xs
xsm
sm
md
lg

มุมมองนักลงทุนต่อวิบากกรรมกบข. ตรวจสอบหาความจริงคือทางออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ต้องบอกว่าในโลกการลงทุนปัจจุบัน นอกจากกองทุนเก็งกำไร (เฮจด์ฟันด์) ทั่วไปแล้ว กองทุนความมั่งคงแห่งชาติ (SWF) และกองทุนบำเหน็จบำนาญ ถือเป็นกองทุนที่เข้ามามีบทบาทต่อวงการตลาดเงิน และตลาดทุนของโลกมากขึ้น...โดยเฉพาะกองทุนความมั่งคงแห่งชาติ และกองทุนบำเหน็จบำนาญ ที่เห็นการหว่านเงินแสวงหาผลตอบแทนจากแหล่งลงทุนทั่วโลก เพราะต้องยอมรับว่า ในช่วงก่อนวิกฤต บรรยากาศการลงทุนล้วนแล้วแต่เอื้อต่อการลงทุนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ตราสารหนี้ รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์ (คอมมอดิตี้)

...แต่หลังจากเกิดวิกฤตซับไพรม์ (สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้วยคุณภาพ) ในสหรัฐอเมริกา จนลามไปสู่วิกฤตการเงิน และวิกฤตเศรษฐกิจโลกอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ในที่สุด...ส่งผลให้กองทุนเหล่านี้ ขาดทุนไปตามๆ กัน เนื่องจากทุกคนต่างพร้อมใจเทขายทรัพย์สินที่มีอยู่ในมือ (โดยเฉพาะหุ้น เพราะเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคบ่องสูงที่สุด) เพื่อนำเงินกลับไปอุดความเสียหายที่เกิดขึ้น จนส่งผลให้มูลค่าของสินทรัพย์ที่กองทุนเหล่านี้ถืออยู่ ปรับลดลงไปจนแทบไม่เหลือค่า

ฟังแล้ว หลายคนมีคำถามว่า ในเมื่อการลงทุนในหุ้นมีความเสี่ยงอย่างนี้ แล้วจะลงทุนไปทำไม...ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า หลักการลงทุนของบรรดากองทุนเหล่านี้ คือ การจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความหลากหลาย (Asset Alocation) เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายของสินทรัพย์ และความหลากหลายของแหล่งลงทุน ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการกระจายผลตอบแทนนั่นเอง กล่าวคือ ในกรณีที่สินทรัพย์หนึ่ง ปรับลดลง ก็จะได้ผลตอบแทนอีกสินทรัพย์หนึ่งเป็นตัวพยุง เพื่อไม่ให้ผลตอบแทนต่ำลงไปมากกว่าที่ควร หรือในกรณีที่สินทรัพย์ทุกประเภท ล้วนให้ผลตอบแทนสูงลิ่ว กองทุนก็จะไม่เสียโอกาสรับผลตอบแทนจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว

เกริ่นมาพอสมควรแล้ว เข้าเรื่องกันดีกว่า...ประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจอยู่ในตอนนี้ คงหนี้ไม่พ้น การตรวจสอบผลการดำเนินงานของ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข. ที่ขาดทุนไป 5.12% ในปี 2551 ที่ผ่านมา...ซึ่งที่มาที่ไปของเรื่องนี้ เกิดขึ้นเพราะสมาชิก กบข. เข้าเรียกร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตรวจสอบการบริหารกองทุนของกบข. ว่าลงทุนอย่างไร ผลตอบแทนถึงออกมาขาดทุนเช่นนี้...

ซึ่งในช่วงของการตรวจสอบ ก็มรการเปิดเผยข้อมูลการลงทุนของกบข.ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการตัดสินใจลงทุนในหุ้นของกบข. ซึ่งถูกโยงเข้าไปมีเอี่ยวกับขาใหญ่ปั่นหุ้น ไม่ว่าจะเป็น หุ้นบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ (QH) ของกลุ่มอัศวโภคิน และบริษัท ยานภัณฑ์ (YNP)...

อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ของการลงทุนแล้ว เป็นที่ยอมรับว่า ใครที่ลงทุนในหุ้นเมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา ต่างได้รับบาดเจ็บกันทั้งนั้น ตลาดหุ้นไทยเองปรับลดลงไป 49% ตลาดหุ้นทั่วโลกก็กว่า 30%...ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี่เอง เราจึงนำมุมมองจากภาคเอกชนมาวิเคราะห์กันว่า แนวทางการลงทุนของกบข. ควรจะเป็นไปอย่างไร การขาดทุนเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ยอมรับได้หรือไม่...
วรวรรณ ธาราภูมิ
หนุนสอบเรียกความเชื่อมั่น
วรวรรณ ธาราภูมิ กรรมการผู้จัดการ บลจ. บัวหลวง จำกัด ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคม บลจ.) ให้มุมมองว่า หากจะถามถึงการบริหารกองทุนของกบข. ว่า ผิดกฏหมายหรือกรอบกติกาการลงทุนหรือไม่...ต้องบอกว่า การบริหารเงินของ กบข.เอง จะมีพระราชบัญญัติ กบข. และกฎกระทรวงที่กำหนดให้ต้องลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงอย่างน้อยร้อยละ 60 ของมูลค่าสินทรัพย์ สินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงที่ว่านี้น่าจะเป็นพวกพันธบัตรหรือตราสารหนี้ภาครัฐที่รัฐบาลค้ำประกันทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย กับเงินฝากธนาคารต่างๆ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่พบว่า กบข. ลงทุนน้อยกว่าที่กฏกำหนดไว้ โดยล่าสุดพบว่า มีการลงทุนในหลักทรัพย์ความมั่นคงสูงดังกล่าวเกิน 70% ดังนั้น กบข. จึงไม่ได้ผิดอะไรในข้อนี้

ส่วนกลยุทธ์การลงทุน หลายคนอาจจะมีคำถามว่า...ทำไม กบข. ถึงลงทุนในหุ้นหรือหลักทรัพย์ต่างประเทศจนทำให้ขาดทุน ในปี 2551...นายก สมาคม บลจ.กล่าวว่า เท่าอ่านจากนโยบายของ กบข. พบว่าเขามีแนวทางที่จะบริหารเงินสมาชิกให้ได้รับผลตอบแทนสูงสุด ภายใต้กรอบความเสี่ยงที่กำหนด เพื่อให้สมาชิกได้มีเงินออมเพียงพอสำหรับดำรงชีวิตภายหลังเกษียณ...เมื่อเป็นดังนี้ เขาคงไม่สามารถลงทุนแต่ในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำดังกล่าว 100% ได้ เพราะผลตอบแทนจะต่ำ

ดังนั้น กบข. ถึงได้จัดสัดส่วนการลงทุนที่สอดคล้องกับเป้าหมายของการออมระยะยาว กระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ที่มีความหลากหลาย เพื่อลดความเสี่ยงในการกระจุกตัวของการลงทุน และเพื่อเพิ่มโอกาสของการได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าฝากเงินและลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลอย่างเดียว ซึ่งจะไม่สามารถรับมือกับอัตราเงินเฟ้อในระยะยาวได้ นี่เองเป็นสาเหตุที่พอร์ตการลงทุนของ กบข. จึงมีการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นได้บ้าง ก็เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการมีเงินออมไว้ใช้เพียงพอในยามเกษียณ

และเมื่อพิจารณาข้อมูลสัดส่วนการลงทุนกับผลตอบแทนที่เอามาจากเวบไซท์ กบข พบว่าอัตราผลตอบแทนอยู่ในเกณฑ์ดีทีเดียว สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยฝากประจำ 1 ปี ในทุกปี ยกเว้นปี 2551 เพียงปีเดียวที่ กบข. บริหารแล้วติดลบ ไป 5.12% ซึ่งเกิดจากภาวะเศรษฐกิจการลงทุนทั่วโลก

"สมมติว่า กบข. เลือกตัดสินใจที่จะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำดังกล่าว 100% เช่นไม่ลงทุนในอะไรอื่นเลยนอกจากฝากธนาคาร จะเกิดอะไรขึ้น...หากปีที่ผ่านๆ มานั้น กบข. ไม่ลงทุนในหุ้นเลย เขาจะมีปัญญาที่ไหนไปสร้างผลตอบแทนให้สมาชิกได้ถึงขนาดนั้น เพราะเฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในรอบ 12 ปีตั้งแต่จัดตั้ง กบข ในปี 2540 จนถึง ปี 2551 จะเท่ากับ 3.81% ต่อปีเท่านั้น แต่ กบข. เขาบริหารเงินสมาชิกได้ผลตอบแทนในช่วงเดียวกันโดยเฉลี่ย 7.04% ต่อปี แม้จะขาดทุนในปี 2551 ไปปีเดียว แต่โดยเฉลี่ยมันก็ยังดีกว่าฝากเงินมาก "

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วงเดียวกันนั้นก็เท่ากับ 3.21% ต่อปี ดังนั้นผลตอบแทนสุทธิของการฝากเงินอย่างเดียวหักเงินเฟ้อแล้วจะเหลือเพียง 0.60% ต่อปีเท่านั้น ในขณะที่ กบข บริหารได้ผลตอบแทน 7.04% ต่อปี หักเงินเฟ้อแล้วยังได้ผลตอบแทนสุทธิถึง 3.83% ต่อปี ซึ่งก็สอดคล้องกับเป้าหมายการออมเงินระยะยาวเพื่อการเกษียณของสมาชิก กบข ในส่วนที่ว่าต้องให้เงินส่วนนี้สามารถรับมือกับอัตราเงินเฟ้อในระยะยาวได้

"วรวรรณ" กล่าวต่อว่า สำหรับข่าวเรื่องหุ้นราคาตก แล้วกบข. ไปซื้อ เราไม่ทราบว่าคือหุ้นอะไร แต่โดยปกติแล้วผู้จัดการกองทุนจะซื้อหุ้นดีในยามที่ราคาหุ้นถูก แล้วพยายามขายหุ้นในราคาแพงเมื่อคิดว่าราคาตลาดของหุ้นนั้นขึ้นไปเต็มที่แล้ว หรือว่าผู้จัดการกองทุนพอใจกับระดับราคานั้นแล้ว ซึ่งหุ้นดีราคาถูกเป็นสิ่งที่ผู้จัดการกองทุนแสวงหากันทั้งนั้น แต่ถ้าการซื้อหุ้นไม่ว่าจะซื้อถูกหรือซื้อแพงนั้น เป็นการซื้อที่ไม่มีการวิเคราะห์ไว้อย่างถี่ถ้วนสมเหตุสมผล เป็นการซื้อเพื่อช่วยเหลือใคร หรือเพื่อประโยชน์ส่วนตน ต่อให้ได้กำไรก็ถือว่าผิด ซึ่งเรื่องรายละเอียดในการตัดสินใจลงทุนของ กบข. ทางเราจะไม่ทราบ ที่วิเคราะห์นี้ก็วิเคราะห์จากข้อมูล กบข. เท่าที่เปิดเผยต่อสาธารณชน

ดังนั้น คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการให้ตรวจสอบแล้วรายงานผลตามความจริง นี่จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทั้งสมาชิกกองทุน กับ กบข. เอง เพราะ กบข. ก็มีสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมหากสิ่งที่พูดกันไปนั้นเป็นความเข้าใจผิด และสมาชิกเขาก็มีสิทธิที่จะได้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อมั่นใจได้ว่าเงินของเขามีการบริหารจัดการที่โปร่งใสหรือไม่

ธีรนาถ รุจิเมธาภาส
ผู้จัดการกองทุนแนะต้องเข้าใจการลงทุนด้วย
ธีรนาถ รุจิเมธาภาส
กรรมการผู้จัดการ บลจ. ทิสโก้ จำกัด หนึ่งในผู้จัดการกองทุนที่บริหารเงินให้ กบข. กล่าวว่า การลงทุนในหุ้นของกองทุนบำเหน็จบำนาญขนาดใหญ่ เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิดอะไร เพราะทั่วโลกก็ทำกัน แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้น ต้องยอมรับว่าความเสี่ยงระหว่างปีมันอาจจะเกิดขึ้นในบ้าง ซึ่งเรื่องนี้ สมาชิกเองก็ต้องเข้าใจเหมือนกัน โดยเฉพาะในปีนี้ ถ้าไม่ลงทุนในหุ้นก็ไม่สินทรัพย์ให้ลงทุนมากนัก เพราะการลงทุนในตราสารหนี้เองให้ผลตอบแทนค่อนข้างต่ำเพียง 1% กว่าๆ เท่านั้น ซึ่งไม่ตอบโจทย์การออมเพื่อเกษียณ

"คนที่ได้รับผลกระทบอาจจะเป็นคนที่เกษียณอายุในปีที่แล้วพอดี แต่สำหรับสมาชิกที่อยู่มานาน น่าจะเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างปีคงจะไม่มีผลกระทบกับเงินต้น เพียงแต่กำไรอาจจะน้อยลงเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ สมาชิกเอง ควรจะหาข้อมูลก่อนร้องเรียน เพราะอาจจะทำให้มองภาพของการลงทุนในหุ้นผิดไป"นายธีรนาถกล่าว

อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยกับการตรวจสอบในครั้งนี้ เพราะทุกอย่างจะได้ออกมาอย่างโปร่งใส ซึ่งกบข.เอง ก็เชื่อว่าสามารถเปิดเผยข้อมูลได้อยู่แล้ว ทั้งนี้ ในส่วนการตรวจสอบเอง ผู้ตรวจสอบต้องเข้าใจสถานการณ์ด้วยว่าเกิดอะไรขึ้น และหากผลสอบออกมาแล้ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก็ต้องอธิบายให้สมาชิกอย่างตรงไปตรงมา พูดให้ชัดเจนและสมาชิกต้องเข้าใจด้วย

"ธีรนาถ"กล่าวว่า เชื่อว่าการร้องเรียนในครั้งนี้ จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของ กบข. ในอนาคต ซึ่งการที่เราตกลงกับผู้ลงทุนในวงกว้าง ย่อมมีทั้งคนที่เข้าใจและไม่เข้าใจอยู่แล้ว ซึ่งเรื่องนี้ ก็เป็นหน้าที่ของกบข. ที่จะต้องให้ความรู้และอธิบายให้สมาชิกเข้าใจด้วย
บรรยง พงษ์พานิช
เอกชนป้องขาดทุน5%จิ๊บจ๊อย
บรรยง พงษ์พานิช
ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เห็นด้วยที่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการลงทุนของ กบข. แต่ด้วยวิธีการตรวจสอบ น่าจะรอให้มีข้อสรุปที่ชัดเจนก่อนจะออกมาเปิดเผย ซึ่งในเรื่องนี้ กบข.เอง ก็มีหน้าที่ชี้แจงและเปิดเผยทุกอย่างว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้น กบข.ได้ทำหน้าที่ตามสมควรหรือยัง และลงทุนอย่างระมัดระวังพอหรือยัง ทั้งนี้ การบริหารกองทุนขนาดใหญ่เช่นนี้ จะมีกระบวนการวิเคราะห์ที่เป็นขั้นตอน ไม่ใช่บุคคลตัดสิน และเชื่อว่า การลงทุนของ กบข.เอง ก็มีกระบวนการในการตัดสินใจอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนจากการลงทุนของกบข. ซึ่งติดลบไป 5.12% นั้น เป็นเรื่องที่ไม่แปลกใจอะไร เพราะเป็นปีที่ใครก็บอกว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาไม่เคยเห็น ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้น กองทุนทั่วโลก ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขนาดใหญ่ของโลก ก็ติดลบไปกว่า 27% หรือกองทุนของมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดเอง ก็ติดลบไปถึง 30% จากที่เคยทำได้ 12-15% ในช่วงก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ ในปี 2551 ที่ผ่านมา ไม่ใช่เฉพาะการลงทุนในหุ้นเท่านั้นที่เสียหาย การลงทุนในตราสารหนี้เองก็เสียหายเช่นกัน

"ต้องยอมรับว่า การลงทุนที่ติดลบไป 5% เป็นความเสียหาย ซึ่งส่งผลต่อเงินออมของสมาชิก แต่การขาดทุนดังกล่าวเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นทั่วโลก พอร์ตของบริษัทผมเองก็ขาดทุนไปถึง 27% จากการลงทุนในหุ้น แต่หากจะไม่ให้เสียหายเลย แล้วได้ผลตอบแทนเพียง 2-3% ก็เป็นผลตอบแทนที่ไม่สามารถเอาชระเงินเฟ้อได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็จะไม่พอต่อการออมเพื่อวัยเกษียณ"นายบรรยงกล่าว

ทั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของกบข. ในอนาคตหรือไม่ นายบรรยงกล่าวว่า หน้าที่ของกบข.คือ ต้องชี้แจงให้สมาชิกซึ่งเป็นเจ้าของเงินเข้าใจ ซึ่งในจำนวนสมาชิกกว่า 1 ล้านคน ต้องมีอยู่แล้วที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่สุดท้ายแล้วต้องมีกระบวนการที่ถูกต้อง ซึ่งในเรื่องนี้ ถ้าเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทเอกชน ก็สามารถให้นโยบายกับผู้จัดการกองทุนได้ หรืออาจจะเปลี่ยนผู้จัดการกองทุนก็สามารถทำได้
กำลังโหลดความคิดเห็น