xs
xsm
sm
md
lg

เตือนความเสี่ยง “เช็คช่วยชาติ” แนะเร่งใช้จ่าย-ไม่ควรเก็บไว้นาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธนาคารกรุงเทพ เตือนความเสี่ยง “เช็คช่วยชาติ” ไม่ควรเก็บไว้นาน เพราะอาจเสี่ยงต่อการสูญหาย ไม่สามารถอายัดได้ เพราะมีสภาพเทียบเท่าเงินสด-เปลี่ยนมือได้ ย้ำให้ประชาชนผู้ได้รับเช็คช่วยชาติ 2 พันบาท เร่งนำออกมาใช้จ่าย เพราะเช็คมีอายุการใช้งานเพียง 6 เดือน นับจากวันที่ระบุบนเช็ค หากสูญหาย ชำรุด หรือ ชื่อ-นามสกุล หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน ไม่ถูกต้อง ผู้มีสิทธิ์รับเงินต้องติดต่อส่วนราชการ หรือสำนักงาน สปส.ดำเนินการโดยตรงเท่านั้น

นายธีระ อภัยวงศ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารได้จัดพิมพ์เช็คช่วยชาติเกือบ 10 ล้านฉบับ และได้ส่งมอบเช็คชุดแรกให้กับกรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคมแล้วจำนวน 5.5 ล้านฉบับ และเมื่อวานนี้ (25 มี.ค.) จะจัดส่งอีก 1.2 ล้านฉบับ และที่เหลือจะจัดส่งในวันที่ 3 เมษายน 2552 ไปยังกลุ่มผู้ประกันตน ข้าราชการและข้าราชการบำนาญ

ทั้งนี้ ธนาคารได้ออกแบบ “เช็คช่วยชาติ” ขึ้นเป็นการเฉพาะจัดพิมพ์ด้วยระบบพิเศษที่เน้นการให้ความปลอดภัย ซึ่งเช็คสามารถเปลี่ยนมือได้ และมีค่าเสมือนเงินสด จึงไม่สามารถอายัดได้ ดังนั้น ผู้ได้รับเช็คจึงต้องดูแลเก็บรักษาเป็นอย่างดี โดยผู้ที่ได้รับเช็คสามารถนำเช็คไปใช้จ่ายแทนเงินสดได้ ณ ร้านค้าทั่วประเทศที่รับเช็คช่วยชาติ หรือนำเช็คมาเบิกเงินสดได้ที่ธนาคารกรุงเทพทั้ง 900 สาขาทั่วประเทศ หรือจุดจ่ายเช็คช่วยชาติ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพียงแสดงบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรที่มีเลขประจำตัวประชาชน และชื่อตรงกับชื่อในเช็ค

หากเจ้าของเช็คมีความประสงค์จะนำเช็คเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร สามารถดำเนินการได้ทุกธนาคารทั่วประเทศ โดยธนาคารจะนำเงินเข้าบัญชีให้ภายในเวลา 5 วันทำการนับจากวันที่รับฝากเช็ค ทั้งนี้ เช็คช่วยชาติมีอายุการใช้งาน 6 เดือน นับจากวันที่ระบุบนเช็คตามกฎหมายหากเช็คสูญหาย ชำรุด หรือ ชื่อ-นามสกุล หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนไม่ถูกต้องผู้มีสิทธิ์รับเงินต้องติดต่อส่วนราชการ หรือสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ดำเนินการโดยตรงเท่านั้น ซึ่งธนาคารได้เตรียมบุคลากรไว้ไม่ต่ำกว่า 10,000 คนทั่วประเทศในการรับขึ้นเช็ค

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับเช็คสามารถตรวจสอบการปลอมแปลงเช็คเบื้องต้นได้ใน 4 จุดหลัก ได้แก่ จุดที่ 1 ตัวอักษร “เช็คช่วยชาติ ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก” พิมพ์เป็นลายเส้นนูน สีน้ำเงิน ดำ และแดง เหลือบกัน เมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วจะรู้สึกสะดุดกับหมึกพิมพ์ที่อยู่บนผิวกระดาษ จุดที่ 2 สัญลักษณ์ “฿” (บาท) ช่องจำนวนเงินพิมพ์ตัวนูน สีทองและแดงเหลือบกัน จุดที่ 3 เมื่อนำเช็คไปส่องกับแบล็กไลต์ จะปรากฏตราสัญลักษณ์รูปดอกบัวของธนาคารกรุงเทพตรงกลางเช็ค และจุดที่ 4 ขอบเช็คต้องมีรอยปรุทั้งด้านบนและด้านล่าง หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.bangkokbank.com หรือศูนย์ธนาคารทางโทรศัพท์ โครงการเช็คช่วยชาติ โทร.02-6455888 ทุกวันเวลา 08.00-20.00 น.ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2552 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2552 นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น