xs
xsm
sm
md
lg

เช็คช่วยชาติ ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ ออมอุ่นใจกับกองทุนประกันสังคม
วิน พรหมแพทย์, CFA, win@sso.go.th


ขอพักเรื่องการออมสักครั้งหนึ่งนะครับ เพื่อใช้พื้นที่คอลัมน์นี้ในการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ “เช็คช่วยชาติ” เนื่องจากยังมีบางประเด็นที่ท่านผู้ประกันตนยังไม่ทราบและได้มีการสอบถามเข้ามาที่สำนักงานประกันสังคมเป็นจำนวนมากครับ

ใครมีสิทธิรับเช็คช่วยชาติ
ผู้ที่จะมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือค่าครองชีพ ประกอบด้วย ประชาชน และบุคลากรภาครัฐ ซึ่งมีรายได้หรือค่าจ้างต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ดังนี้


1.ผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม
ได้แก่
- ผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 มาตรา 39 มาตรา 40
- ผู้ประกันตน ตามมาตรา 38 ที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2551 และยังได้รับความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายประกันสังคมต่อไปอีก 6 เดือน

2. บุคลากรภาครัฐ ประกอบด้วย ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการทหาร ตำรวจ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว (เฉพาะงบบุคลากร) เจ้าหน้าที่ของรัฐอื่น ข้าราชการบำนาญ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน อาสาสมัครทหารพราน

3.กลุ่มบุคคลอีก 6 กลุ่ม ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ (เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2552) ได้แก่
- บุคลากรในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- บุคลากรขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ
- ทหารเกณฑ์ของกระทรวงกลาโหม
- บุคลากรของหน่วยงานรูปแบบพิเศษ (องค์กรมหาชน)
- พนักงานรัฐวิสาหกิจ
- ครู บุคลากรด้านการศึกษาในโรงเรียนเอกชน

ขั้นตอนการรับเช็คช่วยชาติ
1.ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ตรวจสอบรายชื่อ วัน เวลา สถานที่รับเช็คจากนายจ้าง (สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/เขตพื้นที่ มีหนังสือลงลายมือพร้อมแจ้งวัน เวลา สถานที่รับเช็คให้นายจ้างประชาสัมพันธ์ให้ลูกจ้างทราบแล้ว)

2.ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ตรวจสอบรายชื่อ วัน เวลา สถานที่รับเช็ค ณ ที่ว่าการอำเภอ ตามภูมิลำเนา (สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/เขตพื้นที่ ปิดประกาศรายชื่อผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ณ ที่ว่าการอำเภอ/เขตพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2552)

3.ขอให้ผู้ประกันตนจดจำลำดับที่ของแต่ละคนไว้เพื่อนำมาแจ้งเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่จ่ายเช็ค

4.ผู้ประกันตนนำบัตรประชาชนแสดงต่อเจ้าหน้าที่ในวัน เวลา สถานที่รับเช็ค พร้อมบอกเลขลำดับที่ของตนเอง (ณ สถานที่จ่ายเช็คจะมีป้ายประกาศติดรายชื่อของผู้ประกันตนไว้ให้ตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง)

5.เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเลขบัตรประชาชน ชื่อ สกุล ใบหน้า เลขที่เช็ค พร้อมทั้งให้ผู้ประกันตนลงลายมือชื่อรับเช็คด้านหน้า ก่อนรับเช็ค

6.กรณีไม่สามารถมารับเช็คในวัน เวลา สถานที่ที่กำหนด ให้ติดต่อขอรับ ณ สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/เขตพื้นที่ หลังวันที่ 8 เมษายน 2552 และต้องติดต่อรับภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2552

หมายเหตุ
- ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 สามารถรับเช็คได้ ณ ลานคนเมือง กรุงเทพมหานคร ในระหว่างวันที่ 26 – 28 มีนาคม 2552 ระหว่างเวลา 8.00 – 17.00 น. หากไม่สามารถมารับเช็คในวัน เวลา และ สถานที่ดังกล่าวได้ สามารถไปรับเช็ค ณ สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ในระหว่างวันที่ 4 – 8 เมษายน 2552

- ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 ในเขตกรุงเทพฯ ที่ไม่สามารถมารับเช็คภายในวันที่ 8 เมษายน 2552 สามารถไปรับเช็ค ณ สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2552 เป็นต้นไป ในวันเวลาราชการ

หากไม่สามารถรับเช็คได้ ควรทำอย่างไร
กรณีที่ท่านติดภารกิจไม่สามารถมารับเช็คในวัน เวลา สถานที่ที่กำหนด ให้ติดต่อขอรับ ณ สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/เขตพื้นที่ หลังวันที่ 8 เมษายน 2552 และต้องติดต่อรับภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2552

ทั้งนี้ การดำเนินการแจกเช็คให้กับคนที่มีสิทธิรับจำนวนหลายล้านคนพร้อมๆ กันนั้น อาจจะมีปัญหาและอุปสรรคอยู่บ้าง ประกอบกับในช่วงนี้อากาศร้อน ท่านที่ต้องเดินทางไกลเพื่อไปรับเช็คและต้องต่อคิวในภาวะที่อากาศร้อนอาจจะรู้สึกหงุดหงิดได้ ขอให้ท่านใจเย็นๆ นะครับ สำนักงานประกันสังคมได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้ท่านอย่างเต็มกำลังความสามารถครับ

วิธีตรวจสอบเช็คช่วยชาติ
1.ตัวอักษร “เช็คช่วยชาติ ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก” ที่มุมบนซ้าย พิมพ์เป็นลายเส้นนูน สีนำเงิน ดำ แดง เหลือบกัน

2.ตัวอักษร B ที่อยู่ด้านหน้าเลข 2,000.00 พิมพ์เป็นตัวนูนสีทองและแดงเหลือบกัน

3.เมื่อนำเช็คมาส่องกับ Black Light จะปรากฎตราสัญลักษณ์รูปดอกบัวของธนาคารกรุงเทพขนาดใหญ่หนึ่งดอกตรงกลางเช็ค

4.ขอบเช็คต้องมีรายปรุ 2 ด้าน (ด้านบนและด้านล่าง)

คำแนะนำเพิ่มเติมจากธนาคารกรุงเทพสำหรับผู้มีสิทธิได้รับเช็คช่วยชาติ
1.เจ้าของเช็คสามารถนำเช็คไปเบิกเงินสดได้ที่ ธนาคารกรุงเทพ ทุกสาขาทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพียงแสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวข้าราชการที่มีเลขบัตรประชาชน ซึ่งตรงกับชื่อบนเช็คให้เจ้าหน้าที่ธนาคาร พร้อมลงชื่อ-นามสกุล และหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้ด้านหลังเช็ค

2.เจ้าของเช็คสามารถนำเช็คไปใช้จ่ายแทนเงินสดได้ ณ ร้านค้าทั่วไปที่รับเช็คช่วยชาติ โดยการแสดงบัตรประชาชน หรือบัตรประจำตัวข้าราชการที่มีเลขบัตรประชาชน พร้อมลงชื่อ-นามสกุล และหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้ด้านหลังเช็ค ทั้งนี้ โปรดศึกษารายละเอียดเงื่อนไขการใช้เช็คช่วยชาติตามที่ร้านค้าแต่ละแห่งกำหนด

3.ร้านค้าที่รับเช็คสามารถนำเช็คเข้าบัญชีได้ทุกธนาคารทั่วประเทศ โดยธนาคารจะนำเงินเข้าบัญชีให้ใน 5 วันทำการ นับถัดจากวันที่รับฝากเช็ค

4.เช็คช่วยชาติมีอายุการใช้งาน 6 เดือน นับจากวันที่ระบุบนเช็ค ตามกฎหมาย

ได้รับเช็คแล้ว เอาไปทำอะไรดี
ในฐานะที่คอลัมน์นี้ส่งเสริมให้ท่านออมเงินเพื่อเกษียณ จึงขออนุญาตแนะนำว่า เช็คช่วยชาติเป็นนโยบายบรรเทาภาวะปากท้องของประชาชน โดยไม่ได้มีจุดมุ่งหมายให้นำไปใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย ดังนั้น เมื่อได้รับเช็คมาแล้ว ขอให้ท่านนำไปใช้จ่ายในสินค้าที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวันน่าจะดีกว่าครับ

สำหรับท่านที่ไม่ได้รับเช็ค โครงการนี้ก็มีประโยชน์กับท่านได้ทั้งในทางตรงและทางอ้อม ท่านที่เป็นเจ้าของร้านค้า ร้านอาหาร หรือเจ้าของกิจการ ก็จะได้ประโยชน์เมื่อคนที่ได้รับเช็คนำเช็คไปขึ้นเงินแล้วนำเงินมาใช้จ่ายที่ร้านหรือซื้อสินค้าของท่าน สำหรับท่านผู้ประกันตนที่มีรายได้เกินเกณฑ์ 15,000 บาท ท่านก็จะได้รับประโยชน์ในทางอ้อมเช่นกัน เพราะเมื่อมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น สินค้าก็จะขายดีขึ้น เป็นการช่วยประคับประคองให้บริษัทผู้ผลิตต่างๆ ยังสามารถประกอบกิจการและจ้างแรงงานอยู่ได้ ช่วยบรรเทาปัญหาการว่างงานให้กับตัวท่านและญาติพี่น้องของท่านได้ในอีกทางหนึ่ง
 
ท่านสามารถตรวจสอบข้อมูลสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคมเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th หากท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการออมเงินกับกองทุนประกันสังคมเพื่อให้ได้รับบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพหลังเกษียณ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคม เขตพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ หรือที่สายด่วนประกันสังคม 1506 ติดต่อระบบโทรศัพท์ตอบรับอัตโนมัติ ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง ให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุด ตั้งแต่เวลา 07.00 – 19.00 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น