่าการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการขจัดมาตรการทางการค้าต่างๆ ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโลกและบรรเทาผลกระทบของภาวะการค้าโลกหดตัว รวมถึงการแสดงท่าทีของอาเซียนที่ยังคงนโยบายการเปิดเสรีภายในกลุ่มที่มุ่งสร้างความแข็งแกร่งโดยการขจัดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนอย่างสมบูรณ์ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายในปี 2558 รวมถึงการเปิดเสรีระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาในกรอบต่างๆ (กรอบอาเซียน+1 และกรอบอาเซียน+3 และอาเซียน+6) ที่จะช่วยสร้างโอกาสการขยายการค้าและการลงทุนภายนอกภูมิภาคด้วย
  การค้าโลกเปลี่ยนรูปแบบ
 สำหรับในระยะยาว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า  การค้าโลกในอนาคตมีแนวโน้มที่อาจจะเปลี่ยนรูปแบบไป เนื่องจากประเทศต่างๆ ที่พึ่งพาภาคส่งออกมากในปัจจุบันต้องเผชิญกับผลกระทบรุนแรงจากการหดตัวของภาคส่งออก  ทำให้กลับมาเน้นตลาดภายในประเทศมากขึ้น การปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ที่หันมาพึ่งพาตลาดภายในมากขึ้น  เช่น ประเทศจีน เพื่อกระจายความเสี่ยงหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกรอบใหม่ในอนาคต ขณะที่การบริโภคของประชาชนในสหรัฐฯ ที่ใช้จ่ายมากในปัจจุบันอาจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายเป็นเก็บออมมากขึ้น ในกรณีเช่นนี้อาจทำให้การค้าโลกมีแนวโน้มชะลอลงในระยะยาว ซึ่งคาดว่าการขยายการค้าในรูปแบบการรวมกลุ่มทางภูมิภาคและความต้องการจากเศรษฐกิจภายในจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
 นอกจากการขจัดมาตรการปกป้องทางการค้าต่างๆ ที่จะช่วยฟื้นฟูการค้าโลกในยามวิกฤตแล้ว ความจำเป็นของการปฏิรูประบบการเงินโลกที่ซับซ้อนให้มีความโปร่งใสและชัดเจนจะช่วยให้นักลงทุนสามารถประเมินถึงผลดีหรือผลเสียของการลงทุนได้อย่างถูกต้อง ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อเสถียรภาพทางการเงินและเสถียรภาพของเศรษฐกิจตามมาในระยะยาวด้วย นอกจากนี้ การสร้างระบบการเงินโลกที่มั่นคงและมีเสถียรภาพยังช่วยป้องกันผลกระทบที่ส่งผลต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจและสังคมของประเทศกำลังพัฒนาด้วย เนื่องจากระบบการเงินโลกที่อ่อนแอในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบลูกโซ่มายังเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องเผชิญกับภาวะชะลอตัวรุนแรง ทำให้เศรษฐกิจภาคชนบท กลุ่มเกษตรกร ภาคธุรกิจ SMEs และประชาชนรายได้ต่ำ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการปรับตัวค่อนข้างต่ำอยู่แล้วต้องได้รับผลกระทบตามไปด้วย ซึ่งยิ่งส่งผลซ้ำเติมให้เกิดความแตกต่างของรายได้ของประชาชนและความแตกต่างทางสังคมมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น