xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต.ไฟเขียวกองทุนอวดรางวัล "ธนชาต"คว้ากองทุนยอดเยี่ยมจากลิปเปอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำนักงาน ก.ล.ต. ยอมให้บลจ.โฆษณากองทุนที่ได้รับรางวัล หลังติดข้อจำกัด ห้ามเปิดเผยผลการดำเนินงาน ล่าสุด ผลรางวัลลิปเปอร์ "ธนชาต" คว้า รางวัล Best Overall Fund Group บลจ.ที่บริหารกองทุนมีผลการดำเนินงานแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องรวมทุกกลุ่ม ด้าน "บัวหลวง" กวาดไป 5 รางวัล

นางวรวรรณ ธาราภูมิ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง จำกัด ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคมบลจ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้อนุญาตบลจ. สามารถนำกองทุนรวมที่ได้รับรางวัลจากสถาบันจัดอันดับต่างๆ นำมาโฆษณาประชาสัมพันธ์ได้แล้ว หลังจากที่มีการท้วงติงจากก.ล.ต. ไปก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สำนักงานก.ล.ต.เองไม่คิดจะปิดกั้นเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด เพียงแต่การโฆษณาดังกล่าว ไปผูกกับเรื่องผลการดำเนินงานของกองทุนที่ห้ามเปิดเผย หากไม่มีที่มาที่ไป แต่ปัญหานี้ได้คุยกันจบแล้ว

ส่วนผลตอบแทนของกองทุนรวมที่จะโฆษณาประชาสัมพันธ์ในช่วงก่อนการเสนอขายกองทุนนั้น สำนักงานก.ล.ต.ไม่ได้ห้าม แต่ต้องพิสูจน์ได้ว่าเมื่อกองทุนลงทุนแล้วจะได้ผลตอบแทนอย่างที่ประมาณการไว้ และต้องมีคำเตือนกำกับไว้ด้วย เพื่อไม่ให้ผู้ลงทุนคิดว่าการลงทุนไม่มีความเสี่ยง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมา บริษัท โพสต์ พับลิชชิง และ ลิปเปอร์ เอเชีย ร่วมประกาศผลรางวัล The Post-Lipper Thailand Fund Awards 2009 จำนวนทั้งหมด 14 รางวัล ซึ่งปรากฏว่า บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ธนชาต ได้รับรางวัล Best Overall Fund Group หรือกองทุนภายใต้การบริหารจัดการมีผลการดำเนินงานแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มตราสารหนี้ ตราสารทุนและกลุ่มสินทรัพย์ผสม

ส่วนบลจ.บัวหลวง ได้รับรางวัลกองทุนจากโพสต์ ลิปเปอร์ ประจำปี 2552 ประเภทกองทุนเดี่ยว 4 รางวัล ได้แก่ กองทุนบัวหลวงทศพล ซึ่งเป็นกองทุนตราสารทุน ได้รับรางวัลกองทุนที่มีผลการดำเนินงานยอดเยี่ยมในช่วงเวลา 3 ปีและ 5 ปี กองทุนบัวหลวงเฟล็กซิเบิ้ลเพื่อการเลี้ยงชีพ ซึ่งรับรางวัลประเภทกองทุนรวมผสมแบบยืดหยุ่นที่มีผลการดำเนินงานที่ดีที่สุดในช่วงเวลา 3 ปีและ 5 ปี นอกจากนี้บลจ.บัวหลวงยังได้รับรางวัลประเภทบริหารกลุ่มกองทุนตราสารทุนยอดเยี่ยมอีก 1 รางวัลด้วย

ส่วนรางวัลอื่นๆ จากการประกาศของลิปเปอร์ สำหรับบลจ.กรุงไทยได้รับรางวัลประเภทกองทุน 2 รางวัล ได้แก่ กองทุนไทยตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพ 2 ประเภทกองทุนตราสารหนี้ในช่วงเวลา 3 ปีและ 5 ปี และได้รับรางวัลประเภทกลุ่มกองทุนตราสารหนี้ยอดเยี่ยมอีก 1 รางวัล

ขณะที่บลจ.อยุธยา รับรางวัลประเภทกองทุนตราสารทุนยอดเยี่ยมในช่วงระยะเวลา 10 ปี ได้แก่ กองทุนอยุธยาทุนทวีปันผล และได้รับรางวัลกลุ่มกองทุนที่มีการลงทุนผสมยอดเยี่ยมอีก 1 รางวัล ส่วนบลจ.ธนชาต ได้รับรางวัลประเภทกองทุนตราสารหนี้ยอดเยี่ยมในช่วงระยะเวลา 10 ปี ได้แก่กองทุนเปิดธีรสมบัติ นอกเหนือจากรางวัล บลจ.ที่บริหารกลุ่มกองทุนยอดเยี่ยมโดยรวม ด้านบลจ.ไอเอ็นจี ได้รับรางวัลกองทุนรวมผสมแบบสมดุลที่ดีที่สุด ได้แก่กองทุนฮาร์เวสท์

นางวรวรรณ กล่าวว่า สำหรับรางวัลผลงานของกองทุนประจำปี 2551 ที่ลิปเปอร์จัดขึ้นนั้น บลจ.บัวหลวงไม่ได้ยึดติดที่รางวัล แต่มองว่าหากจะรักษาผลการดำเนินงานของกองทุนให้ดีต่อเนื่องน่าจะเป็นสิ่งที่ดีมากกว่า ซึ่งกองทุนที่ได้รับรางวัลในปีนี้ทั้ง 2 กองทุน ก็ได้รับรางวัลในปี 2550 มาแล้ว นั่นคือ โดยกองทุนบัวหลวงทศพล ซึ่งเป็นกองทุนตราสารทุนคว้ารางวัลในปี 2550 ประเภทกองทุนตราสารทุนที่ดีที่สุดระยะเวลา 3 ปี ขณะที่กองทุนบัวหลวง เฟล็กซิเบิ้ลเพื่อการเลี้ยงชีพ ก็คว้ารางวัลประเภทกองทุนผสมแบบ ยืดหยุ่นที่ดีที่สุดระยะเวลา 3 ปี

**ก.ล.ต.เฮียร์ริ่งจัดกลุ่มกองทุนที่มีความซับซ้อน**
รายงานข่าวจากสำนักงาน ก.ล.ต. เปิดเผยว่า สำนักงาน ก.ล.ต. มีแนวคิดที่จะจัดกลุ่มของกองทุนรวมตามลักษณะ โดยจัดเป็นกองทุนรวมที่มีความซับซ้อน (complex fund) และกองทุนรวมที่ไม่มีความซับซ้อน (non-complex fund) และเพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวมที่มีความซับซ้อน สำนักงาน ก.ล.ต. จะกำหนดหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงและการจ่ายผลตอบแทนที่มีรายละเอียดมากกว่าและต้องแสดงคำเตือนให้ผู้ลงทุนเห็นอย่างชัดเจนด้วย

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้กองทุนสามารถลงทุนในนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของผู้ลงทุนแต่ละประเภทเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับในระยะที่ผ่านมาบริษัทจัดการหลายแห่งนำเสนอนโยบายการลงทุนของกองทุนรวมที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น เช่น กองทุนรวมที่อ้างอิงกับดัชนีที่มีเทคนิคการคำนวณซับซ้อนและมีรูปแบบการจ่ายผลตอบแทนที่ไม่สัมพันธ์กับการลงทุนอย่างตรงไปตรงมา แต่ผันแปรตามสูตรคำนวณหรือเงื่อนไขที่กำหนด ดังนั้น หลักเกณฑ์ที่จะใช้ในการกำกับดูแลจึงต้องสอดคล้องกับความซับซ้อนของกองทุนรวมลักษณะดังกล่าว

จากประเด็นข้างต้น สำนักงาน ก.ล.ต. จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าว โดยเผยแพร่ร่างหลักเกณฑ์และเอกสารรับฟังความคิดเห็นไว้ที่เว็บไซต์ www.sec.or.th จึงขอเชิญชวนผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจศึกษารายละเอียด แสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าว หรือที่โทรสารหมายเลข 0-2695-9815 หรือทาง e-mail ที่ rosana@sec.or.th จนถึงวันที่ 17 เมษายน 2552
กำลังโหลดความคิดเห็น